สพฐ.เผย ผลปฏิรูปแก้เหลื่อมล้ำ ช่วยนักเรียนได้กว่า 5 แสนคน

สพฐ.เผย ผลปฏิรูปแก้เหลื่อมล้ำ ช่วยนักเรียนได้กว่า 5 แสนคน

สพฐ.เผย ผลปฏิรูปแก้เหลื่อมล้ำ ช่วยนักเรียนได้กว่า 5 แสนคน วอนครูค้นหา คัดกรอง เด็กยากจนพิเศษไม่ตกหล่น พร้อมจับมือ กสศ. ขยายผลระดับอนุบาล นำร่อง 10 จว. ปีการศึกษา 62

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมชี้แจงการดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ประจำภาคเรียนที่ 1/2562 ผ่านระบบ Teleconference โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขตทั่วประเทศร่วมรับฟัง

ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (conditional cash transfer – CCT) ของโรงเรียนสังกัด สพฐ.ในปีการศึกษา 2561 ที่ได้ดำเนินการร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สามารถช่วยนักเรียนยากจนพิเศษได้รับเงินอุดหนุนเพื่อบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียน จำนวน 510,040 คนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กขาดโอกาสและยังไม่ได้รับการคัดกรองอีกจำนวนมาก จึงขอความร่วมถึงผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ กำกับติดตาม รายงานเรื่องนี้ให้ทันตามกำหนดระยะเวลา เพราะทาง กสศ. มุ่งหวังตั้งใจจะดูแลนักเรียนทุกคนให้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นทางการศึกษา ซึ่งเงินจำนวน 1,600 บาทต่อคน ถือว่ามีคุณค่าและประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งหมดจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาค

“เรื่องของการคัดกรองเด็กเป็นเรื่องของโอกาสทางการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติและยังเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการร่วมกัน ส่วนปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมาพบโรงเรียน 2,310 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่ไม่ได้เข้าไปดำเนินการกรอกข้อมูลในระบบคัดแยกเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ส่งผลให้ผู้เรียนกว่า 30,000 คน เสียโอกาสไป” ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าว

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดต้องขอขอบคุณครูทั่วประเทศในการทำงานร่วมกัน ภาพรวมที่ สพฐ. กสศ. และครูทั่วประเทศร่วมกันทำจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเล็กและยังเป็นการปฏิรูปการศึกษาแม้อาจไม่ใช่ส่วนใหญ่ก็ตาม โดยในปีการศึกษา 2561 กสศ.ได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาในสังกัดสพฐ. ที่มีนักเรียนทุนเสมอภาคทางการศึกษาจำนวน 28,921 แห่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต และคุณครูกว่า 400,000 คน และคณะกรรมการสถานศึกษา 150,000 คน ช่วยกันผลักดันส่งผลทำให้มีนักเรียนทุนเสมอภาคทางการศึกษา ของ สพฐ.จำนวน 510,040 คนทั่วประเทศ ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจาก กสศ.จำนวน 1,600 บาทต่อคนต่อปี เพื่อเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร และกิจกรรมพัฒนานักเรียนทุนเสมอภาคทางการศึกษา และถือเป็นการเพิ่มงบประมาณให้กับ สพฐ. ประมาณ 800 ล้านบาท ในลักษณะเป็นทุนการศึกษาให้แบบต่อเนื่อง และขยายไปยังสังกัดอื่นต่อไป

“เรื่องนี้ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ สพฐ.และกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยกันปฏิรูปผลักดันจนสำเร็จในปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมาและสามารถทำให้เรื่องเหล่านี้ลุล่วงสำเร็จด้วยดี ถือเป็นการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ส่วน กสศ. เป็นแค่ผู้ช่วยเดินตามหลังเป็นกองเสบียงให้ ทาง กสศ.ขอขอบคุณแทนเด็กนักเรียน 5 แสนกว่าคนที่ได้รับเงินอุดหนุน” นพ.สุภกร กล่าว

