‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา’ ภารกิจฉุกเฉินเพื่อการศึกษา เร่งค้นหาเด็กเสี่ยงหลุดใน ‘ช่วงชั้นรอยต่อ’ ก่อนตัดสินใจเดินออกจากระบบการศึกษาไปตลอดกาล

‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา’ ภารกิจฉุกเฉินเพื่อการศึกษา เร่งค้นหาเด็กเสี่ยงหลุดใน ‘ช่วงชั้นรอยต่อ’ ก่อนตัดสินใจเดินออกจากระบบการศึกษาไปตลอดกาล

“ยิ่งเด็กนักเรียนหายไปนาน ยิ่งมีความซับซ้อน และยากต่อการตามกลับมาเรียน แต่ถ้าตามกลับมาได้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกของการเปิดเทอมใหม่ จะเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึง ความเร่งด่วนในการค้นหาเด็กๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ ‘โครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา’ โดยเฉพาะนักเรียนในช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษาที่มีการตัดสินใจไม่เรียนต่อสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะช่วงหลังเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ทำให้หลายครอบครัวมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ กสศ. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการสำรวจเชิงลึกในช่วงเดือนมีนาคมก่อนปิดเทอม ทำให้พบข้อมูลสำคัญว่า ระหว่างรอยต่อทางการศึกษาจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ไปชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และช่วงมัธยมศึกษาปี่ที่ 3 เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะเป็นช่วงที่พบเด็กนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาทางด้านการเงิน ครอบครัวไม่สามารถส่งให้เรียนต่อได้

จากข้อมูลชุดนี้จึงนำไปสู่การทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น กสศ., กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนเอกชนที่เป็นมูลนิธิไม่แสวงหากำไร รวมถึงคณะครูอาจารย์ในแต่ละพื้นที่เพื่อช่วยกันค้นหาเด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาให้กลับเข้ามาได้โดยเร็วที่สุด ผ่านโครงการ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา’ โดยตัวอย่างของ ‘ยาดี’ เองที่เกือบจะหลุดออกจากระบบไปแล้ว ก็สามารถกลับมาได้อีกครั้งด้วยกระบวนการนี้ 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

“ด้วยภาวะเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด–19 ประกอบกับฐานะทางครอบครัวของยาดีที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว เธอมีพี่น้องที่อยู่ในวัยเรียนอีก 4 คน ดังนั้น เมื่อยาดีจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อ เสียสละตัวเองออกมาปลูกผัก ทำขนมพื้นบ้านขาย ทำงานหาเงินช่วยแม่ที่ต้องรับผิดชอบคนเดียว เพื่อให้พี่และน้องของเธอได้เรียนต่อ

“ด้วยความที่เห็นผู้ปกครองมีรายได้ไม่พอ และไม่มีเงินส่งเสียให้ลูกเรียนได้ครบทุกคน น้องเลยยอมเสียสละตัวเองเพื่อที่จะให้มีค่าใช้จ่ายส่งพี่เรียนจบ ม. 6 ก่อน และให้น้องๆ ได้เรียนต่อ คือน้องมีความกังวลมากว่า ถ้าน้องเรียนจะมีปัญหาอะไรอย่างนี้ ก็เลยยอมเสียสละเพื่อที่จะให้น้องกับพี่เรียนจบก่อน” ครูของยาดีเล่าถึงเหตุผลในการตัดสินใจไม่เรียนต่อ ทั้งที่เธอเป็นเด็กเรียนดี ประพฤติดี และมีความตั้งใจสูงมาตลอด 

ปัจจุบัน ยาดี เพิ่งอายุ 15 ปี เป็นนักเรียนในโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งใน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ครูของเธอเล่าว่า ยาดีเป็นเด็กที่มีความประพฤติและผลการเรียนดีมาโดยตลอด ตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษา ได้ผลคะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากในเกือบทุกรายวิชา สอบได้ที่ 1 หรือที่ 2 ของห้องเรียนเป็นประจำ

“เป็นนักเรียนที่เรียกได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของครูผู้สอน และเป็นนักเรียนตัวอย่างของโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถทางด้านวาดรูป เมื่อคุณครูให้ทำชิ้นงาน ให้วาดรูประบายสี เธอจะทำออกมาได้ค่อนข้างดี สามารถที่จะเอาผลงานมาโชว์เป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนๆ ได้ นอกจากเรียนดีแล้วยังมีความมุมานะ มีความพยายามสูงอีกด้วย อย่างเมื่อปีการศึกษาที่แล้วก่อนที่จะจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ต้องประสบกับสถานการณ์โควิด–19 โรงเรียนปิดทำการทั้งปีการศึกษา เด็กนักเรียนต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ยาดี ไม่มีอุปกรณ์ที่จะใช้ในการเรียนมากนัก สัญญาณอินเตอร์เน็ตก็ไม่ค่อยดีในบริเวณบ้าน แต่ก็ยังมีความพยายาม คอยตามงาน คอยมาเอาเอกสารความรู้จากครูอย่างสม่ำเสมอ แม้ผลการเรียนจะลดลงมาบ้างเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แต่ก็ยังรักษามาตรฐานไว้ที่เกรดเฉลี่ย 3 กว่าๆ อยู่ ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับนักเรียนทั่วๆ ไป”

