แม่ๆ แห่งกรับใหญ่ : ไม่มีหรอกผ้าขาว เลี้ยงเด็กเทาๆ คนหนึ่งต้องใช้คนทั้งตำบล

แม่ๆ แห่งกรับใหญ่ : ไม่มีหรอกผ้าขาว เลี้ยงเด็กเทาๆ คนหนึ่งต้องใช้คนทั้งตำบล

แม่ๆ แห่งกรับใหญ่ 

คำนี้ผุดขึ้นมาหลังจากได้คุยกับแม่ๆ แห่งหน่วยการเรียนรู้ที่ ต.กรับใหญ่ จ.ราชบุรี หนึ่งใน 40 หน่วยการเรียนรู้ในโครงการหนุนเสริมทางวิชาการและการจัดการความรู้สำหรับการพัฒนาเด็กนอกระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

โครงการนี้จะไปดูแลเยาวชนที่เสี่ยงหลุดและหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งแต่ละคนมีปัญหาซับซ้อนแตกต่าง โครงการฯ นี้ ส่วนกลางจะไม่คลุกวงในเอง แต่จะส่งไม้ต่อการทำงานให้คนในพื้นที่ที่รู้ปัญหาและรู้วิธีการจัดการมากกว่า เพื่อเป้าหมายปลายทางคือ สร้างพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็กๆ ครอบครัว และชุมชน 

อาจฟังดูเป็นภาคทฤษฎี แต่ ‘แม่ๆ แห่งกรับใหญ่’ 3 คนนี้ลงมือทำให้เห็นว่าภาคสนามเป็นอย่างไร สมบุกสมบันแค่ไหน ถ้าสุภาษิตแอฟริกาบอกว่า “เลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” 

งานของแม่ๆ ด่านหน้า 3 คนนี้ก็คงเรียกว่า “เลี้ยงเด็กเก๊คนหนึ่ง(ให้รอด) ต้องใช้คนทั้งอำเภอ” เลยทีเดียว

เด็กเก๊ของอาจารย์เขะ 

“เป็นเกษตรกรที่ทำงานพยาบาลได้นิดหน่อย” อ.เขะ หรือ ผศ.ภิรมย์ ลี้สุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีจักรีรัช แนะนำตัวเองขำๆ เพราะการงานตอนนี้มีมากมายเหลือเกิน หนึ่งในนั้นคือเลี้ยงไก่ เพาะไข่ผำ ฯลฯ  เพื่อเอาผลผลิตไปให้เด็กๆ ที่หลุดออกนอกระบบใน ต.กรับใหญ่ หารายได้ต่อ

อ.เขะ คือ หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของโครงการหนุนเสริมทางวิชาการและการจัดการความรู้สำหรับการพัฒนาเด็กนอกระบบการศึกษา โหนดตำบลกรับใหญ่ ราชบุรี 

‘อ.เขะ’ ผศ.ภิรมย์ ลี้สุวรรณ

เป็นอาจารย์ในวิทยาลัยพยาบาลแล้วมาเกี่ยวข้องกับเด็กๆ กลุ่มนี้ได้อย่างไร? 

อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า โครงการฯ จะไม่คลุกวงในเอง แต่จะส่งไม้ต่อการทำงานให้คนในพื้นที่ที่รู้ปัญหาและรู้วิธีการจัดการ และโครงการนี้เริ่มที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กรับใหญ่ 

อ.เขะปูพื้นให้ฟังว่าพื้นที่ ต.กรับใหญ่มีความแตกต่างสูงมากทั้งในแง่รายได้และลักษณะประชากร มีทั้งโรงงานน้ำตาลใหญ่ที่สุดในประเทศไปจนถึงคนใช้แรงงานในไร่อ้อย ผลลัพธ์สุขภาพที่เกิดขึ้นคือ คนกรับใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เยอะมาก โดยเฉพาะครอบครัวที่มีอาชีพรับจ้าง พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาอยู่กับลูก หลายบ้านไปทำงานต่างถิ่น ครอบครัวเว้าแหว่ง เด็กๆ อยู่กับผู้สูงวัย 

