ถักทออนาคตด้วยแผนชีวิต อุปสรรคที่ท้าทายความมุ่งมั่นของเด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

ถักทออนาคตด้วยแผนชีวิต อุปสรรคที่ท้าทายความมุ่งมั่นของเด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

‘หากจะเข้าถึงปัญหาของเด็ก อาจารย์ต้องเป็นมากกว่าผู้สอน ต้องเป็นเสมือนเพื่อนที่นักศึกษาอาชีวะซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น วัยซึ่งกำลังค้นหาความหมายของชีวิตให้ความไว้ใจ ความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดนี่เองที่อาจจะสร้างความเข้าใจจนพวกเขากล้าเล่าถึงปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่และกลายเป็นโอกาสในการช่วยกันหาทางออก แก้ไขปัญหานั้นได้’

ไพฑูรย์ ฟักเขียว รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานีระบุว่าสิ่งที่กล่าวมา คือหัวใจของการทำงานเพื่อดูและนักศึกษา โดยเฉพาะนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นแรกที่วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานีกำลังดำเนินการอยู่

รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี เล่าว่ากระบวนการที่ใช้ดูแลนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จะดำเนินการอย่างมีแบบแผนการทำงาน เป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากเดินทางไปที่บ้านนักศึกษาเชิญผู้ปกครองมาทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ต่างๆ ของทุน แล้วจัดอาจารย์ที่ปรึกษาให้ดูแลเด็กแต่ละคน อย่างใกล้ชิด อาจารย์หนึ่งคนต้องดูแลเด็กไม่เกินสิบคน อาจารย์แต่ละคนต้องจัดทำแผนในการเยี่ยมบ้านเด็กทุกๆ เดือน

“เมื่อได้ทุนมาแล้ว มีผู้ปกครองบางคนไม่เข้าใจว่าเงินที่ถูกโอนมานั้น เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการเรียนเป็นหลัก มีบางคนบังคับยึดบัตรเอทีเอ็มของเด็กไว้ และเอาเงินไปใช้เรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเรียน เมื่อวิทยาลัยรู้ก็ต้องตามไปพูดคุยทำความเข้าใจ ว่านี่เป็นเงินที่ใช้สำหรับการศึกษา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เราต้องบังคับให้เด็กจัดทำสมุดบัญชีรายรับรายจ่าย แต่ละสัปดาห์ควรเบิกไปใช้ไม่เกิน 1,500 บาท ถ้าจะเป็นต้องเบิกเกินกว่าจำนวนที่กำหนด ต้องมีการมาชี้แจงเหตุผลขออนุญาตเป็นพิเศษ และมีการตรวจสมุดบัญชีทุกสัปดาห์” อาจารย์ไพฑูรย์เล่าถึงมาตรการดูแลด้านรายรับรายจ่ายของนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ก่อนจะเล่าอีกด้วยว่า

นอกจากมาตรการดูแลด้านความเป็นอยู่และการใช้จ่ายเงินอย่างใกล้ชิดแล้ว วิทยาลัยยังมีมาตรการจูงใจให้เด็กออมเงินไว้ในบัญชีให้ได้ อย่างน้อยเดือนละ 500 บาท โดยจะอธิบายให้เข้าใจว่าการออมเงิน หรือมีเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้ในบัญชีเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเงินก้อนดังกล่าวจะเป็นเสมือนข้อพิสูจน์ว่าพวกเขาได้สร้างเสริมอุปนิสัยความรอบคอบในการใช้ชีวิต และยิ่งกว่านั้น คือถือว่าเงินออมก้อนนี้ เป็นต้นทุนชีวิตหลังจากเรียนจบ

“หลายคนอาจจะหลงลืมไปว่า แม้เรียนจบแล้วอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนเพื่อหางาน หรือแม้จะได้งานทันทีที่เรียนจบแต่เข้าทำงานเดือนแรกก็ต้องทำงานให้ครบเดือนก่อนจึงจะมีรายได้ หากไม่มีเงินเก็บเลยระหว่างนั้นอาจจะลำบาก เพราะแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน เรายังคิดมาตรการจูงใจด้วยว่า คนไหนออมได้มาก เราจะมีรางวัลที่ช่วยสร้างแรงบันดาลให้กับพวกเขาให้ยิ่งอยากออมเงินยิ่งขึ้น บางคนถึงกับออมเงินโดยวางแผนระยะยาวว่า นอกจากการเงินออมและยังขยัน ไปทำงานพิเศษช่วงวันหยุดจะนำไปลงทุนเปิดกิจการเล็กๆ ของตัวเอง

นักศึกษาทุนของเราส่วนใหญ่เป็นเด็กที่พ่อแม่แยกทางกัน อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย วิทยาลัยและอาจารย์ผู้สอนต้องทำหน้าที่แทนพ่อแม่ที่พวกเขาขาดไปให้ได้ นั่นหมายความว่า ต้องเข้าไปมีบทบาทวางแผนชีวิตให้พวกเขาตั้งแต่วันแรกที่มาเรียน ดูแลกันยาวนานจนกว่าจะจบการศึกษา ปัญหาที่เด็กเผชิญอยู่อาจจะแตกต่างกัน แต่ความใกล้ชิดจะทำให้พวกเขาไว้ใจเรา ให้ช่วยหาทางออก ตั้งใจเรียนประคับประคองกันไปจนกว่าจะจบการศึกษา” รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานีกล่าว

