ชลบุรีเดินหน้า “การศึกษาเพื่ออาชีพ” เร่งผลิตคนป้อนตลาดแรงงานต้อนรับ EEC

ชลบุรีเดินหน้า “การศึกษาเพื่ออาชีพ” เร่งผลิตคนป้อนตลาดแรงงานต้อนรับ EEC

จังหวัดชลบุรี ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชลบุรี จัดงานมหกรรมการจัดการศึกษาเพื่อการมีอาชีพจังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ณ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยภายในงานมุ่งนำเสนอการขับเคลื่อนโครงการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก – Eastern Economic Corridor Development (EEC) ทั้งในรูปแบบของการจัดนิทรรศการจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเสวนาวิชาการ

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “จังหวัดชลบุรีเราเน้นเรื่องการศึกษาเพื่อการมีงานทำ เราเป็นหนึ่งในสามของ EEC อนาคตอันใกล้นี้จะมีการขยายตัวทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว การเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับภาคส่วนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงวิทยาลัย หรือแม้แต่เด็กพิการ ก็ต้องเตรียมให้เขามีงานทำ มีอาชีพ แม้จะเป็นสิ่งที่ชลบุรีทำมาอยู่แล้ว แต่ก็ต้องทำเพิ่มมากขึ้น เด็กที่เข้ามาเรียนจะต้องรู้อนาคตว่าจบมาแล้วจะทำอาชีพอะไร”

จังหวัดชลบุรี เริ่มจัดทำโครงการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ โดยใช้รูปแบบชลบุรีโมเดล ตั้งแต่ปี 2557 โดยครั้งแรกได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในปัจจุบัน) เพื่อดำเนินการพัฒนาหลักสูตรให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา

ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ นักวิชาการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บรรยายเรื่องตลาดแรงงานไทยกับการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยการมนุษย์เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ว่า ปัจจุบันคนทำงานของประเทศไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีประมาณ 38 ล้านคน ประมาณ 60% มีวุฒิการศึกษาระดับ ม.3 และต่ำกว่า สัดส่วนแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม และ 55% ทำงานนอกระบบ ซึ่งต่างประเทศเรียกการทำงานลักษณะนี้ว่า Gig Economy หมายถึงคนที่มีอายุ 15 ขึ้นไป ไม่มีนายจ้าง ไม่มีสัญญาจ้าง ทำงานอิสระ ไม่มีหลักประกันทางสังคม และไม่มีค่าตอบแทนที่แน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างของตลาดแรงงานเปลี่ยนไป

โครงสร้างของคนว่างงาน ปี 2560 มีประมาณ​ 4.5 แสนคน กลุ่มที่ว่างงานสูงสุดคือคนที่จบปริญญาตรีขึ้นไป ปัจจุบันมีจำนวน 28% เทียบกับปี 2550 คือ 20% ในขณะที่คนที่จบ ปวส. ว่างงาน 11% และ ปวช. 6% การที่ยังมีกลุ่มคนว่างงาน แต่ตลาดแรงงานก็ต้องการแรงงานสะท้อนปัจจัยหนึ่งว่า ในภาพรวมแรงงานไทย ยังมีทักษะที่ไม่ตรงกับ
ความต้องการของนายจ้าง

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานไทยยังพึ่งพาแรงงานต่างชาติสูง และเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนประมาณ 2.1 ล้านคน คิดเป็น 5.5% ของกำลังแรงงานทั้งหมด อาชีพที่ชาวต่างชาติทำ 45% คืออาชีพที่คนไทยไม่นิยมทำ เช่น อาชีพที่ใช้แรงงาน และงานดูแลผู้สูงอายุ (Domestic work) และประเทศไทยก็ต้องการแรงงานต่างชาติที่มีทักษะ ซึ่งการที่ประเทศไทยต้องการทั้งคนที่มีทักษะและไม่มีทักษะของต่างประเทศแสดงว่าสิ่งที่เรามี ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของนายจ้าง

จังหวัดชลบุรีมีความโดดเด่นด้านการพัฒนาคน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความก้าวหน้าในด้านการศึกษาสูงเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ แนวโน้มความต้องการแรงงานและผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาสำหรับ EEC (ปี 2560-2564) 170,000 คน แต่จะมีผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวะประมาณ 120,000 ทำให้เกิดช่องว่างประมาณ 50,000 ซึ่งก็ต้องเติมเต็มความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันนี้
อย่างไรก็ตาม จังหวัดชลบุรีมีจุดแข็งคือมีผู้ศึกษาต่ออาชีวะ สูงเกิน 50% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ แรงงานข้ามชาติของ EEC มีลักษณะพิเศษคือมีทั้งแรงงานไร้ทักษะ และมีทักษะเกือเนื่องจากมีบริษัทขนาดใหญ่อยู่ในเขต EEC

ความท้าทายของการผลิตคนให้ตรงกับตลาดแรงงานนั้น อยู่ที่ทัศนคติของผู้ปกครอง และนักเรียน รวมทั้งค่าตอบแทนที่รัฐควรเข้ามาจัดการให้เหมาะสม และส่งเสริมให้มีระบบ Credit Bank System เพื่อให้ผู้ที่เลือกเรียนสายอาชีพสามารถสะสมความรู้และประสบการณ์เพื่อใช้ในการศึกษาต่อในระดับสูง รวมทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อพัฒนาและลดช่องว่างของคนทำงานทั้งหมด

