พื้นที่วัดร้องหลอด ประกอบไปด้วยศาลาการเปรียญ กุฏิเจ้าอาวาส ศูนย์สำหรับยืมเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีคนจากอนามัยมาดูแล พิพิธภัณฑ์บ้านโบราณ บ้านพักนักศึกษาแพทย์ ตลาดหน้าวัดร้องหลอด คาเฟ่วัดร้องหลอด
เต้ย เล่าให้ฟังว่าวัดร้องหลอดมีพระประจำอยู่ 2 รูปคือเจ้าอาวาส กับพระอีกรูป ส่วนการสร้างต่างๆ ถ้าชาวบ้านไม่เข้ามาช่วย เจ้าอาวาสก็จะลงมือเอง

(รูป: 01_เจ้าอาวาส-วัดร้องหลอด.jpg)
“อันนั้นคือยุ้งฉางโบราณที่ชาวบ้านเอามาตั้งในบริเวณวัด ตุ๊เจ้าก็ลงมือคุมเอง ถ้าไม่จ้างช่างตอกเสาก็ขึ้นเอง” เต้ยชี้ไปบริเวณที่กำลังทำการก่อสร้าง โดยที่มีเจ้าอาวาสยืนคุมงานอยู่
วัดร้องหลอดประกอบไปด้วยพื้นที่ที่หลากหลาย และมีคนในชุมชนเข้าออกเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่เดินเข้ามาอนามัยเพื่อยืมสิ่งของด้านการแพทย์ มีนักศึกษาแพทย์มาฝึกงาน และพักอาศัย มีชาวบ้าน
มานั่งกินข้าวที่ตลาดหน้าวัด บางคนมาจิบกาแฟถ่ายรูป
“ตอนที่บวชเรียนเป็นเณรจนถึงปัจจุบัน เห็นคนเข้าวัดเปลี่ยนไป ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าวัดสามารถดึงคนได้เหมือนอดีต มันไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ยึดโยงในเรื่องของประเพณี จารีตต่างๆ แต่ชุมชนจะสามัคคีกันด้วย ซึ่งการที่จะทำแบบนั้นได้เราก็ต้องเริ่มจากจุดแข็งก่อนคือเรื่องวัฒนธรรม วัดต้องช่วยชุมชนอนุรักษ์วัฒนธรรมให้อยู่กับคนรุ่นหลัง แล้ววิธีที่ง่ายที่สุดคือดึงเด็กๆ เข้ามาเรียนรู้ในวัด”
พระครูพิศาลสังวรคุณ เจ้าอาวาสวัดบอกว่าตอนเย็นๆ ที่วัดจะมีการฝึกสอนเด็กๆ ตีกลอง หรือเสาร์อาทิตย์ก็จะมีการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในบริเวณวัด

วัดร้องหลอด และชุมชนวัดร้องหลอดได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอท็อปวิถี ระดับอำเภอ โดยจุดไฮไลท์เมื่อมาที่ชุมชนบ้านร้องหลอดคือการมาเยี่ยมชมวัดร้องหลอด ที่ได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ทาง วัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาล้านนา’ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ ‘บ้านโบราณ’ ที่อยู่ในบริเวณวัดเช่นกัน
ก่อนหน้านี้วัดร้องหลอดขึ้นชื่อเรื่องการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์สำหรับลงเก็บข้อมูลในชุมชน จนต้องมีบ้านพักสำหรับนักเรียนแพทย์ในบริเวณฝั่งซ้ายของวัด
“ที่นี่เราสนับสนุนให้บริจาคของใช้ผู้ป่วยอย่างเตียง หรือแพมเพิสผู้ใหญ่มากกว่าถวายสังฆทาน แล้ววัดก็จะเอาสิ่งของนั้นบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการใช้ ถ้าเป็นเตียง หรือถังออกซิเจนก็จะมอบให้กับอนามัยเปิดให้คนทั่วไปเข้ามายืม”
เจ้าอาวาสยอมรับว่าพอแสดงจุดยืนของวัดไปอย่างนี้ ชาวบ้านไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกเนื่องจากความเชื่อโลกแห่งความตายว่าบริจาคสิ่งใดจะได้ใช้สิ่งนั้น แต่เจ้าอาวาสก็ค่อยๆ ทำให้ชุมชนได้เห็นว่าสิ่งของที่ชาวบ้านบริจาคมานั้นได้ใช้ประโยชน์จริงๆ
“ตอนนี้ชาวบ้านก็บริจาคเตียง ผ้าอ้อม แพมเพิส เราก็ปรับแนวคิดว่าการบริจาคนี้คือการส่งต่อสะพานบุญ”
“หนูก็มาเรียนทำเล็บที่วัดนี่แหละ ปกติก็มาที่วัดบ้างไม่มาบ้าง ส่วนใหญ่มานั่งเล่น แต่พอพี่เต้ยกับพี่ปกรชวนมาทำกิจกรรมก็ลงชื่อมา”
หยก (นามสมมุติ) แม่วัยรุ่นวัย 16 เล่าให้ฟังว่าตัวเองเรียนหนังสือแล้วซ้ำชั้นบ่อย โรงเรียนเลยให้ลาออก ในตอนแรกหยก (นามสมมุติ)ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอะไร เพราะครอบครัวไม่ได้สบาย จนเต้ย และปกรชวนเข้ามาที่ ‘โครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาบนฐานเครือข่ายชุมชน กรณีศึกษาวัดร้องหลอด’ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
“ตอนแรกเขามาหาหนูที่บ้านก่อน แล้วบอกว่ามีกิจกรรมให้ทำแถวๆ วัดร้องหลอด ตอนแรกก็ลังเลแต่พวกอสม.เชียร์ก็เลยมา เข้ามาครั้งแรกมาสอบถาม เล่นเกมก่อน แล้วพี่ๆ เขาก็ถามว่าอยากทำอะไร หนูก็ไม่รู้ แต่เห็นแถวบ้านมีร้านทำเล็บ หนูชอบทำเล็บด้วยเลยบอกว่าอยากทำเล็บเป็น”
ตอนนี้หยก (นามสมมุติ) กลับไปเรียนกศน. และยังมีลูกเล็กอีก 1 คน ซึ่งหยก (นามสมมุติ) คิดว่าอยากจะต่อยอดอาชีพทำเล็บให้เป็นรายได้หลัก
“เขาพาไปฝึกกับพี่ที่เปิดร้านทำเล็บ แล้วก็เรียนไปเรื่อยๆ ขั้นตอนแรกจะสอนตะไบเล็บแล้วก็ทาสี สิ่งที่ถนัดที่สุดคือทาสีนี่แหละ เพราะงานเพ้นท์เล็บยังต้องใช้เวลาฝึก ถ้าถามว่าอยากทำอะไรสำหรับหนูก็คงเป็นทำเล็บนี่แหละ”

