เมื่อพิษ COVID-19 ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องอดมื้อ กินมื้อ

เมื่อพิษ COVID-19 ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องอดมื้อ กินมื้อ

 

ปิดเทอมยาวนาน ปากท้องที่หายไป ผลกระทบที่มากกว่าใครจะจินตนาการ

แน่นอนว่า วิกฤตการณ์ COVID-19 ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมแค่ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลไปถึงด้านปากท้องที่เป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต ซึ่งถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับเด็กหนุ่มสาวที่โตแล้วหรือผู้ใหญ่อย่างเรา ถ้าไม่ได้กินข้าวในปริมาณที่พอเหมาะ เต็มที่ก็มีผลต่อสุขภาพ อาจเป็นโรคกระเพาะ มีผลต่ออารมณ์ให้ไม่คงที่ หงุดหงิดกันได้ ทว่า สำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่ครอบครัวมีรายได้จำกัด พวกเขาต่างได้รับผลกระทบ มากกว่าที่เราคิด 

ซึ่ง กสศ. มีโอกาสได้สัมภาษณ์ “คุณหมอลัดดา” รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้เกียรติมาร่วมสนทนาถึงประเด็นดังกล่าวว่ามีผล
อย่างไร และจะแก้ไขไปในทิศทางไหนได้บ้าง จากบทสัมภาษณ์แบบ Exclusive

 

1.ปิดเทอมยาวขึ้น มีผลต่อปากท้องเด็กกลุ่มนี้อย่างไร?

คุณหมอลัดดา: สำหรับเด็กๆ ยากจน ด้อยโอกาสนั้น อาหารที่โรงเรียนคือ มื้ออาหารที่ดีที่สุดของเขา มีคุณค่าโภชนาการครบถ้วน เด็กบางคนก็ฝากท้องมื้อเช้า บางคนก็ฝากท้องมื้อเย็นร่วมด้วย บางคนที่ครอบครัวขาดแคลนจริงๆ คุณครูก็ให้กลับไปกินที่บ้านด้วย นอกจากนี้ยังมีนมโรงเรียนมอบให้อีก เพราะครอบครัวเขาไม่มีรายได้พอที่จะเจียดมาซื้ออาหารและนมให้กับลูก พอไม่ได้ไปโรงเรียนนาน ก็จะไม่ได้สารอาหารที่ครบถ้วน และไม่ได้ดื่มนมที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของแคลเซียมที่สำคัญสำหรับการเติบโตของกระดูก และมีโปรตีนด้วย ก็จะมีผลกระทบตรงนี้มาก

 

2.พอเสียโอกาสที่จะได้ปัจจัยสนับสนุนจากโรงเรียน จะส่งผลต่อเขาอย่างไร?

คุณหมอลัดดา: จากข้อมูลที่เรามีการสำรวจหลายครั้ง เด็กกลุ่มนี้เปราะบางอยู่แล้วในด้านของโภชนาการ ส่วนหนึ่งอยู่ในความเสี่ยง ขณะที่อีกหลายส่วนมีภาวะโภชนาการที่ต่ำกว่าเกณฑ์ เช่น น้ำหนักน้อย มีภาวะเตี้ยมากกว่าเด็กทั่วไป  บางคนก็คือขาด พอยิ่งได้อาหารในปริมาณที่ไม่มากพอกับความต้องการของร่างกาย ก็ทำให้ภาวะทุพโภชนาการที่เป็นอยู่ยิ่งเป็นมากขึ้น คนที่ขาดก็จะขาดมากขึ้น คนที่เสี่ยงอยู่ก็จะขาดอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบกับการเติบโต 

โดยทั่วไปเด็กวัยเรียนแบบนี้ ปีหนึ่งเขาจะโตประมาณ 2-3 กิโลกรัม สูงขึ้น 4-5 เซนติเมตร พอได้อาหารไม่พอ หรือไม่ได้คุณค่าอาหารที่ครบถ้วน ร่างกายก็จำเป็นต้องใช้สารอาหารได้แค่สำหรับการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่การเติบโตจะชะงักงันไป ก็จะไม่สูงขึ้นหรือน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นตามที่ควรจะเป็น 

