ประสานความร่วมมือเครือข่ายภาคประชาสังคมสร้าง “ครูพี่เลี้ยง”

ประสานความร่วมมือเครือข่ายภาคประชาสังคมสร้าง “ครูพี่เลี้ยง”

 เผย“เยาวชนในนิคมอุตสาหกรรม” จังหวัดปราจีนบุรี คือหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย พัฒนาทักษะอาชีพเสริมเผื่อไว้เป็น “อาชีพสำรอง” ประกันความเสี่ยงหากต้องว่างงานจากวิกฤติโควิด-19

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประกาศผลการพิจารณา โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ปีการศึกษา 2563 ให้แก่ 67 องค์กรหรือเครือข่ายภาคีความร่วมมือผนึกกำลังปูพรมลงพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือเด็กนอกระบบที่ฐานะยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษา อยู่ในภาวะพึ่งพาหรือมีปัญหาสังคมต้องการได้รับความช่วยเหลือด้านการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพที่เป็นเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 2 – 25 ปี ให้มีโอกาสเข้าถึงทุนสนับสนุนรายหัวละ 3 พันบาทจาก กสศ. เพื่อนำไปจัดการศึกษาเรียนรู้หรือพัฒนาทักษะอาชีพตามความประสงค์ของกลุ่มเป้าหมาย โดยมีองค์กรหรือภาคีเครือข่ายเป็น “ครูพี่เลี้ยง” ให้การสนับสนุน 

ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม กสศ. กำหนดเป้าหมายจะดึงเด็กนอกระบบ 3.5 หมื่นคนทั่วประเทศให้เข้าถึงการศึกษา โดยแบ่งภารกิจการทำงานออกเป็น 7 ภาค อาทิ เหนือ(บน-ล่าง), กลาง, ใต้(บน-ล่าง), ตะวันออก และตะวันตก เข้ามาเป็นเครือข่ายการทำงานเชิงพื้นที่ (Area Based Approach) พร้อมกับฝึกอบรม “ครูพี่เลี้ยง” ให้เข้ามาเป็นฟันเฟืองการทำงานประสานและส่งต่อเด็กนอกระบบการศึกษาให้กับ กสศ.เพื่อจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน แบ่งประเภทและจัดทำรูปแบบการให้การศึกษาตามความเหมาะสมและความต้องการของเด็ก 

พร้อมติดตามและประเมินผลลัพธ์ของโครงการที่เกิดผลสำเร็จ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตหรือพฤติกรรมเด็กนอกระบบให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้จากการเข้าถึงระบบการศึกษาจากทุนสนับสนุนรายหัวละ 3 พันบาท  จนสามารถก้าวข้ามจากปัญหาความด้อยโอกาสทางสังคมและได้รับโอกาสทางการศึกษาจนสามารถพัฒนาทักษะอาชีพ รวมถึงสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ในขณะนี้

นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี หนึ่งในพื้นที่ทำงานและกลุ่มเป้าหมายของ กสศ.ที่จะทำงานกับ “เยาวชนในนิคมอุตสาหกรรม” ให้สามารถเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้เผื่อไว้เป็น “อาชีพสำรอง” หลักประกันความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปราะบาง และเพื่อรองรับปัญหาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก้าวกระโดด ( Disruptive Technology) หรือ สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ในกรณีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)ที่อาจทำให้เกิดปัญหาว่างงานได้ในอนาคตจึงเป็นข่าวดีสำหรับเยาวชนแรงงานในระบบหรือนอกระบบ