บอร์ด กสศ. อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเด็ก เยาวชน แรงงานด้อยโอกาส กว่า 7.5 แสนคน

บอร์ด กสศ. อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเด็ก เยาวชน แรงงานด้อยโอกาส กว่า 7.5 แสนคน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ.

บอร์ด กสศ. อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเด็ก เยาวชน แรงงานด้อยโอกาส กว่า 7.5  แสนคน ดร.ประสาร ระบุ ภาวะโภชนาการคือปัญหาจำเป็นเร่งด่วนของเด็กยากจน เมื่อต้องปิดเทอมนานขึ้น  พร้อมเพิ่มเงินช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นค่าอาหาร ค่าครองชีพ ให้ นร.ยากจนพิเศษ 300 ล้านบาท และเลื่อนการจ่ายเงินทุนเสมอภาคให้เร็วยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ 

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งที่ 4/2563 เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายของกสศ.ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19  

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณจำนวน  2,049 ล้านบาทเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเป้าหมายในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยแบ่งเป็นการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค จำนวน 1,449 ล้านบาท และพัฒนาโครงการให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและกว้างขวางขึ้น จำนวน 550 ล้านบาท มาตรการเหล่านี้จะช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายราว 7.5 แสนคน โดยแบ่งเป็น เด็กนักเรียนในระบบ 7 แสนคน เด็กนอกระบบ 35,000 คน แรงงานด้อยโอกาส 10,000 คน   มุ่งเน้นการช่วยเหลือทั้งระยะยาว และระยะสั้นที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเป็นวิกฤต โดยเฉพาะผลกระทบจากการปิดเทอมที่ยาวนาน ทำให้เด็กยากจนจำนวนมากกำลังประสบปัญหาโภชนาการการขาดแคลนอาหาร เรื่องนี้ กสศ.ได้ระดมความคิดจากหลายภาคส่วน ทั้งการประชุมกับผู้บริหารสพฐ. ผู้บริหารสถานศึกษา และการสำรวจทางโทรศัพท์ (Telephone survey)  ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ผู้ปกครอง นักเรียน ครู ผู้อำนวยการ จำนวน 12,460 คน เกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ  พบว่าผู้ปกครองของนักเรียนได้รับผลกระทบจาก วิกฤตโควิด-19 ทำให้ (1) มีรายได้ลดลง (2) ต้องแบกรับภาระอื่นๆ (3) ถูกพักงานชั่วคราว และ (4) ถูกเลิกจ้าง/ตกงานโดย 3 เรื่องสำคัญที่ต้องเร่งช่วยเหลือคือ อาหาร ค่าครองชีพและค่าของใช้จำเป็น   เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องนี้ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติให้จัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าอาหารและค่าครองชีพให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ ระดับชั้นป.1–6 จำนวน 500,000 คน ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ตชด. ทั่วประเทศและอปท.จำนวน 300 ล้านบาท โดยจัดสรรให้คนละ 600 บาท ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

“กสศ. ยังได้ประชุมระดมสมองร่วมกับองค์การยูเนสโก และองค์การยูนิเซฟ เพื่อนำประสบการณ์จากนานาชาติที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเรียนที่ยาวนาน มาพัฒนาวิธีการช่วยเหลือนักเรียนในครอบครัวยากจนพิเศษซึ่งปัญหาด้านโภชนาการ การขาดแคลนอาหาร นม และน้ำสะอาด เป็นเรื่องที่ต้องเร่งช่วยเหลืออันดับแรก เพราะสำหรับเด็กด้อยโอกาส การได้ไปโรงเรียนไม่ได้หมายถึงการได้ไปเรียนหนังสือเท่านั้น แต่ยังหมายถึงโอกาสในการได้ไปรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย การที่เด็กต้องออกจากโรงเรียน ทำให้ขาดการเข้าถึงอาหารที่จำเป็น เราไม่สามารถรอให้โรงเรียนเปิดเทอมก่อนจึงเข้าไปดูแลได้ กสศ.จึงต้องมีแนวทางในการช่วยเหลือเด็กในเรื่องของอาหารให้เพียงพอเป็นความสำคัญในระดับต้นๆ” ดร.ประสาร กล่าว

ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมความยากจน ผลกระทบต่อมาอาจทำให้เด็กยากจนพิเศษมีโอกาสหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น โดยข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษารายงานว่า นักเรียนกลุ่มนี้มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยระหว่าง 279 – 1,254  บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษ ในส่วนของค่าครองชีพ ค่า เดินทางในการมาเรียน เป็นหลักประกันเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ คณะกรรมการบริหาร กสศ.จึง อนุมัติให้เลื่อนการจ่ายเงินทุนเสมอภาคให้เร็วยิ่งขึ้น และปรับสัดส่วนการจ่ายเงินในช่วงเปิดเทอม เป็นร้อยละ  75 หรือ 2,000 บาท ในเทอม 1 จากเดิมร้อยละ 50 พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายการช่วยเหลือในระดับชั้นอนุบาลของสังกัด สพฐ.และ อปท. ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 708,767 คน   

ดร.ประสาร กล่าวว่า  เด็กนอกระบบการศึกษา เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ กสศ.ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ให้ได้รับการดูแลทันทีเพราะในสถานการณ์นี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านคุณภาพชีวิตโดย กสศ.จะทำงานร่วมกับ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชนเพื่อสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างน้อย 35,000 คน ใน  76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร  ซึ่งเมื่อช่วยเหลือเฉพาะหน้าแล้วก็จะสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นหรือการพัฒนาทักษะอาชีพตามศักยภาพต่อไป    

นอกจากนี้คณะกรรมการบริหาร กสศ. ยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายแรงงานด้อย  โอกาสที่ถูกเลิกจ้างกระทันหัน กลุ่มคนจนเมือง  พ่อแม่นักเรียนยากจนพิเศษ และแรงงานตกงานที่กลับสู่บ้าน  เกิด โดยกสศ.จะทำงานร่วมกับหน่วยพัฒนาทักษะอาชีพ 80 ตำบลทั่วประเทศเพื่อจัดทำระบบตัวแบบการ เรียนรู้ของชุมชนที่เข้มแข็ง และมีเครื่องมือการแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้น  โดยจะต้องเป็นหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพที่เรียนรู้และสามารถปรับใช้ได้เร็ว เบื้องต้นจะสามารถช่วยเหลือแรงงานด้อยโอกาสได้เบื้องต้น 10,000 คนที่สามารถขยายผลในชุมชนของตนเองได้ 

“กสศ. พร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ยากจนที่สุด ทั้งในส่วนนักเรียนยากจนพิเศษในระบบ เด็กนอกระบบ และแรงงานด้อยโอกาส  โดยจะช่วยเหลือได้ทันทีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้  ด้วยความพร้อมของฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ iSEE  ของ กสศ. สามารถชี้เป้ากลุ่มเป้าหมายที่ยากจนที่สุดได้อย่างแม่นยำเพื่อให้มั่นใจว่าช่วยเหลือถูกคนและบรรเทาปัญหาได้อย่างตรงจุดอย่างแท้จริง และขอเชิญชวนประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มความช่วยเหลือในวิกฤตครั้งนี้กับกสศ. และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า ได้ที่ https://donate.eef.or.th/main-donate  หรือธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค เลขที่บัญชี 1720300216สอบถามรายละเอียดได้ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 02- 079-5475” ดร.ประสารกล่าว