และนอกจากอาหารที่เกี่ยวกับพลังงานอย่างคาร์โบไฮเดรต ไขมันและโปรตีน ยังมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการจำนวนน้อย แต่มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง เช่น ธาตุเหล็กที่สำคัญต่อสติปัญญา การเรียนรู้ ความจำต่างๆ เมื่อได้อาหารไม่พอ ช่วงนี้เด็กบางคนกินได้แต่ข้าว ไม่ได้พวกเนื้อสัตว์ ไข่ ก็จะทำให้เสี่ยง มีภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็จะกระทบกับการทำงานของสมองและการเรียนรู้ต่อไป

สรุป
ผลระยะสั้น – ทำให้ผอม น้ำหนักจะไม่ขึ้น เหมือนช่วงไหนที่เรากินน้อย เราก็จะผอมลง
ผลระยะยาว – ถ้าขาดสารอาหารยาวๆ ก็กระทบต่อความสูง เขาก็จะไม่สูงขึ้น ทำให้เตี้ยกว่าเด็กในวัยเดียวกัน และการขาดธาตุเหล็กนานๆ ก็จะมีผลกับสติปัญญา หรือพอไม่ได้ดื่มนม แคลเซียมไม่พอ ความแข็งแรงของกระดูกก็จะไม่ดีเท่ากับเด็กที่ได้รับครบถ้วน เมื่อได้รับสารอาหารตรงนี้ไม่ครบถ้วน ก็ย่อมส่งผลต่อการเรียนไปด้วย

 

3.การปิดเทอมนานขึ้นไม่เพียงส่งผลต่ออาหารกาย แต่ยังส่งผลไปถึงอาหารใจ!?

คุณหมอลัดดา: ทุกคนก็คงเคยมีประสบการณ์เวลาที่เรากินไม่อิ่ม เราหิว มันก็ทำให้ไม่มีความสุขอยู่แล้ว แล้วเด็กกลุ่มนี้ยิ่งมาเห็นคุณพ่อคุณแม่บางทีอาจจะไม่มีกิน หรืออาหารในครอบครัวไม่เพียงพอ เขาก็จะยิ่งเครียด ซึมเศร้า เดิมทีแค่กินไม่อิ่มก็ซึมอยู่แล้ว ไม่มีแรงจะทำอะไร แล้วยิ่งไม่ได้ไปเล่นกับเพื่อน เขาก็จะยิ่งเหงาเข้าไปใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ก็เครียด บรรยากาศต่างๆ เหล่านี้ ก็ทำให้เด็กเครียด กังวลเยอะ เด็กนี่จะซึมซับความเครียดของผู้ใหญ่ได้มาก เขาอาจจะไม่เข้าใจเหตุผลอะไรลึกซึ้ง แต่เขาจะรู้จากปฏิกิริยาต่างๆ 

ทั้งที่เด็กวัยนี้เขาต้องออกไปวิ่งข้างนอก โดนแสงแดด ไปตะลุยโลก  ฝุ่น ดิน ฟ้าอากาศ แต่บรรยากาศตอนนี้มันก็แปลกไปหมด  ถ้าเด็กเล็กหน่อยเขาก็จะไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น

 

4.การปิดเทอมยาวกว่า 3 เดือน ส่งผลในเรื่องปากท้อง

คุณหมอลัดดา: เรื่องนี้ก็คงต้องใช้เวลา ถ้าเรามองในแง่ดีว่าผ่านไปกว่า 3 เดือนแล้วทุกอย่างเป็นปกติเลย มันก็อาจจะยังพอ ถ้าเด็กที่ไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนสารอาหารมาก ในร่างกายเขายังมี “ทุนสำรอง” เขาก็จะฟื้นกลับมาได้เร็ว แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่ขาดสารอาหารไปเยอะแล้ว ก็ยิ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู กลับเป็นปกติ แต่จากที่รู้กันมาโรค COVID-19 นี้น่าจะอยู่กับเราไปอีกเป็นปี 

วิธีแก้คือ ผู้ใหญ่ต้องมีวิธีในการสื่อสารให้เด็กเขาเข้าใจได้ง่ายว่าตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมตอนนี้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างมากมายสำหรับเด็ก ถึงกลับไปโรงเรียนก็ต้องล้างมือให้ถูก รวมกลุ่มเล่นกันมากๆ ก็ไม่ได้ กลุ่มเล่นอาจต้องเล็กลง ต้องมีคนดูแลด้านจิตใจ คอยอธิบายอย่างคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต รวมถึง กสศ. เองก็ทำงานร่วมกันอยู่ในการเตรียมความพร้อมของเด็กและผู้ปกครองเพื่อจะเข้าสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า “New Normal” ที่ตอนนี้ก็มีหลายหน่วยงานทำสื่อง่ายๆ ให้เด็กเข้าใจ ตอนนี้เขากำลังเร่งรีบทำให้ทันกับการเปิดเทอม 