เช่นเดียวกับยอร์ช เด็กชายวัย 17 ปี ที่รู้จักกับหยก (นามสมมุติ) และเข้าร่วม ‘โครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาบนฐานเครือข่ายชุมชน กรณีศึกษาวัดร้องหลอด’ เช่นเดียวกัน
ยอร์ชทำงานหาเลี้ยงตัวเอง และต้องออกจากโรงเรียนเพราะเสาหลักของบ้านอย่างพ่อ ล้มป่วยและเสียชีวิต ทำให้ไม่มีเงินค่าใช้จ่าย และค่าเทอมสำหรับเทอมต่อไป
“ผมชอบมาที่นี่นะ ก็มากินน้ำหวาน มานั่งเล่น ชอบที่พี่ๆ เขาชวนเล่นบอร์ดเกม มันสนุกดี อีกอย่างได้เจอเพื่อน”
ตอนนี้ยอร์ชสมัครเข้าเรียน สกร. (กศน.เดิม) แต่ก็ขยับไปทำงานเป็นช่างรถยนต์ไกลบ้านทำให้ไม่ค่อยได้มาที่วัดร้องหลอด และคาเฟ่วัดร้องหลอดมากเท่าไร แต่ถ้ามีโอกาสก็จะแวะเวียนมานั่งเล่น

ถ้าใครกำลังจินตนาการถึงคาเฟ่ในวัดว่าอาจจะเป็นคาเฟ่แบบร้าน pop-up อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะคาเฟ่วัดร้องหลอดเป็นบ้านไม้สองชั้น โอบล้อมไปด้วยสายน้ำ และมีน้ำตกขนาดใหญ่อยู่ข้างๆ
“บรรยากาศดีไหม” พี่มุ้ย มณีรัตน์ อุปะละ บาริสต้าประจำคาเฟ่วัดร้องหลอดถามขณะชงเครื่องดื่มไปด้วย พี่มุ้ยทำงานที่คาเฟ่วัดร้องหลอดมาประมาณ 4-5 ปี ก่อนหน้านั้นเธอทำงานในกรุงเทพฯ แต่เมื่อถึงจุดอิ่มตัวพี่มุ้ยก็กลับมาที่เมืองพาน
“เริ่มต้นคืออยากทำคาเฟ่เลยไปแจ้งเจ้าอาวาส ซึ่งสรุปสุดท้ายก็ได้ทำ แต่เจ้าอาวาสจะไม่เอาเงิน ลองทำไปสักพักนึงต้นทุนร้านคาเฟ่มันสูงมาก ก็เลยปรับราคาแต่ว่าเงินส่วนนี้ก็จะเอาไปบริจาคผู้ป่วยผู้ยากไร้อยู่ดี”
บนเมนูในคาเฟ่วัดร้องหลอดจึงเขียนไว้บรรทัดสุดท้ายว่า “ทุกแก้วของท่ายสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง”
“คนที่นี่จะชอบพวกเมนูปั่นเช่นสตรอว์เบอร์รีสด หรือไม่ก็ชาเขียวนม พวกหยก (นามสมมุติ) กับยอร์ชก็เหมือนกัน แต่เด็กๆ เวลาเข้ามาที่นี่บางทีเขาก็ขอทำเอง หรือสั่งแบบขอหวานๆ เราก็ปล่อยให้เขาทำ ใส่เครื่องแบบเต็มที่”
เต้ยกระซิบบอกกับเราว่าพี่มุ้ยสนิทกับเด็กๆ มาก โดยเฉพาะเวลาที่เด็กๆ มานั่งเล่นที่นี่แล้วก็ต่อยอดไปถึงบทสนทนาปัญหาชีวิต เช่น เล่าว่าตอนนี้ตัวเองประสบปัญหาการเงิน อยากได้งานทำ
“บางทีเขามานั่งเล่น แล้วก็คุยกัน บางทีเขาก็มาถามความเห็นเรา หรือว่ามาบอกว่าช่วงนี้มีปัญหาอะไร เด็กบางคนที่ออกจากโรงเรียน หรือเป็นแม่วัยรุ่นบางคนเขามีปัญหาเยอะมากนะ ไม่ใช่แค่มุมที่คนนอกเห็น ก็ดีถ้าเขาได้มานั่งระบายที่คาเฟ่”

