ฟิลิปปินส์เตือนนักเรียนเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตหากยังยืดเยื้อไม่ยอมเปิดโรงเรียน
โดย : Carmela Fonbuena and Rebecca Ratcliffe
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ฟิลิปปินส์เตือนนักเรียนเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตหากยังยืดเยื้อไม่ยอมเปิดโรงเรียน

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานทางด้านการศึกษาในฟิลิปปินส์ออกโรงเร่งให้รัฐบาลจัดสรรมาตรการและแนวทางเพื่อเปิดทางให้โรงเรียนสามารถกลับมาทำการเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติอีกครั้ง พร้อมเตือนว่า หากยังยื้อเวลาเปิดโรงเรียน และปล่อยให้นักเรียนส่วนใหญ่เรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกลต่อไป จะทำให้นักเรียนตกอยู่ในภาวะเครียดและกดดันจนมีปัญหาสุขภาพจิตตามมาภายหลัง

คำเตือนข้างต้นมีขึ้น หลังกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ออกมาระบุว่า สถานการณ์ของเด็กนักเรียนในฟิลิปปินส์กำลังสุ่มเสี่ยงเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น เพราะทั้งเด็กและผู้ปกครองต่างเหนื่อยล้ากับการเรียนออนไลน์ หลังต้องปิดโรงเรียนติดต่อกันนานร่วม 18 เดือนแล้ว และยังเป็น 1 ใน 5 ของประเทศทั้งหมดทั่วโลกที่ยังคงปิดโรงเรียนนับตั้งแต่พบการระบาดของไวรัสโควิด-19

แม้จะเข้าใจว่ามาตรการล็อกดาวน์และจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของคนในสังคม กระนั้น ในฐานะคุณแม่ที่ต้องดูแลลูก 6 คน ในหมู่บ้านชานกรุงมะนิลา โดรินา มอนซานโต (Dorina Monsanto) ยอมรับว่าการเรียนทางไกลไม่อาจแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กๆ ที่ไม่อาจไปโรงเรียนได้

เหตุผลประการแรกสุดก็คือ มอนซานโตไม่มีอุปกรณ์อย่างสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตให้ลูกๆ ทุกคน นั่นหมายความว่าเจ้าตัวต้องแบ่งปันสมาร์ตโฟนใช้กับลูกสาวคนโตวัย 15 ปี และลูกสาวคนรองวัย 12 ปี แต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี เพราะบ่อยครั้งลูกสาวทั้งสองจำเป็นต้องใช้สมาร์ตโฟนในเวลาเดียวกัน โดยยังไม่นับเรื่องของสถานที่ที่ไม่เหมาะกับการเรียน เพราะบ้านที่อาศัยอยู่ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว เนื่องจากเป็นบ้านที่แชร์กันอยู่กับเหล่าเครือญาติอีก 8 ชีวิต ซึ่งรวมถึงเด็กเล็กอายุเพียง 2 ขวบ ที่ชอบส่งเสียงดังตามประสาเด็ก 

ยิ่งไปกว่านั้น สมาร์ตโฟนที่มีเพียงเครื่องเดียวในบ้านก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคุณแม่ในการทำงาน ดังนั้น เมื่อมอนซานโตออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ก็หมายความว่าลูกๆ จะไม่สามารถเข้าเรียนออนไลน์ตามตารางที่กำหนดของโรงเรียนได้ และที่สำคัญ ต่อให้วันที่ลูกเรียนแล้วมอนซานโตสามารถทำงานจากบ้านได้ การเรียนของลูกๆ ก็ยังมีปัญหา เนื่องจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตต่ำ เพราะต้องแบ่งปันสัญญาณกับเพื่อนบ้านซึ่งจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตเช่นกัน 

สิ่งที่คุณแม่อย่างมอนซานโตกังวลมากที่สุดก็คือ การที่ลูกสาวคนโตซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะได้เรียนหนังสือในระดับอุดมศึกษาจะหมดใจและหมดไฟกับการเรียน ทั้งนี้สิ่งที่ลูกๆ ต้องการในขณะนี้ก็คือ คุณครู และการเรียนหนังสือในชั้นเรียนซึ่งจะช่วยให้เข้าใจเนื้อหาบทเรียนได้ดีขึ้น โดยมอนซานโตยอมรับว่า สิ่งที่ลูกๆ เรียนเป็นสิ่งที่ตนไม่เคยเรียน ดังนั้นจึงไม่สามารถช่วยลูกๆ เรียนหนังสือได้ 

ทั้งนี้ กว่า 1 ปีที่ต้องเรียนออนไลน์ ผลการเรียนของลูกสาวคนโตของเธอถดถอยอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่เจ้าตัวก็พยายามเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ และพยายามทบทวนบทเรียนด้วยตนเองเท่าที่เวลาและความสามารถของเด็กคนหนึ่งจะเอื้ออำนวย 