“เราดูแลสุขภาพและทำงานใกล้ชิดกับ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) อสม.รู้หมดว่าบ้านไหนเป็นยังไง รู้ว่าครอบครัวนี้เว้าแหว่งแบบไหน เด็กบ้านไหนหลุดออกนอกระบบ เขารู้ทุกอย่างจริงๆ ถ้าไม่ได้เขา โครงการฯ จะเข้าถึงเด็กไม่ได้เลย” อ.เขะ ได้แรงสนับสนุนจาก อ.รัชนี คลองระวะ รองผู้อำนวยการด้านวิจัยและบริการวิชาการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีจักรีรัช ทำให้โครงการนี้เป็นรูปเป็นร่าง 

อ.รัชนี คลองระวะ

จากนั้นแทคทีมกับรพ.สต.กรับใหญ่ที่นำโดย ‘หมอไหล’ วรรณา ก้องสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกรับใหญ่ และอสม. ในการชวนเด็กๆ นอกระบบมาเข้าโครงการฯ ที่มีทั้งเด็กที่ติดยาเสพติด แม่วัยรุ่น(วัยใส) และ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยเหตุผลซับซ้อนต่างกัน

แต่ทุกอย่างไม่ง่ายเหมือนดีดนิ้ว ที่แค่ชวนแล้วเด็กจะมา จากสายตาผู้ใหญ่ในชุมชนที่มองว่าพวกเค้าเป็นเด็กเกเร หรือเด็กเก๊ตามคำเรียกของอ.เขะ  แล้วทำไมเด็กเก๊อย่างพวกเขาต้องเชื่อและเข้ามาโครงการฯ นี้ด้วย งานนี้ต้องต้องยกความดีความชอบให้อสม.ที่พามาได้สำเร็จ ถึงครั้งแรกเด็กหลายคนจะมาอย่างงงๆ ไม่ไว้ใจ ไม่สบตา เอาแต่ก้มหน้า 

“เราตรวจสุขภาพและพยายามชวนคุยเรื่องเรียนและเรื่องสุขภาพเป็นหลัก เราจะไม่ไปพูดเรื่องอื่นของเขาเลย เราไม่พูดเรื่องเอาไปเขาบำบัด(ยาเสพติด) เราจะไม่ตีตรา ทุกคนจะได้ treatment เดียวกัน มาถึงนั่ง มีขนมกินเหมือนกัน เราจะให้เท่าๆ กัน  ให้เด็กแชร์กัน คุยกัน เราจะพูดให้น้อยที่สุดให้โอกาสเขาในการแบ่งปันแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่มที่ความสนใจเดียวกันเป็นหลัก” 

ถ้าเด็กๆ มาสาย ผู้ใหญ่ในทีมรพ.สต.จะไม่ว่า ถือคติว่ามาช้ายังดีกว่าไม่มา รอได้ และเรื่องที่คุยกันในห้อง ก็จะจบลงในห้อง ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนตามเด็กไปถึงบ้านแล้วเอาเรื่องนี้เล่าให้พ่อแม่เด็กฟัง

“เรื่องที่เขายอมเล่าให้เราฟัง จะอยู่กับเราเท่านั้น” อ.เขะย้ำ 

ทำอย่างนี้เป็นสิบครั้ง จากสายตาที่ไม่ไว้ใจก็ค่อยๆ กลายเป็นตั้งคำถามเรื่องที่อยากรู้ และคำถามที่เด็กๆ มีให้อ.เขะและทีมบ่อยที่สุดคือ จะไปเรียนต่อได้ไหม 

“นั่นแสดงว่าเขามีใจแล้วนะ เพียงแต่ว่าเขาจะไปต่อยังไง เรียนแบบไหน มีลูกแล้วจะกลับไปเรียนได้หรือเปล่า” 

จึงต้องจับมือกับผู้ใหญ่อีกหลายวงในกรับใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เทศบาล การศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งหน่วยหลังสำคัญมาก เพราะเด็กๆ หลายคนที่หลุดออกจากการศึกษาแล้ว ปากท้องที่ต้องหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวอาจจะไม่ได้เหมาะกับการตื่นเช้าไปโรงเรียนอีกต่อไป 

