สานฝันสู่อาชีพครู เชื่อมชุมชนกับโรงเรียน

สานฝันสู่อาชีพครู เชื่อมชุมชนกับโรงเรียน

วิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจบุรี มีจุดเด่นอยู่ตรงที่การพึ่งพากันเองในชุมชน แม้สมาชิกแต่ละคนจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ทั้ง พม่า มอญ กะเหรี่ยง  แต่พวกเขาก็สามารถอยู่ร่วมกัน บนฐานวัฒนธรรมที่หลากหลายและผสมผสานเข้ากับความเป็นไทยอย่างกลมกลืน

ทว่าในความหลากหลายทางเชื้อชาติ  “ภาษา” กลับกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต เพราะชาวบ้านจะใช้แต่ภาษาของตัวเองเป็นหลักโดยไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ทำให้เป็นช่องว่างที่ทั้งไม่สามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการ หรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ไปหาหมอก็ไม่สื่อสารบอกอาการของตัวเองไม่ได้

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทำให้  น้องทัช-วรรณกร บวรวัชรเดชา จากโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา มุ่งมั่นตั้งใจตั้งแต่เรียนชั้นประถมว่าอยากจะเป็น “ครู” เพื่อเป็น “ตัวเชื่อม” สลายอุปสรรคทางด้านภาษาให้กับคนในชุมชน และสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้เด็กในพื้นที่ทำให้มีอนาคตที่ดีขึ้น

 

 ถ้าเด็กพูดภาษาไทยได้จะก็จะไม่ถูกเอาเปรียบ

วันนี้เป้าหมายเริ่มเข้าใกล้ความจริงอีกขั้น  เมื่อน้องทัชผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และจะกลับมาบรรจุเป็นครูในพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่

“ผมอยากสอนให้เด็กๆ ในหมู่บ้านเข้าใจภาษาไทยและสื่อสารกับคนอื่นได้ จะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเด็กในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลักอยู่บ้านก็พูดภาษาของเขา จะพูดภาษาไทยเวลามาโรงเรียน บางครั้งเวลาเรียนก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่ครูสอน และไม่กล้าถามครูเพราะไม่รู้จะพูดกับครูอย่างไร ดังนั้นถ้ามีครูที่พูดภาษาของเขาได้ก็จะทำให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น

น้องทัช เล่าให้ฟังว่า ส่วนตัวแม้จะเป็นคนสัญชาติไทยแต่ก็มีเชื้อชาติมอญและพม่า บิดาเป็นสัญชาติเมียนมาร์ เชื้อชาติมอญ ส่วนมารดา เป็นสัญชาติเมียนมาร์เชื้อชาติเมียนมาร์ ทำให้พูดได้ทั้งภาษาไทย และ พม่า ส่วนภาษามอญพูดได้นิดหน่อย ดังนั้น ที่ผ่านมาบางครั้งเขาจึงทำหน้าที่เป็นเหมือนล่ามที่คอยประสานความเข้าใจภายในชุมชนกับหน่วยงานต่างๆ

 

สวมบทครูทดลองสอนหนังสือเด็กแถวบ้าน

รวมทั้ง ยังเคยจัดโครงการ “ภาษาสานชุมชน” เริ่มจากสอนภาษาไทยง่ายๆ อย่างการรู้จักพยัญชนะ สระ และการสะกดชื่อตัวเอง ให้กับน้องๆ ในหมู่บ้านที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ก่อนจะขยายผลไปสอนผู้ใหญ่ในหมู่บ้านชายแดนซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ซึ่งมีคนสนใจมาเรียนจำนวนมาก

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นครู ช่วงม. 4-5 น้องทัช ยังได้ลองฝึกสอนให้กับเด็กๆ 5-6 วัน ในหมู่บ้าน โดยอาศัยความชอบความสนุกที่ได้สอน ทั้งสอนการบ้านให้กับน้องๆในโรงเรียน ไปจนถึงเด็กในหมู่บ้านที่ไม่ได้เรียนหนังสือแต่ สนใจมานั่งฟังเขาสอนการบ้าน จึงชวนมาเรียนสะกดคำภาษาไทยให้รู้จักเขียนชื่อตัวเองได้ จนวันนี้จากหลายคนที่เคยพูดได้ไม่กี่คำตอนนี้พอจะใช้ภาษาไทยสื่อสารในชีวิตประจำวันได้แล้ว

 

เรียนหรือต้องทำกิจกรรมหนักแค่ไหนก็พร้อม

น้องทัช เล่าให้ฟังว่า เริ่มเห็นประกาศรับสมัครจากเฟสบุ้คก็สนใจทันทีและนำเรื่องไปปรึกษากับอาจารย์แนะแนวซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะได้เเป็นเป็นครูตามที่ตั้งใจ เพราะก่อนหน้านี้แม้จะเป็นเด็กที่ผลการเรียนใช้ได้คือ 3.70 แต่ด้วยฐานะทางบ้านไม่ดีนักพ่อทำงานอยู่กรุงเทพฯ ส่งเงินกลับมาให้ที่บ้าน ทำให้เขาต้องคอยไปทำงานรับจ้างล้างจานเพื่อหารายได้เพิ่มเติม  แต่สุดท้ายก็เมื่อได้ทุนก็ทำให้สบายใจขึ้นมาก

“ขั้นตอนสำคัญในช่วงการสมัครคือการเข้าข่ายซึ่งเขาจะมีกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งอธิบายสิ่งที่ต้องเจอในการเรียนจากนี้อีก 4 ปี โดยเขาว่าเด็กทุนจะเหนื่อยนะ ต้องอยู่หอนะ ต้องมีกิจกรรมมากว่าคนอื่น จะรับไหวไหม ส่วนตัวก็ไม่มีปัญหาสบายมากเพราะทำงานทำกิจกรรมมาตลอด ตอนป.6 ก็เป็นประธานนักเรียนต้องทำกิจกรรมต่อเนื่อง และเราอยากเป็นครูหนักแค่ไหนก็พร้อมและเมื่อเราได้โอกาสตรงนี้แล้วก็อยากส่งต่อโอกาสไปถึงเด็กคนคนอื่นในพื้นที่ให้เขาได้มีการศึกษาที่ดีด้วย”

ถ้าเลือกได้ตั้งใจว่าหากเรียนจบแล้วก็อยากกลับไปเป็นครูที่โรงเรียนอนุบาลทองผาภูมิ ซึ่งเขาเคยเรียนจบมาจากที่นี่เพราะเป็นโรงเรียนเล็กๆ มีทั้งเด็กและผู้ปกครองที่ยังพูดภาษาไทยไม่ได้จำนวนมากก็อยากใช้ความสามารถของตัวเองในการช่วยเหลือทำให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนหนังสือเข้าใจ ได้มีครูที่เข้าใจภาษาเขาสามารถพูดคุยสอบถามเวลาสงสัย ซึ่งจะอยู่ที่นี่ไม่คิดจะย้ายไปไหน และยังเคยพูดเล่นๆ กับครูอยู่บ่อยๆ ว่าจะอยู่ที่นี่จนเกษียณเลย