ทางด้าน ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก กล่าวถึงทิศทางการจัดการศึกษาในจังหวัดชลบุรีกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำจะนำไปสู่ความมั่นคงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราต้องกลับมาดูว่าเรามีทุนอะไร
เปรียบเหมือนการทำอาหาร เรามีวัตถุดิบ มีเครื่องปรุง และเทคโนโลยีในการทำอาหาร แต่จะทำอย่างไรให้กลมกล่อม และสอดคล้องกับที่ลูกค้าต้องการ ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้ข้อมูลทางสถิติมาบริหารจัดการเท่าที่ควร ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการข้อมูลจากหลายหน่วยงาน

การจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ EEC คือต้องมองข้ามเส้นแบ่งของศาสตร์ต่างๆ ถ้าจะจัดเมนูให้กลมกล่อมต้องมองว่าโจทย์คืออะไร ปัญหาคืออะไร สมมติว่าเป็นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกทำเรื่องเกษตร เราต้องไม่มองแค่ว่าไปขุดดิน เลี้ยงปลา แต่เราเอาวิศวะคอมพิวเตอร์เข้ามาทำเรื่อง Smart Farm เอาศาสตร์อื่นเข้ามาทำให้รู้ว่าเราจะขายผลผลิตอย่างไรให้มีคุณค่ามากขึ้น เพราะฉะนั้นการปรับตัวจึงจำเป็นต้องปรับทั้งองคาพยพ และบูรณาการโจทย์ทุกโจทย์เพื่อจัดการปัญหา

เรามีทุนระดับสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในพื้นที่หลายสถาบัน ซึ่งทุนเหล่านี้ ไม่ได้มีเพียงความรู้ แต่ยังเป็นเจ้าถิ่นที่รู้ว่ามีวัตถุดิบอะไรซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อน EEC ได้ การที่เราจะรักษาสัดส่วนของผู้เรียนอาชีวะไว้ได้นั้น ถ้าเขาเรียนจบแล้วมีงานทำ เงินเดือนดี สิ่งเหล่านี้ก็ไม่หายไปไหน ซึ่งจะเห็นว่าผลผลิตที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่แบบนั้นอยู่

นายวิชัย หาญพลาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าวว่า การที่เรามีนักศึกษาอาชีวะประมาณ 50% ในขณะที่ที่อื่น ๆ 30% แสดงว่าเราเป็นเขตเศรษฐกิจจริง ๆ ทำให้ลูกหลานของเราเข้ามาเรียนในสายอาชีพและไม่ตกงาน วิสัยทัศน์ของวิทยาลัยคือ มุ่งผลิตช่างฝีมือความต้องการของสถานประกอบการ โดยมีสมาคมหรือองค์กรวิชาชีพช่วยกำกับและดูแลหลักสูตร โดยวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากสาธารณรัฐออสเตรียที่ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ ปัจจุบันมีนักศึกษาประมาณ 6,000 คน โดยในปีการศึกษา 2560 มีผู้สำเร็จการศึกษา 1600 คน ทำงานในสถานประกอบการ 75% ศึกษาต่อ 25% ประกอบธุรกิจส่วนตัว 5%

เรามีการจัดการศึกษาในรูปแบบ Sattahip model รองรับ 10 อุตสาหกรรมหลัก First S-curve และ New S-curve ทั้งนี้เพื่อยกระดับรูปแบบการศึกษาในระบบอาชีวศึกษาให้ผลิตนักศึกษาอย่างมีคุณภาพ สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับทุกฝ่าย ลดช่องว่างความต้องการแรงงานของสถานประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับอาเซียน

ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนนั้น มีการประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการตั้งแต่การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนร่วมกัน มีครูผู้สอนทั้งในสถานศึกษาและที่มาจากสถานประกอบการ โดยพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน สิ่งไหนไม่สำคัญก็ตัดทิ้ง บางอย่างที่สำคัญก็เติมลงไป เช่น มนุษย์สัมพันธ์ในโรงงาน นอกจากนี้สถานประกอบการยังช่วยสนับสนุนสวัสดิการของผู้เรียนในระหว่างเรียน เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ซึ่งให้ในลักษณะค่าตอบแทนที่นักศึกษาทำงานและเป็นการสร้างรายได้ระหว่างเรียน เมื่อเรียนจบก็มีการรับเข้าทำงาน

ผศ.ดร.อภิลักษณ์ กล่าวทิ้งทายถึงทิศทางการจัดการศึกษาว่า การปลูกฝัง creative mind และ entrepreneur เป็นสิ่งสำคัญ นักศึกษาควรจะรู้จัก Business model ในระดับพื้นฐาน ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์มาแล้วอยากเปิดร้านขายอาหาร ก็ควรจะรู้จักการคำนวณต้นทุน การตรวจสอบมาตรฐานอาหาร หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ซึ่งนอกจากอุดมศึกษาแล้ว การจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ก็ต้องทำให้เด็กเห็นว่า สิ่งที่เรียนจะใช้ประกอบอาชีพอย่างไร ซึ่งจะทำให้การเรียนมีเป้าหมาย ไม่ล่องลอย และเด็กจะสนใจกับห้องเรียนมากขึ้น ขณะเดียวกัน การได้ออกไปใช้ความรู้ในห้องเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในการประกอบอาชีพ ผมคิดว่ามันทำให้การเรียนรู้สนุก และมีความหมายมากขึ้นว่าเรียนไปทำไม ซึ่งการสร้างความหมายให้เกิดขึ้นในชั้นเรียนต่อโลกของการทำงาน มีผลต่อการจัดการศึกษา