พาน้องกลับโรงเรียน คืนโอกาสเพื่ออนาคต

ด้วยความใส่ใจของครูที่ปรึกษา เพื่อนๆ ครู และทางโรงเรียน ซึ่งจะคอยติดตามว่าหลังเปิดเทอมจะมีนักเรียนหลุดออกไปบ้างหรือไม่ เพราะด้วยบริบทพื้นที่ หลายครัวเรือนไม่ใช่ครอบครัวที่มีรายได้มากนัก เมื่อบวกเข้าสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งกลายเป็นตัวเร่งให้เด็กตัดสินออกจากระบบได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กๆ ในช่วงชั้นรอยต่อ ซึ่งเหมือนเป็นทางแยกสำคัญ ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจเองก็คือปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงมาก

“คณะครูก็เฝ้าระวังกันอยู่ว่าจะมีใครไม่ได้เรียนต่อหรือไม่ จึงได้รับรู้ถึงปัญหาของยาดีตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดเทอม เมื่อทราบว่าน้องตัดสินใจไม่เรียนต่อแน่ๆ ก็ได้ประสานงานกับโครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา เพื่อสอบถามหาวิธีช่วยเหลือ จากนั้นจึงลงไปพูดคุยทำความเข้าใจกับครอบครัวและตัวนักเรียน”

ครูที่ปรึกษาบอกว่า ยาดีลดความกังวลในเรื่องครอบครัวลงและตัดสินใจกลับมาเรียน โดยสามารถกลับเข้าไปเรียนได้เลยในปีการศึกษานี้ แม้ว่าจะเปิดเทอมไปแล้ว ไม่ต้องเสียเวลารอ เพราะกรณีนี้มีการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน ทำให้มีความเข้าใจกัน ช่วยเหลือกันบนหลักการที่ว่า ต้องทำให้เด็กที่กำลังหลุดกลับสู่ระบบการศึกษาให้เร็วที่สุด และต้องมีความยั่งยืนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีหลุดซ้ำอีก

แก้ปัญหา ‘เด็กหลุด’ ไม่ง่าย ต้องสร้างความร่วมมือเป็นระบบ

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ.

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพราะปัญหาทางด้านการเงินของครอบครัว มีอัตลักษณ์สำคัญที่เรียกว่า ‘ยากจนเงียบ’ คือจะไม่ค่อยกล้าพูด กล้าถาม กล้าแสดงออก ซึ่งถ้าไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ โรงเรียนและครูจะไม่ได้รู้ปัญหาที่แท้จริงของเด็ก เพราะฉะนั้นเด็กกลุ่มนี้โรงเรียนและคุณครูต้องหาเขาให้เจอ แต่เด็กกลุ่มนี้มักมีข้อดีคือ เป็นเด็กดี ใฝ่ดีและตั้งใจเรียน มีความกตัญญูกตเวที มีความอุตสาหะ มีความเสียสละ

ข้อมูลจากการสำรวจ พบว่า เด็กกลุ่มนี้ ที่ไม่ได้รับทุนมี 53 เปอร์เซ็นต์ ได้รับทุนเพียง 47 เปอร์เซ็นต์ จำนวนกว่าครึ่งที่ไม่เคยได้รับทุนการศึกษา จึงมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษาสูงมาก

“ประเด็นปัญหาที่ทำให้เสี่ยงมาก คือเด็กกลุ่มนี้มีปัญหาซับซ้อนมากกว่าหนึ่งปัญหา คือปัญหาพ่อแม่ผู้ปกครอง ปัญหาค่าใช้จ่าย มีรายได้ลดลงที่จะสามารถอุปการะลูกหลาน ลดลง 78 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาครอบครัวเรื่องการหย่าร้าง ปัญหาครอบครัวต่างๆ อีก 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ เรื่องสุขภาพเขาอีก 18 เปอร์เซ็นต์

“เด็กยากจนคนหนึ่งถ้าคุณเจอมากกว่า 1 ปัญหา เราจะพบเลยว่าโอ้โหมันซับซ้อนมาก แล้วถ้าคุณครูไม่ตามอย่างถึงที่สุด ชนิดที่พูดคุยและเปิดใจได้ เราก็จะเห็นนะครับ ว่าเด็กก็จะค่อยๆ หลุดจากระบบการศึกษาไปแบบเงียบๆ ไปแบบไม่ค่อยมีความหวัง”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ ให้คำแนะนำว่า สุดท้ายการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกระบบการศึกษาจากความยากจน จะต้องเป็นการบูรณาการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงโรงเรียนคณะครูอาจารย์ในพื้นที่ซึ่งต้องเอาใจใส่ติดตามเด็กนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทำงานด้วยความร่วมมืออย่างเป็นระบบเท่านั้น จะสามารถแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้อย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ

สำหรับกรณีของ ‘ยาดี’ แห่งนราธิวาส จึงเป็นอีกความสำเร็จสำคัญที่สะท้อนถึงความใส่ใจและความร่วมมือกัน และถึงจะเป็นแค่หนึ่งในอีกหลายกรณีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในเวลานี้ แต่การช่วยได้แม้เพิ่มขึ้นอีกเพียงหนึ่งคน ก็มีความหมายอย่างมากต่ออนาคตและระบบการศึกษาไทยในเวลานี้