เสนอศธ.กำชับโรงเรียนลดจำนวนการบ้านนักเรียนอย่างจริงจังมุ่งฝึกภาคปฎิบัติมากขึ้น

เสนอศธ.กำชับโรงเรียนลดจำนวนการบ้านนักเรียนอย่างจริงจังมุ่งฝึกภาคปฎิบัติมากขึ้น

แนวทางปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา พร้อมกับเน้นให้โรงเรียนทุกแห่งลดการบ้าน  โดยใช้การเรียนออนไลน์เข้ามาช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของนักเรียน โดยให้พัฒนาการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี ตามแนวทางของ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้รับการตอบรับ จากนักการศึกษาหลายท่าน รวมถึง  ศ.ดร.สมพงษ์ จิตรระดับ อาจารย์คณะศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษาที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ. ) 

“ผมเห็นด้วยกับนโยบายนี้ และถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้การบ้านนักเรียนจำนวนมาก และนักเรียนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับการบ้านเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นักเรียนเรียนเนื้อหาจำนวนมาก เพราะหลักสูตรปัจจุบันแบ่งเนื้อหาเป็น 8 กลุ่มสาระวิชา และแยกย่อยได้เกือบ 20 รายวิชา ดังนั้น ใน 1 วัน ครูอาจจะให้การบ้านกับนักเรียน 2-4 วิชา ซึ่งนักเรียนจะใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ย 1-3 ชั่วโมงต่อวัน” ที่ปรึกษา กสศ.  ให้ความเห็น 

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า  การลดภาระเรื่องการบ้านให้นักเรียนเป็นที่สิ่งควรทำมานานแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม รมว. ศึกษาธิการ ควรจะเร่งพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จะนำมาแทนกลุ่มสาระวิชาให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากใช้หลักสูตรเดิมนานเกือบ 30 ปีแล้ว ถ้ายังไม่เลิก อาจจะช้าเกินไป เพราะต้นตอที่นักเรียนมีการบ้านจำนวนมาก เพราะเรียนมาก ควรให้นักเรียนไปฝึกปฏิบัติ และฝึกทักษะที่สำคัญในชีวิตปัจจุบัน มากกว่ามานั่งทำการบ้าน หรือนั่งกวดวิชา เป็นต้น

นโยบายนี้ดีแต่คลุมเครือ เพราะสิ่งที่ตามมาคือเมื่อนักเรียนยังเรียน 8 กลุ่มสาระวิชาอยู่ รวมทั้ง พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังติดว่านักเรียนต้องมีการบ้านกลับมาทำ และถ้าไม่มีการบ้าน ครูจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร ให้มีแบบฝึกในห้องเรียน หรือให้นักเรียนทำการบ้านกับครูหรือไม่ และหากโรงเรียนยังให้การบ้านนักเรียนอยู่ ศธ.จะมีวิธีจัดการ และลงโทษโรงเรียนที่ไม่ทำตามอย่างไร 

ทั้งนี้ ที่ปรึกษา กสศ. แสดงความกังวลหลังจากไปร่วมประชาพิจารณ์หลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยพบว่า ตัวหลักสูตรเน้นสมรรถนะ แต่ไม่เน้นการสร้างพลเมืองไทย ทั้งที่ปัจจุบันนักเรียนจำนวนมากตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพ แต่ตัวหลักสูตรใหม่กลับไม่มองเรื่องนี้เป็นจุดแข็ง และนำมาใช้เป็นประโยชน์ กลับเน้นการสร้างทักษะ และสมรรถนะแทน จากที่ตนทำวิจัย พบว่าในประเทศที่เจริญแล้ว เมื่อต้องการสร้างคนที่มีคุณภาพ จะเน้นการสร้างพลเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตย สอนให้นักเรียนรู้จักสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก เป็นต้น 

ดังนั้น การจัดทำหลักสูตรต่างๆ ต้องระมัดระวัง สมรรถนะกับทักษะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของหลักสูตร เพราะการสอนให้นักเรียนรู้เรื่องพลเมือง จะทำให้นักเรียนมีตรรกะ มีเหตุมีผล ซึ่งจะโยงไปสู่การสร้างสมรรถนะของตน

“ผมเห็นด้วยกับนโยบายลดภาระการสอบของนักเรียน ที่เร็วๆ นี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ออกมาเปิดเผยว่าจะหารือกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อยืดหยุ่นเรื่องการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (โอเน็ต) ซึ่งผมคิดว่าควรจะเลื่อน หรือยกเลิกการสอบโอเน็ตออกไปก่อน เพราะสถานการณ์การศึกษาในขณะนี้ไม่ปกติ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19” ศ.ดร.สมพงษ์  กล่าว