สุรดิษ วงษ์สาธิกิจ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่น 1 วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ชั้นปวส.1 แผนกเครื่องกล เล่าว่า ตัวเขาเองทราบดีถึงข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งจากกรณีที่ แม่ต้องเป็นผู้ป่วยทำงานไม่ได้และพ่อที่เคยประสบอุบัติเหตุตกจากที่สูงจนมีปัญหาเรื่องกระดูกข้อเท้าไม่สามารถทำงานหนักได้ ส่งผลให้ตัวเอง ต้องกลายเป็นกำลังหลักของบ้าน แต่เมื่อได้รับโอกาสให้เรียนต่อสายอาชีพในแผนกเครื่องกล ก็ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญในการพิสูจน์ข้อจำกัดและความสามารถของตัวเอง

“ทุกวันนี้ แม้จะรับผิดชอบทุกสิ่งในบ้าน ช่วยกระทั่งค่าอาหารในบ้าน แต่ก็ยังเคร่งครัดนโยบายเรื่องการออมเงินที่วิทยาลัยอยากให้พวกเราทำให้ได้ ตอนนี้จึงมีเงินออมตามแผนของวิทยาลัยทุกเดือน ช่วงเวลาวันหยุด ก็พยายามหางานพิเศษ เช่นไปรับจ้างพ่นยาปราบศัตรูพืชในสวนในไร่ที่มีการว่าจ้าง โดยแม้จะเป็นงานที่อันตรายและเสี่ยงแต่ก็มีเครื่องป้องกันอันตรายจากสารเคมีอย่างดี เงินออมและเงินเก็บทั้งหมดตั้งใจที่จะใช้เป็นต้นทุนในการเปิดอู่ซ่อมรถเล็กๆ ในชุมชน”
สุรดิษเล่าถึงแผนชีวิตและความฝันของเขา

ศักดิ์ดา บุษบา นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ชั้นปวส.1 แผนกเครื่องกล เล่าเช่นกันว่า ตอนแรกตัวเขาคิดจะเลิกเรียน บากหน้าเข้ามาหางานในกรุงเทพฯ แต่งานที่ตั้งใจเข้าไปทำ กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องผ่านการอบรมจากบริษัทก่อนจึงจะรับเข้าทำงาน และมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 8,000 บาท

“ ผมและที่บ้านไม่มีเงินจำนวนเป็นค่าใช้จ่ายนั้นเลย จึงต้องกลับมาอยู่บ้าน โชคดีที่มีครูแนะแนวจากโรงเรียนมัธยมที่เคยเรียนจบมาบอกว่ามี ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ก็เลยลองสมัครดู แล้วก็ได้ทุน รวมถึงได้หลักคิดดีๆ จากวิทยาลัยเรื่องเงินออม ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า การมีเงินออมเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะไม่สามารถทราบได้เลยว่าในอนาคตจะมีค่าใช้จ่ายด้านไหนรออยู่ หากไม่มีเงินเก็บเลย ก็อาจจะทำให้เดือดร้อน หรือเสียโอกาสในการทำงานเหมือนที่เคยเจอมาแล้ว นอกจากใช้จ่ายเงินที่ได้จากกองทุนอย่างรู้ค่าและมีเงินออมแต่ละเดือนแล้ว วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ยังไปทำงานรับจ้างต่างๆ ตามที่มีคนจ้างไปทำ เช่นไปขุดมันสําปะหลัง ตามไร่”ศักดิ์ดาเล่าถึงสิ่งที่ได้ประสบมา

นพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กล่าวว่า การวางแผนให้นักศึกษาที่ได้รับทุน ใช้เงินที่ได้รับให้คุ้มค่าที่สุดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากไม่มีการกำกับดูแล เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการใช้เงินผิดประเภทตามมา

“ต้องไม่ลืมว่ายุคนี้ มีสิ่งยั่วยวนจิตใจมากมายที่กระตุ้นให้เกิดความอยากได้ เมื่อมีเงินอยู่ในมือใคร ความอยากได้สิ่งนั้นก็ตามมา สิ่งเหล่านี้รวมถึงบาดแผลในใจก่อนที่จะได้รับทุนนี้ เป็นเรื่องที่ต้องฝากให้สถานศึกษาจะต้องช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องมีการเยี่ยมบ้านอย่างจริงจัง วิทยาลัยแต่ละแห่ง จะต้องออกแบบมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลเรื่องนี้ โดยไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระให้ครูผู้สอนเกินความจำเป็น และไม่ใช่แค่การเก็บข้อมูล แต่ต้องเป็นการพูดคุยในเชิงลึกให้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงที่เด็กแต่ละคนมีอยู่ จะได้นำปัญหาเหล่านั้นมาเป็นโจทย์ในการออกแบบแผน หรือมาตรการช่วยเหลือต่อไป ความหวังปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาเด็กจึงฝากไว้กับผู้สอนที่ต้องไปเยี่ยมบ้านเป็นสำคัญ” อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กล่าว