เรื่องนี้เมื่อถึงมือแม่ๆ แห่งกรับใหญ่แล้ว การหาทางเดินต่อให้ชีวิตเด็กแต่ละคนคือภารกิจสำคัญ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเปลี่ยนมุมมองและอคติของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กๆ อ.เขะเชื่อว่าถ้าผู้ใหญ่ไม่เปลี่ยน เด็กก็ไม่เปลี่ยน 

“เรามองว่าคนส่วนใหญ่มีจิตใจดีอยู่แล้ว เมตตาอยู่แล้ว ครั้งแรกเชิญประชุม ไม่มีเบี้ยเลี้ยงเขาก็มา เขาให้เวลาเรา พอเขามีใจ เราก็ไฮไลท์จุดสำคัญไปเลยว่า พ.ศ.นี้เด็กเกิดน้อย ลูกหลานท่านหลุดออกนอกระบบอีก อีกหน่อยเราจะอยู่กันยังไงในสังคมที่ผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ” 

ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเห็นด้วย แต่พอทีมรพ.สต.ดึงเด็กมาดูแลจนเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างได้ คนส่วนใหญ่ก็เริ่มเห็น และค่อยๆ เปลี่ยนตาม อย่างน้อยก็ไม่ตีตรา ด่า หรือคาดโทษมากขึ้น 

เด็กทุกคนไม่ใช่ผ้าขาว – อ.เขะ ยอมรับข้อนี้ และ เข้าใจเป็นอย่างดีว่าไม่มีผ้าผืนไหนขาวสุดและดำสุด มีแต่เด็กๆ ที่เป็นผ้าสีเทา จะเทาอ่อน กลาง เข้ม ก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู งานนี้ทำให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพยาบาลคนนี้รู้ว่ามนุษย์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะคนหนึ่งต้องการอะไร อยากให้ปฏิบัติกับเค้าแบบไหน 

“หันหน้าเข้าหาเขานะ คุยไม่ก้มหน้า  มีสมาธิ และ ฟังอย่างตั้งใจ ฟังเก็บพฤติกรรมทุกอย่าง อวัจนภาษา กิริยาท่าทาง เขาไม่พร้อมที่จะอยู่กับเรา เราก็ปล่อยกลับนะ ไม่มีบังคับเลยนะ แต่จะใช้วิธีคุยจากสิ่งที่เค้าต้องการสื่อสาร สิ่งที่เค้าชอบ ไม่เปรียบเทียบแต่ใครทำดี เราให้มาเป็นตัวอย่างเพื่อน และจะไม่ blame พฤติกรรมที่เห็นว่าไม่โอเค”

จากการทำงานนี้มา เด็กๆ สอนให้อ.เขะ วางความคาดหวังและหวังดีลงทุกอย่าง แค่เดินหน้าสร้างพื้นที่ปลอดภัยก็พอ 

“ตรงไหนที่อยู่แล้วมีสุขภาวะ มันควรจะครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ เพราะจิตใจแปลว่าเขาต้องรู้สึกว่ามีความสุข  ร่างกายคือมีกิน มีอยู่ มีปัจจัยสี่ มีชีวิตประจำวัน แต่ความสุขเรื่องใจแต่ละคนไม่เท่ากัน แล้วอีกอันคือสังคมดี ตัวนิเวศน์ที่อยู่รอบๆ ไม่ว่าจะเป็นแสง สี เสียง อุณหภูมิ factor ทั้งหมด มันต้องส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดี อันนี้ถึงจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย และสุดท้ายเขาก็ออกแบบชีวิตเป็นและมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ” 

เด็กเทาๆ ของหมอไหล 

คู่หูคนสำคัญของอ.เขะ คือ ‘หมอไหล’ วรรณา ก้องสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี 

หมอไหลคนนี้ทำหน้าที่ไม่ต่างจากหัวหน้าสถานี ที่ปล่อยยานแม่ต่างๆ อย่าง อสม.ไปเสาะหาเด็กๆ ที่หลุดออกนอกระบบตามหมู่บ้าน เจอตัว ชักจูง หว่านล้อม เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ยอมมา 

โดยตำแหน่ง หมอไหลจะดูแลสุขภาพเป็นหลัก และติดตามเด็กแต่ละคนผ่านพี่เลี้ยงซึ่งก็คือ อสม. ถ้าใครมีปัญหาสุขภาพ หมอไหลก็จะเข้าไปดูแล 

