เปิดร่างระเบียบสำนักนายกฯ บูรณาการความเสมอภาค

เปิดร่างระเบียบสำนักนายกฯ บูรณาการความเสมอภาค

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีวาระน่าสนใจเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม

โดยครม.มีมติเห็นชอบ  ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม พ.ศ. ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

 สำหรับสาระสำคัญของร่างระเบียบ

  1. กำหนดให้ในการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินการใด ๆ ที่จะให้เกิดความร่วมมือกันของภาคส่วนต่าง ๆ อันจะเป็นการลดหรือแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันจากสถานะ สิทธิ โอกาส และการเข้าถึงด้านต่าง ๆ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม กระบวนการยุติธรรม และด้านอื่นใดที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืนและสมดุล
  2. กำหนดให้มีคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม (กบสท.)
  3. และกำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ
  4. กำหนดให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำหน้าที่เลขานุการของ กบสท. รับผิดชอบในงานธุรการและอำนวยการในการปฏิบัติหน้าที่ของ กบสท. 
  5. กำหนดให้หน่วยงานรัฐให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของ กบสท.
  6. กำหนดให้เบี้ยประชุม ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของ กบสท. และคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และที่ปรึกษา ที่ กบสท. แต่งตั้งให้เบิกจ่ายตามระเบียบของทางราชการ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณของ สศช.

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2561   สภาพัฒน์ฯ เคยยกร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. เสนอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)  บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระที่ประชุมครม.  โดยครั้งนั้น  กำหนดโครงสร้างให้มีคณะกรรมการนโยบายลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน หรือ กนล.  มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 

กนล.มีอำนาจ “กำหนดกรอบตัวชี้วัดด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศ เสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ และแผนปฏิบัติการในการบูรณาการพิจารณาแผนงานกลั่นกรองและงบประมาณ กำกับงานดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน เสนอแนะต่อ กนล.ในการจัดทำ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและมาตรการต่างๆ” อีกด้วย 

 

หมายเหตุ   สภาพัฒน์ฯ เคยยกร่างระเบียบสำนักนายกฯ เสนอ ครม.เมื่อปี 2561 มาแล้วครั้งหนึ่ง