สถานการณ์ของลูกๆ ของมอนซานโตเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของสิ่งที่เด็กฟิลิปปินส์อีกหลายหมื่นหลายแสนคนกำลังประสบ โดยเฉพาะเด็กจากครอบครอบรายได้ปานกลางค่อนไปทางยากจน ที่กำลังเผชิญปัญหาและได้รับผลกระทบทางการศึกษาจากการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ กลุ่มองค์การที่ทำงานเพื่อเด็กในฟิลิปปินส์เตือนว่า ยิ่งปิดโรงเรียนนานเท่าไร ผลเสียที่เกิดขึ้นจะไม่จำกัดอยู่แค่การศึกษาเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความมั่นคงปลอดภัยของตัวเด็กนักเรียนเองด้วย 

การสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีนักเรียนฟิลิปปินส์อย่างน้อย 1.1 ล้านคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนในปีการศึกษาล่าสุดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนทั่วประเทศต้องปิดให้บริการและใช้การเรียนออนไลน์หรือการเรียนทางไกลแทน โดยองค์กรการกุศลส่วนหนึ่งระบุว่า เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงก่อนตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการถูกบีบบังคับให้แต่งงาน 

ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมฟิลิปปินส์พบว่า ปีที่ผ่านมา แค่เพียงช่วง 2-3 เดือนแรกที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ก็มีรายงานการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 264% 

โรเวนา เลกัสปี (Rowena Legaspi) ผู้อำนวยการบริหารศูนย์การพัฒนาและสิทธิทางกฎหมายเพื่อเด็ก (Children’s Legal Rights and Development Center) กล่าวว่า ถ้าไม่มีมาตรการเชิงรุกที่เข้ามาจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เกรงว่าเด็กหลายคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจะไม่สามารถกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้อีกตลอดไป ซึ่งถือเป็นสูญเสียที่ไม่เพียงกระทบต่อชีวิตและครอบครัวของเด็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความสูญเสียในระดับสังคมด้วย 

นอกจากไม่สามารถไปโรงเรียนได้แล้ว เด็กวัยเรียนชาวฟิลิปปินส์ในบางพื้นที่ อย่าง กรุงมะนิลา ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดอย่างหนัก ซึ่งหมายรวมถึงการห้ามออกนอกบ้านมาวิ่งเล่นที่สวนสาธารณะหรือสนามเด็กเล่น และการดำรงชีวิตของเด็กมีแนวโน้มเผชิญกับกฎที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ามีแนวโน้มกลับมาทวีความรุนแรงอีกระลอก

บรรดานักเคลื่อนไหวเปิดเผยว่า กฎระเบียบดังกล่าวมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่ม barangay tanods ซึ่งเป็นหน่วยเฝ้าระวังหมู่บ้าน ทำให้ที่ผ่านมามีรายงานการจับกุมตัวเด็กที่อยู่นอกบ้าน หรือละเมิดกฎมากมาย และหลายครั้งการจับกุมดังกล่าวมีการสั่งลงโทษหรือทำให้เด็กอับอายเกินกว่าเหตุ และเด็กที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่คือเด็กไร้บ้านหรือเด็กด้อยโอกาสที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากออกมาเตร็ดเตร่นอกบ้านเพื่อหางานทำ 

ขณะเดียวกัน เชียนา เบส (Shiena Base) จากเอดูโค ฟิลิปปินส์ (Educo Philippines) องค์กรเอ็นจีโอด้านสิทธิเด็กกล่าวว่า สถานการณ์ของเด็กที่มีบ้านอยู่อาศัยก็เลวร้ายไม่ต่างกัน เพราะการถูกจำกัดบริเวณเป็นเวลาติดต่อกันกว่า 18 เดือนทำให้เด็กตกอยู่ในสภาวะเครียดจัดได้ง่าย จนส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตตามมาในภายหลัง 

ทั้งนี้ เบสแนะนำให้รัฐบาลผ่อนผันและทยอยเปิดโรงเรียนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ที่เด็กส่วนใหญ่ขาดแคลนอุปกรณ์และไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อเรียนหนังสือออนไลน์ได้สะดวก 

ด้านรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เริ่มตอบสนองต่อเรียกร้องที่เกิดขึ้นแล้ว เห็นได้จากการจัดทำโครงการนำร่องเปิดโรงเรียน 120 แห่งในพื้นที่ซึ่งมีอัตราการระบาดของเชื้อโควิด-19 ต่ำ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลมากที่สุดก็คือ แม้จะสามารถกลับมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆ รับรองได้ว่า เด็กฟิลิปปินส์รุ่นนี้ทุกคนจะสามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามความตั้งใจของตนได้

ที่มา : ‘Their future could be destroyed’: the global struggle for schooling after Covid closures