คำถามหนึ่งซึ่งหมอไหลเจออยู่บ่อยๆ คือ การดูแลเด็กที่หลุดออกนอกระบบเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นมาของ รพ.สต.ไหม 

“รพ.สต. ดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่ จริงๆ ก็คือการดูแลครอบครัวของคนในพื้นที่ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ คนไข้ติดเตียง ส่วนเด็กๆ ที่หลุดนอกระบบ ถึงจะไม่ใช่งานเราโดยตรง แต่อสม.เขาเป็นพี่เลี้ยง ดูแลเด็กๆ เราก็ดูแล อสม.อีกที” 

‘หมอไหล’ วรรณา ก้องสุวรรณ

ในบริบทนี้ รพ.สต.จึงทำหน้าที่เป็นบ้านที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ เมื่อเด็กกล้าที่จะเปิดประตูเข้ามาแล้ว หน้าที่ของหมอไหลและทีมคือสานต่อให้เขาได้เรียนรู้ตามวิถีที่เด็กๆ ต้องการ และหนึ่งในนั้นคือการศึกษานอกโรงเรียนหรือ สกร.

“เรามีฐานข้อมูลว่าเด็กจำนวนเท่าไหนที่ควรจะเข้าศูนย์การเรียนรู้ เด็กบางคนไม่รู้ว่าจะกลับไปเรียนได้ตอนไหน สมัครยังไง ต้องทำยังไงบ้าง เราก็ประสานกับอสม. ให้ไปตามว่าในพื้นที่มีเด็กคนไหนสนใจไปเรียนบ้าง” 

หมอไหลบอกว่าถึงงานจะเยอะมากขึ้น แย่งวันหยุดไปก็บ่อย แต่งานนี้ถือเป็นภารกิจของรพ.ในการดูแลเด็กในวัยเรียน ฟื้นฟูให้สุขภาพเขาดีขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อยู่ในสังคมและใช้ชีวิตต่อไปได้ 

ในฐานะแม่คนหนึ่ง หมอไหลยอมรับว่า เด็กสมัยนี้เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ยากกว่าคนรุ่นก่อน ไหนจะครอบครัวเว้าแหว่ง ยาเสพติด โซเชียลมีเดีย การบุลลี่ที่มีไม่แผ่ว ฯลฯ ทั้งหมดนี้ หมอไหลจึงลงความเห็นส่วนตัวว่า การที่เด็กคนหนึ่งหลุดออกนอกระบบ จะโทษเด็กอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้

“โทษเด็กอย่างเดียวไม่ได้หรอก มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ครอบครัว ชุมชน โรงเรียนสิ่งแวดล้อมต่างๆ คือไม่ใช่ว่าเด็กคลอดออกมาแล้วจะเก๊เลย เด็กบางคนบางคนเขาก็ไม่อยากจะเก๊หรอกนะ เขาอาจจะมีปัญหาหลายกดดัน โดยเฉพาะมุมมองที่ผู้ใหญ่มองเขาไม่ดีก่อน” 

ด้วยความที่รพ.สต.มีข้อมูลเด็กหลุดออกนอกระบบครอบคลุมที่สุด ทำให้หมอไหลเห็นว่า เด็กบางคนขาดความรัก บางคนไม่มีอะไรจะกิน ชีวิตต้องดิ้นรนตลอด การวางอคติลงแล้วคุยกับเขาคือวิธีที่หมอไหลทำ 

“อย่าไปคิดว่าเด็กคนนี้มีปัญหา อย่าไปอคติกับเขา เราก็คุยกับเขาธรรมดาให้เขาไว้ใจเรา เด็กกลุ่มนี้ เขาพื้นฐานจิตใจดีนะ ถึงจะไม่มีพ่อแม่ดูแลหรือคอยเป็นแบบอย่างให้ลูก ความคิด ความอ่านเขาโอเค เราจะมองในส่วนดี แน่นอน ในชุมชนก็มีเด็กที่ไม่ดีด้วยแต่เราอย่าเหมารวม แรกๆ อสม.บางคนก็อคติกับเด็ก ไม่อยากทำงานด้วย เราบอกว่าต้องให้โอกาสเด็กบ้าง ถ้าเราทําไปแล้วมันไม่ไหวจริงๆ ก็ค่อยปล่อยมือ” 