ซึ่งแม้จะกลับมาเปิดเทอมเหมือนเดิม แต่ยังไงมันก็ไม่มีทางเหมือนเดิม เพราะเราก็ต้องมีระยะห่าง มีวิธีการที่จะทำให้การแพร่กระจายของเชื้อมันน้อยที่สุด ถ้าประชาชนช่วยกันดูแลเด็กๆ ทุกอย่างมันก็จะประคองตัวให้ผ่านพ้นไปได้  จนกว่าเราจะมีวัคซีนขึ้นมาจริงๆ จากที่คาดการณ์กันว่าต้องใช้เวลากว่าปีครึ่ง กว่าจะผ่านการทดลองจนมั่นใจว่าใช้ได้จริงและปลอดภัย ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะทำได้เลย ท้ายที่สุดเราก็จะปรับตัวจนชินกับวิถีชีวิตใหม่นี้ไปเอง เราแค่ต้องอยู่กับมันให้ได้

พ่อแม่ก็จะต้องได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียน คุณครูในการเตรียมความพร้อมให้บุตรหลานเช่นกัน และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งภาคการศึกษาและสาธารณสุขต้องทำงานด้วยกัน ช่วยกันสนับสนุนการดูแลเด็กอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด เพราะพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กนั้นเขาต้องการมาก เขาก็ยังต้องเรียนรู้ ต้องมีการกระตุ้น 

ดังนั้นเรื่องนี้ไม่สามารถปล่อยทิ้งนานได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของอาหารกายอย่างเดียว แต่รวมถึงอาหารจิตใจด้วย ทิ้งไปไม่ได้ ต่อไปนี้ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอีกแล้ว ไม่ใช่พอเป็นเรื่องเรียนให้คุณครูทำไป เรื่องสุขภาพก็ไม่ใช่แค่คุณหมอ คุณพยาบาลต้องดูแลอย่างเดียว จะยกให้ใครไม่ได้ ต้องช่วยกันแล้วค่ะตอนนี้ 

 

5.วิธีแก้ปัญหาปากท้องในระยะยาว แก้อย่างไรดี?

คุณหมอลัดดา: ในระยะยาว หากเด็กๆ กลุ่มนี้จะพึ่งถุงยังชีพอย่างเดียวอาจไม่พอ จริงๆ แล้วครอบครัวเขาต้องการจะได้งาน อยากมีงานทำ หรือถ้าไม่มีงานทำ แต่มีพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมได้ ก็อาจน้อมนำแนวคิดแบบทฤษฎี “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในจุดนี้ได้ในภาวะเช่นนี้ที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ก็อาจต้องกลับมาพึ่งพาในสิ่งที่ตนเองมี 

สิ่งที่ห่วงที่สุดคือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลดิจิทัล ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจกันอย่างทั่วถึง ใช้วิธีที่เหมาะสมกับบริบท สภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ ต่อไป

 

6.จริงหรือไม่ จากข้อมูลระบบ iSEE ของ กสศ. พบว่าเด็กจะมีน้ำหนักน้อยสุดในวันแรกของการเปิดเทอม?

คุณหมอลัดดา: ถ้าเป็นกลุ่มเด็กด้อยโอกาส วันแรกของการเปิดเทอม น้ำหนักจะน้อย ส่วนสูงก็ไม่ดี พอปลายเทอมก็จะน้ำหนักดีขึ้น ปัญหาเด็กเตี้ยเด็กผอมก็จะน้อยลง เพราะเมื่อเขามาโรงเรียน เขาก็จะได้มื้ออาหารที่ดี มีคุณค่าสารอาหารที่ครบถ้วน และยังได้ดื่มนมด้วย ก็ยิ่งช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้เยอะขึ้น  เพราะเรื่องโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน นมโรงเรียน ก็เป็นผลผลิตมาจากแนวคิดจะแก้ปัญหาเด็กยากจน ขาดสารอาหาร ก่อนจะขยายมาให้สำหรับเด็กทุกคน แต่ถ้าเด็กคนไหนที่ขาดสารอาหารเยอะ ก็ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ

