ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างรายได้เสริมระหว่างเรียน

ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างรายได้เสริมระหว่างเรียน

เส้นกกทีละเส้นถูกถักทอเรียงต่อกันเป็นแถวยาว เจ้าของนิ้วน้อยๆ ที่กำลังขะมักเขม้นทุ่มสมาธิทำชิ้นงานตรงหน้า คือ กลุ่มนักเรียนโรงเรียนโคกล่ามผดุงวิทย์ ต.ดงลิง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์  ใน“โครงการประดิษฐ์ของใช้จากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น : ภาพติดฝาผนังจากเสื่อกก”

หนึ่งในโครงการฝึกทักษะอาชีพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก “ทุนเสมอภาค” ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  ด้วยเป้าหมายที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

“กก” เป็นพืชธรรมชาติที่มีจำนวนมากในท้องถิ่น อีกทั้งการทอเสื่อกก เป็น ภูมิปัญญาของคนในชุมชนที่เวลาว่างจากการทำนา จะนำเอาต้นกกมาแปรสภาพแล้วทอเป็นแผ่นผืน เพื่อนำมาใช้งานในชุมชน รวมถึงการผลิตส่งขายภายนอกเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

 

ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์

การต่อยอดจากเสื่อกก มาสู่ “ภาพติดฝาผนังจากเสื่อกก” เป็นการคิดค้นของเด็กนักเรียนโรงเรียนโคกล่ามผดุงวิทย์ ซึ่งคุ้นเคยกับการผลิตเสื่อกกมาตั้งแต่เล็ก  โดยเขาจะตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็น และคิดเพิ่มเติมว่า นอกจากเสื่อที่ปูนั่งแล้ว  ยังสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์ใดได้อีกบ้าง จนนำไปสู่การศึกษา และหาองค์ความรู้เพิ่มเติม พัฒนาเป็นไอเดีย

“พี่เลี้ยง” ในการให้คำปรึกษา และฝึกทักษะให้กับนักเรียน คือ ผู้ปกครอง และ นักการภารโรงของโรงเรียน ที่มีความสามารถในการทอเสื่อกกตามภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ คือ เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ซึ่งมีส่วนร่วมในการปลิดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บ ตากแห้ง ทำเป็นเส้น ย้อมสี และทอเป็นผืน

 

รายได้ย้อนกลับไปเพิ่มโภชนาการให้นักเรียน

“วิมล ช่วยรักษา” ผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าว่า เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กที่มาร่วมโครงการ โดยส่วนใหญ่เด็กที่มาเข้าโครงการนี้จะเป็นเด็กที่ไม่เน้นวิชาการ มีความเฮี้ยว แต่เมื่อมาฝึกทักษะนี้ จะทำให้เด็กเกิดสมาธิ มีวินัยมากขึ้น 

“เมื่อเด็กประดิษฐ์เสร็จ ได้นำไปฝากขายในบูธของชุมชน ที่ไปออกร้านในงานประจำอำเภอ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดี มีคนเข้ามาซื้อ ซึ่งทางโรงเรียนได้นำรายได้ทั้งหมดเข้ากองทุนเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียน นำไปซื้อพันธุ์ปลาพันธุ์กบ มาเลี้ยง เพื่อเอาไว้บริโภคเพิ่มโภชนาการให้กับนักเรียน และ ทำเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงชุมชนเวลาที่มาช่วยงานโรงเรียน”

 

ธุงใยแมงมุม ผลิตภัณฑ์เสริมทักษะชิ้นใหม่

นอกจากนี้โรงเรียนยังมีโครงการทักษะอาชีพอื่นอีก เช่น การทำ “ธุงใยแมงมุม” ซึ่งเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสาน เชื่อกันว่าจะสามารถป้องกันสิ่งเลวร้าย หรือ สิ่งที่ไม่ดีที่มองไม่เห็นที่จะมารบกวนงานบุญ และยังเป็นการบอกกล่าวบวงสรวงเทพยดาในพื้นที่ว่ามีมีงานบุญให้มาช่วยปกปักคุ้มครอง โดยการถวายธุง ถือว่าเป็นการสร้างบุญกุศล จะได้เกาะชายผ้าขึ้นสวรรค์

รวมถึงโครงการทำขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมตาล กล้วยฉาบ ที่มีวัตถุดิบจำนวนมากในชุมชน

“กิจกรรมที่โรงเรียนส่งเสริมให้เด็กทำทั้งหมด ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กเอง เราก็ติดตามผลตลอด เชื่อว่าในอนาคตพวกเขาสามารถที่จะต่อยอดจากสิ่งเหล่านี้ได้ ดูแลตัวเองได้”

 

สร้างแรงจูงใจการออม ปูทางเรียนต่อในอนาคต

ในส่วนของทุนที่ให้กับนักเรียนนั้น โรงเรียนได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าให้นำไปใช้ในสิ่งที่มีประโยชน์กับเด็กมากที่สุด เด็กบางคนนำเงินนี้ไปต่อยอดเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งมีเด็กคนหนึ่งนำไปลงทุนรับซื้อของเก่ากับผู้ปกครอง แต่มีหลายรายนำเงินมาฝากกับโรงเรียน ที่มีระบบการออมอยู่ โดยจะสามารถเปิดได้ปีละ 1 ครั้งหลังจบปีการศึกษา ซึ่งโรงเรียนจะมีเงินรางวัลให้ 70 บาท สำหรับเด็กที่ออมเก่ง ที่ผ่านมามีเด็กบางคนออมได้ถึงหลักหมื่นบาท โดยนำเงินที่ได้รับจากผู้ปกครองมาฝากด้วย ทำให้มีเงินก้อนเป็นทุนนำไปใช้ในการเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาต่อไป

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค