ศธ.ร่วมกับยูเนสโกเปิดตัวสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2563

ศธ.ร่วมกับยูเนสโกเปิดตัวสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2563

กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับองค์การยูเนสโกเปิดตัวสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2563 ระดับชาติ เรื่อง ความครอบคลุมและการศึกษา: ทั้งหมดหมายถึงทุกคน

เมื่อวันที่  14 .. 2563 กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับองค์การยูเนสโกเปิดตัวสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก โดยรายงานดังกล่าว แสดงข้อมูลสถานการณ์ด้านการศึกษา ความท้าทายเชิงนโยบายในการสร้างการศึกษาที่ครอบคลุม และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อสร้างการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นเป้าหมายที่ 4 ที่ต้องบรรลุภายในปี 2030

Mr.Shigeru Aoyagi  ผู้อำนวยการยูเนสโก กรุงเทพฯ

Mr.Shigeru Aoyagi  ผู้อำนวยการยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า การจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อเงื่อนไขทางการเรียนรู้ที่หลากหลายผู้เรียน คือหัวใจสำคัญของการสร้างการศึกษาที่ครอบคลุม โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคมต้องร่วมมือกันทำให้ผู้ที่ตกหล่นสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางเพศ ภาษา วัฒนธรรม ความพิการ การเลือกปฏิบัติ หรือเงื่อนไขอื่นใดเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการเรียนรู้ หนึ่งความก้าวหน้าในการสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่เพิ่งผ่านมา คือการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา ซึ่ง กสศ. กระทรวงศึกษาธิการ องค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ และ save the children ได้ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเพื่อหาแนวทางในการทำให้เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษากลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้

ขณะที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การทำงานอย่างต่อเนื่องของกระทรวงศึกษาธิการในการสร้างการศึกษาที่ครอบคลุมให้เกิดขึ้น โดยการจัดสรรงบประมาณตามหลักความเสมอภาค การสนับสนุนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค อย่างไรก็ตาม การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการศึกษาที่ครอบคลุมจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจากหน่วยงาน และทุกภาคส่วนในสังคม จึงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนมีความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งและจริงจังในการกำจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนการอภิปราย เรื่องโอกาส ความท้าทาย และความสำคัญของการจัดการศึกษาแบบครอบคลุมในประเทศไทยร่วมกับ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายสุพจน์  จิตเพ็ชร ผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดร.นันทนุช สุวรรนาวุธ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้แทนภาคประชาสังคมศูนย์เดอะฮับ สายเด็ก

ดร.ไกรยส กล่าวตอนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนว่า แม้ประเทศไทยจะมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการสร้างการศึกษาที่ครอบคลุม และเสมอภาค แต่ยังคงมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ ความพิการ และความท้าทายอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสไม่ได้เผชิญอุปสรรคเพียงด้านเดียวแต่มีความท้าทายหลายมิติซึ่งส่งผลกระทบให้โอกาสทางการศึกษาเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึง โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตโรคระบาด โควิด-19 ทำให้กลุ่มเด็กเหล่านี้เข้าถึงการศึกษาได้ยากขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบมากขึ้น

ที่ผ่านมา กสศ. พยายามสร้างการศึกษาที่ครอบคลุมผ่านการ  1. ให้ทุนอุดหนุนแก่กลุ่มเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาส ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนที่พิการกว่า 90,000 คน 2. การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 3. การวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนาฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพดร.ไกรยส กล่าว 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กสศ. ได้ร่วมกับภาคีในระดับชาติและนานาชาติ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา การประชุมมีข้อสรุปสำคัญ  7 ประการ คือ 1. การพัฒนาการศึกษาต้องมีการพัฒนาคุณภาพของครูและสถานศึกษา 2. การพัฒนาระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำมาสู่การจัดสรรงบประมาณ และการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายทีมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น  3.การจัดการศึกษาตามบริบทของพื้นที่ 4.นวัตกรรมทางการเงินและการคลัง 5. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน  6.การมีระบบความคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง และ 7.All means all เรื่องการศึกษาเป็นกิจของทุกคน

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวรายงานฉบับนี้ เป็นอีกโอกาสหนึ่งในการสร้างความตระหนักว่า การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน และการมีความเสมอภาคทางการศึกษาที่เสมอภาคและครอบคลุมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึง ทุกคนในสังคมร่วมมือกัน