หมอไหลยอมรับความจริงว่าเด็กก็คือมนุษย์ มีเทาอ่อน เทากลาง เทาเข้ม ไปจนถึงเทาเกือบดำ แต่อย่างน้อย การเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ กลุ่มนี้รู้สึกปลอดภัย กล้าออกมาใช้ชีวิตและเรียนรู้ต่อก็คุ้มกับที่ทำไป 

อยู่ตรงไหนแล้วสบายใจมีความสุข – คือพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ ในความหมายของหมอไหล เพราะถ้าเขาสบายใจ สเต็ปต่อไปคือใช้ชีวิตในสังคมได้ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และพื้นที่ที่ว่านี้หมอไหลทำคนเดียวไม่สำเร็จแน่ๆ 

“เริ่มแรกก็ต้องเป็นครอบครัว ชุมชน โรงเรียน เทศบาล เครือข่าย  สิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีบทบาทในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก” 

เด็กก็คือเด็กของแม่พร 

แม่คนสุดท้ายแห่งกรับใหญ่คือ ‘แม่พร’ จีราพร เทียนทอง อสม.ตัวตึงแห่งกรับใหญ่ ตึงแค่ไหนไม่รู้ รู้แต่เด็กๆ หลุดออกนอกระบบพากันเรียก ‘แม่’ 

แม่พรคืออดีตช่างเสริมสวยที่ผันตัวมาทำงานอสม.หลังจากลูกเรียนจบหมดแล้ว 

“พอลูกเรียนจบก็บอกเค้าว่าแม่อยากทำงานช่วยเหลือสังคม  ลูกบอกเอาเลยแม่ พอดีเขาเปิดรับสมัคร อสม.เราก็เข้าไป” 

ความที่ชอบออกกำลังกายทุกเย็น แม่พรมักจะเจอเด็กๆ แถวนั้น เด็กกลุ่มที่แม่พรสงสัยว่าทำไมไม่ไปโรงเรียน เดินไปเดินมา ตาลอย และไม่ยอมสบตาแม่พร 

“เราก็กลัวเขา เขาก็กลัวเรานั้นแหละ โดยที่ยังไม่ได้คุยกัน” 

พอโครงการฯ​ เข้ามาทางหมอไหลและอ.เขะ ก็ถูกส่งถึงมือแม่พร แม่พรทำทีใจดีสู้เด็ก และเดินเข้าหา ไปชวนให้มาเข้าโครงการ 

“บอกเขาว่า หนู มีโครงการนี้มานะ ไปสมัครนะ หนูจะได้เรียนหนังสือ หนูจะได้มีความรู้ หนูจะได้ช่วยเหลือตัวเองได้ เด็กก็ถามว่าจริงเหรอ ไปยังไง ไม่มีรถ เราบอกเดี๋ยวไปรับไปส่งเอง พ่อแม่เด็กปรี่เข้ามา เขาไม่ไว้ใจเรา ยายของเด็กถึงกับบอกว่า  จะให้เรียนไปทำไม โตขึ้นก็หาผัวรวยๆ ประมาณนี้ คือพี่ก็อึ้ง เอาไงดีวะ”

‘แม่พร’ จีราพร เทียนทอง

ความอดทน ใจเย็น และข้อมูลสนับสนุนจากเป็นทางการของ กสศ.ทำให้แม่พรชักชวนได้ง่ายขึ้น 

“เด็กก็เริ่มถามว่า ผมจะได้อย่างที่ผมคิดไว้จริงไหม บอกจริงสิ แม่จะโกหกหนูทำไม เขาก็มอง ถามอีกว่าแล้วอย่างนี้มันจะมีตลอดไปไหม” 

แม่พรไม่เพียงพูดแต่ใช้เนื้องานพิสูจน์ อย่างการตามไปปลุกถึงบ้าน เทียวรับเทียวส่งเด็กๆ ให้มาเข้ากิจกรรมโครงการ รวมถึงเปิดโทรศัพท์ไว้ 24 ชั่วโมงสำหรับเด็กๆ ทำให้เด็กค่อยๆ เปิดใจให้แม่คนนี้ 