เต้ย – รณชัย คำปิน (ขวา) และ กร – ปกร นาวาจะ (ซ้าย) ทั้งสองเจ้าของเพจและผู้ดำเนินงาน ‘จวนละอ่อนจาม’ ‘โครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาบนฐานเครือข่ายชุมชน กรณีศึกษาวัดร้องหลอด’
“เริ่มแรกเราอยากจัดเวิร์คชอปแก่คนที่วัดร้องหลอด แต่มีขยายขอบเขตการทำงานไปเน้นเด็กด้วย ซึ่งใช้คำว่าเด็กที่หลุดระบบการศึกษา เรายอมรับว่าตอนแรกไม่มีเด็กคนไหนเข้ามาทำกิจกรรมเลย เพราะเราคือคนแปลกหน้าของเขา”
เต้ย และกร เป็นคนเมืองพาน แต่เข้าไปเรียนในเมืองที่นิยามว่าเจริญที่สุดในประเทศไทย ทำให้พวกเขาต้องจากบ้านนานเกือบ 7 ปีนับตั้งแต่เรียนและทำงาน ช่วงชีวิตอันยาวนานนั้้นทำให้ทั้งสองคนอยากกลับมาบ้านเกิด
“เราเห็นว่าโอกาสในอาชีพของที่นี่น้อยมาก แล้วตอนนั้นได้โอกาสจาก กสศ. มาพอดีเลยเสนอโครงการไป เราอยากให้น้องๆ ที่นี่ได้มีอาชีพ ลืมตาอ้าปากได้ โดยเฉพาะน้องๆ ที่มีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น” กรเล่า
สิ่งที่ทั้งสองทำที่นี่คือเข้ามาเป็นอีกแรงสำคัญของเจ้าอาวาสวัดร้องหลอดด้วยการทำงานกับเด็ก เพื่อส่งต่อแนวคิดด้านวัฒนธรรม และความสามัคคีความดีแก่คนรุ่นหลัง
“เราไปขอความร่วมมือกับชาวบ้านในการให้เขาชวนเด็กๆ ที่ไม่ได้เรียนมาทำกิจกรรม ซึ่งแรกๆ จะเป็นการสอบถาม เล่นบอร์ดเกม แล้วก็ค่อยๆ ถามว่าเขาอยากทำอะไร เช่นน้องๆ อยากฝึกทำเล็บก็หาคนมาช่วยสอนเผื่อเขาได้อาชีพ” เต้ยกล่าว
แม้โครงการจะจบลงไปแล้ว แต่ทั้งเต้ย และกร ยังคงขลุกตัวอยู่ที่วัดร้องหลอด โดยเฉพาะบริเวณคาเฟ่ด้านหน้าวัด เพื่อพูดคุยเล่นกับพี่มุ้ย และคอยถามสารทุกข์สุกดิบของเด็กที่เข้ามาที่คาเฟ่แห่งนี้
“ถ้าให้เปรียบว่าเป็นอะไรสำหรับเด็กที่นี่ พวกเขาขอเป็นน้ำตกที่คาเฟ่วัดร้องหลอด เพราะพวกเราพร้อมเป้นความสบายใจให้เด็กๆ ถ้าเด็กๆ อยากมาหาก็มาเลย เรายังอยู่ตรงนี้เสมอ” เต้ย และกรตอบคำตอบคล้ายกันว่าตัวเองคืออะไรของพื้นที่แห่งนี้