ส่วนอีกด้านหนึ่ง กลุ่มเด็กที่อ้วน ถ้าเขาได้อยู่ในโรงเรียนที่มีระบบการดูแลที่ดี พอเปิดเทอมกลับมา ปลายเทอมก็จะเริ่มอยู่ตัว ไม่อ้วนมากขึ้น หรือบางคนก็น้ำหนักลงได้ ดังนั้นโรงเรียนมีอิทธิพลมากในเรื่องของอาหารและการมีกิจกรรมของเด็ก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความรู้อย่างเดียว เพราะโรงเรียนเป็นที่ๆ จะหล่อหลอมฟูมฟักเด็ก ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่รวมไปถึงความเป็นคนทั้งหมด คนทั้งคน ทั้งกายทั้งใจ สติปัญญา ระเบียบวินัย ทักษะชีวิตๆ ต่าง ทุกอย่าง ดังนั้นโรงเรียนนี่แหละเป็นบ้านหลังที่สองที่จะหล่อหลอมเด็ก สร้างคนทั้งคนขึ้นมา

 

7.ความเหลื่อมล้ำด้านปากท้องไม่ได้มีแค่ด้านเดียว!?

คุณหมอลัดดา: ประเทศไทยยังมีเด็กในภาวะทุพโภชนาการอยู่ 2 ด้าน แปลว่า โภชนาการที่ไม่ดี ก็คือขาดกับเกิน ประเด็นคือ ณ ตอนนี้ถ้ามองภาพรวมทั้งประเทศคือเรามีเด็กที่มีภาวะเกินมากกว่าขาด ประเทศไทยนี่เป็นตัวอย่างที่ดีของทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ว่าเราสามารถลดภาวะขาดลงมาได้ ทั้งน้ำหนักน้อยและเตี้ย เราลดลงมาได้เยอะเลย

แต่ปัญหาหนึ่งที่กำลังเพิ่มขึ้นมากคืออ้วนเพิ่มมากขึ้น ไม่แค่ในเมืองเท่านั้น แต่ในชนบทก็เช่นกัน คือได้พลังงานเกิน แต่สารอาหารไม่ครบถ้วน เด็กที่อ้วนเนี่ยเสี่ยงขาดธาตุเหล็ก เสี่ยงขาดวิตามินต่างๆ มากมาย วันนี้เรามีปัญหาโภชนาการเกินในเด็กแซงหน้าขาดแล้ว ตรงนี้ในเด็กวัยเรียนเรามีปัญหาเด็กอ้วนมากกว่าเตี้ยและผอมมากกว่าจริงๆ เพราะกินแต่ขนมไขมันเยอะ น้ำอัดลม ของหวาน ขาดวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ  ไปหมด ก็จะเสี่ยงเป็นโรคได้อีก 

 

8.คุณหมออยากฝากอะไรถึงทุกคนในเรื่องนี้?

คุณหมอลัดดา: จริงๆ ในสถานการณ์แบบนี้ เรื่องกำลังเงินอาจไม่ใช่คำตอบเสียทีเดียว คือ บางทีเราเอาแต่เงินหรือของไปให้อย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะเดี๋ยวมันก็หมดไป  เขาอาจจะช่วยด้วยแรงและสติปัญญา อาจทำกิจกรรมอาสาเพื่อเด็กกลุ่มนี้ หรือทำอย่างไรให้เด็กๆ และครอบครัวเขายังสามารถเอาตัวรอดได้ ยังใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง

จริงๆ แล้วก็มีหนุ่มๆ สาวๆ นักศึกษาหลายคนที่เขาก็อาจจะมีกำลัง มีวิธีคิด นวัตกรรม ในการช่วยเหลือได้ดี ถ้าตั้งเป็นกลุ่มที่จะให้คนเข้ามาร่วมกัน เราก็ยังมีพลังอีกมากในสังคมให้เรายังช่วยกันได้ มันเป็นการสร้างชีวิตให้เด็กๆ กลุ่มนี้ด้วย

 

แล้วคุณล่ะอยากสร้างจุดเปลี่ยนนี้อย่างไร?

 

ร่วมบริจาคช่วยเหลือน้องๆ ไปกับโครงการ
#สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม กับ กสศ.
ตั้งแต่วันนี้ – 18 มิถุนายน 2563

บริจาค