นพ.สุภกร กล่าวว่า นอกจากนี้ปีการศึกษา 2562 ได้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายการให้ทุนอุดหนุนช่วยเหลือเพิ่มเติม จากเดิมให้ทุนเฉพาะกลุ่มนักเรียนชั้น ป.1-ม.3 แต่ปีนี้จะขยายผลลงไปตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2-3 จนถึง ม.3 ผ่านการทดลองนำร่องก่อนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.10 จังหวัด ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 2.เชียงราย 3.ขอนแก่น 4.ร้อยเอ็ด 5.กาญจนบุรี 6.นนทบุรี 7.สระแก้ว 8.สุราษฎร์ธานี 9.ภูเก็ต และ10.ยะลา เพื่อทดลองให้ระบบการทำงาน การบันทึกข้อมูลเกิดความลงตัวมากที่สุด นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.บางส่วน ที่จะเป็นพี่เลี้ยงขยายไปยังโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ทั่วประเทศ 200 โรงเรียน มีนักเรียน 20,000 คน เพื่อช่วยเหลือเรื่องระบบคัดกรองต่างๆให้เด็กได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนต่อไป

นพ.สุภกร กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2561 พบว่ามีนักเรียนที่พลาดโอกาสรับทุน 2 กลุ่มคือ 1.นักเรียนไม่ขอรับเงินอุดหนุนจำนวน 83,947 คน และ 2.สถานศึกษาบันทึกข้อมูลยังไม่ครบ จำนวน 34,742 คน ทั้งหมดรวมแล้วกว่า 118,689 คนส่งผลให้นักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์นักเรียนยากจนพิเศษเสียโอกาสได้รับเงินอุดหนุนสร้างโอกาสทางการศึกษานี้ไป หากในปีการศึกษา 2562 คุณครูมีการแก้ไขทบทวน หรือคัดกรองตามเกณฑ์สามารถเติมชื่อเข้ามาใหม่ได้ และทาง กสศ.จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนต่อไป จึงขอความร่วมมือให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาช่วยกันสร้างความเข้าใจและให้คำแนะนำแก่ครูและสถานศึกษา ร่วมกันกรอกข้อมูลในขั้นตอนต่างๆให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อไม่ให้มีนักเรียนคนใดเสียโอกาส แม้แต่คนเดียว

“จำนวนนักเรียน 2 กลุ่มนี้ที่ขาดโอกาสไปรวมกว่า 118,689 คนนั้น ไม่ใช่เกิดผลเสียกับเด็กจำนวนนี้เท่านั้น ในระยะยาวถ้าทุกฝ่ายร่วมกันทำระบบให้มีความน่าเชื่อถือจะส่งผลดีถึงภาพรวมนักเรียนทั้งประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสำนักงบประมาณ คณะรัฐมนตรี และสภาฯ ในขั้นตอนต่อไป และอาจทำให้นักเรียนยากจนในสังกัด สพฐ. จำนวน 1.2 ล้านคน ได้รับอานิสงค์อีกด้วย ดังนั้นต้องช่วยกันทำให้ระบบมีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อได้” นพ.สุภกร กล่าว

นพ.สุภกร กล่าวว่า ภายหลังรับฟังข้อเสนอแนะจากครูทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2562 กสศ.ได้ปรับปรุงระบบการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อลดเวลา และภาระการทำงานของคุณครู โดยได้ลดภาระการบันทึกข้อมูลของคุณครูจาก 4 แบบฟอร์ม เหลือ 1 แบบฟอร์ม ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการสำรวจและการบันทึกแบบใหม่ได้ถึง 50 % ส่วนการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน 1 ครั้ง ข้อมูลดังกล่าวจะใช้ได้ 3 ปี ที่สำคัญคุณครูที่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคทางการศึกษาจะได้ค่าเดินทางในการลงพื้นที่ นอกจากนี้ปีการศึกษา 1/2562 จะคัดกรองเฉพาะนักเรียนใหม่ชั้น ป.1 ป.4 ม.1 เท่านั้น และขอเชิญชวนคุณครูทั่วประเทศสามารถดาวน์โหลดจดหมายข่าว ได้จาก www.eef.or.th เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆได้ หรือ สายด่วน 02-079-5475 กด 1

#กสศเปิดประตูสู่โอกาส #สพฐ#นักเรียนทุนเสมอภาค #การศึกษา