“เด็กก็คือเด็กนะ เราคุยได้ทุกเรื่องกับลูก มีปัญหาอะไรบอกได้หมด สิ่งที่เขาพูดออกมา แม่จะยังไม่บอกว่าผิดหรือถูกเรามาคุยกันก่อน แล้วเขาก็จะเล่า ค่อยๆ เล่า เล่า เล่า บางครั้งเขาก็ทำผิด เพราะเขาก็ไม่มีใครสอน เขาก็ไม่ได้ดูออกว่าตรงนี้มันควรทำไม่ควรทำอะไรขนาดไหน เราก็ค่อยๆ บอกเขา” 

การที่เด็กๆ กล้าเล่าและแม่พรกล้าบอกว่าอะไรดี ไม่ดี อะไรควร ไม่ควร นอกจากแม่พรจะสัมผัสได้ว่าพวกเค้าก็คือเด็กคนหนึ่งที่ต้องการความรัก แม่พรยังเห็นว่า เขาเพียงแค่อยากอยู่ในสังคมได้โดยไม่ต้องมีสายตาที่มองมาด้วยความกลัวหรือรังเกียจ 

“เขาอยากอยู่ในสังคมได้ ไม่ว่าเขาจะไปตรงไหนก็แล้วแต่ ขอแค่ไม่มีสายตาเหยียบย่ำและรังเกียจ แม่พรก็ใช้โอกาสนี้สอนเขาว่า เราก็ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เราไม่สามารถให้เขามองเราได้ดีในครั้งเดียว” 

และภายใต้ความดื้อหรือปีนเกลียวนั้น แม่พรอยากชวนให้มองอีกมุมหนึ่งว่า มันคือกลไกการป้องกันตัว และความดื้อนั้นจะอ่อนลงได้ถ้าผู้ใหญ่รอบๆ ตัวจะค่อยๆ ทำความเข้าใจ

“ถ้ามีผู้ใหญ่ที่เข้าใจเขา สามารถสอน แนะแนวทางในการใช้ชีวิตที่ดี แล้วคุ้มภัยให้เขาได้จริง ๆ การคุ้มภัยไม่ใช่ว่าป้องกันไม่ให้เขาโดนตีหรือไม่ให้อะไรนะ คือ คุ้มภัยให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุขในชุมชน เขาจะเข้ามาหาเราเอง”  

ลงลึกในภาคปฏิบัติ แม่พรจะไม่ใช้สรรพนามว่าแม่หาประโยชน์หรือเรียกร้องความสม่ำเสมอจากเด็กมากเกินไป ไม่ต้องการให้เขาว่าง่ายถึงขนาดต้องรายงานตัวทุกวัน เพราะอย่างที่แม่พรบอก เด็กก็คือเด็ก 

“แต่จะพูดหลักๆ ว่า เราต้องดูแลตัวเองก่อน ให้ตัวเองมั่นคงได้ มีอะไรปรึกษาแม่พรเลย ทำให้เหมือนที่แม่พรเลี้ยงลูก คือให้ความเข้าใจ แต่ว่าจะไม่คลุกคลีจนเด็กไม่เกรงใจ ให้เขารู้ว่าเราทำให้เขาได้จริงๆ” นี่คือความคุ้มครอง คุ้มแดด คุ้มฝนในแบบของแม่พร

แต่ถึงที่สุดแล้ว แม่พรก็ยอมรับว่าบทบาทนี้ เข้าข่ายการแก้ปัญหาที่ปลายทาง 

“ก็ถูกนะ แก้ปัญหาปลายทาง แต่มันเหมือนเราตกปลา  ถ้าปลากินเบ็ดก็ถือว่าเราได้” 

และความสุขของแม่พรก็มีแค่นี้ 

“แค่เขาคิดเป็น ว่าเขาอยากมีชีวิตที่ดี นั่นก็เปลี่ยนละ มันไม่ได้เปลี่ยนกันง่าย ๆ นะ ความคิดนี้ ถ้าเขาเปลี่ยนแล้ว ไม่ต้องกลัวเลยว่าเขาจะหันกลับไปมองข้างหลัง เขาจะเดินหน้า”


เรื่อง : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพ : อธิคม แสงไชย