นร. 9 ครู 2 คนบนเกาะห่างไกล กับโจทย์การศึกษาที่เหมือนกับเด็กทั้งประเทศ

นร. 9 ครู 2 คนบนเกาะห่างไกล กับโจทย์การศึกษาที่เหมือนกับเด็กทั้งประเทศ

‘เรียนบนเกาะห่างไกล แต่ความตั้งใจไม่เคยต่างกัน’

นี่คือ “เรื่องจริง” ของโรงเรียนบ้านเกาะนกเภา อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี โรงเรียนประถมเล็กๆ บนเกาะที่ห่างไกล มักสะกิดผู้คนให้สนใจด้วยเรื่องของ ‘จำนวน’ ที่ครูเฉลิมขวัญ ทองสุข หรือ ‘ครูขวัญ’ จากเกริ่นว่า “เวลาพานักเรียนไปออกงานบนฝั่งทีไร เราพูดไปบางทียังไม่มีใครเชื่อเลยว่าโรงเรียนมีเด็กอยู่ไม่ถึงสิบคน”

ที่โรงเรียนแห่งนี้ มีนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 รวมกันทั้งหมด 9 คน กับครูอีก 2 คน (มีเด็กชั้นอนุบาลมาฝากเรียนอีก 2 คน เป็นเด็กเล็กที่ไม่ได้มา รร. ทุกวัน) ด้วยขนาดของโรงเรียนที่เล็กมากๆ ในห้องเรียนเล็กๆ สองห้อง ที่คลอด้วยเสียงลมทะเลซัดคลื่นเข้าหาฝั่งตลอดทั้งวัน 

“ถ้าพูดถึงเรื่องความเสมอภาค เราคิดว่าเด็กพวกนี้ไม่เคยได้รับมาก่อน เราเคยสอนในโรงเรียนใหญ่ๆ ก่อนย้ายมาที่นี่ สิ่งที่เห็นชัดคือมันไม่เสมอกันจริงๆ เด็กพวกนี้เขามีกันอยู่แค่ 9 คน แต่เขาก็ต้องผ่านขั้นตอนชีวิตเหมือนกับเด็กประถมทั้งประเทศ มีปลายทางเหมือนกัน ทำข้อสอบชุดเดียวกัน ได้รับโจทย์เดียวกัน แต่ต้นทุนที่มีมันต่างกัน”   

 

ใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร

เมื่อก่อนนี้ เด็กๆ ไม่เคยได้กินข้าวเช้ากันสักคน เพราะพ่อแม่เขาเป็นชาวประมง ต้องออกอวนแต่รุ่งสาง ในหมู่บ้านก็ไม่ได้มีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง จะหุงหาอาหารแต่ละทีไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างดีเขามาถึงโรงเรียนกันแล้วเราก็พอมีผลไม้ไว้ให้กินบ้าง

ครูขวัญเล่าให้ฟังถึงเรื่องปากท้อง ที่ฉายภาพความต่างของนักเรียนบ้านเกาะนกเภากับเด็กจากโรงเรียนใหญ่ๆ ได้ชัดเจน ผ่านมุมมองจากประสบการณ์ของเธอ “อย่างโรงเรียนเอกชนในตัวเมืองที่เราเคยอยู่ เขาให้ความสำคัญกับมื้อเช้ามาก ส่วนหนึ่งจะได้กินมาจากที่บ้าน ที่ไม่ได้กินทางโรงเรียนเขาก็จัดเตรียมไว้รองรับ แต่เด็กที่นี่ไม่มี”

ก่อนหน้านี้เคยจัดจ้างคนข้างนอกเข้ามาทำอาหารให้ ก็ต้องใช้ต้นทุนที่สูง เพราะของสดที่หาได้จากร้านค้าบนเกาะจะมีราคาสูงกว่าราคาทั่วไป เพราะเขาต้องบวกค่าขนส่งมาจากบนฝั่ง ผู้อำนวยการกับครูก็มาคิดกันต่อ ว่าจะทำอย่างไรดีให้เด็กๆ เด็กได้กินอิ่ม ใช้วัตถุดิบดีๆ ได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่

 

ทำอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียม

สำหรับนักท่องเที่ยว เวลาเดินทางข้ามไปเกาะ ต้องมีเรือเป็นตัวนำทางไปให้ถึงฝั่งอย่างไร โรงเรียนบนเกาะแห่งนี้ก็ต้องหา “วิธี” ที่ต้องพาเด็กๆ ไปถึงฝั่งฝันแห่งความสำเร็จให้ได้อย่างนั้นไม่ต่างกัน

ดังนั้นการบริหารจัดการโรงเรียนจึงต้องมีวิธีการเฉพาะ และครูที่นี่จะไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนหนังสืออย่างเดียว ซึ่งแตกต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปอยู่มาก  

“ที่นี่เราอยู่กันแบบครอบครัว ในฐานะครู เราต้องเป็นทุกอย่างให้เด็กๆ นอกจากสอนด้านวิชาการ เราต้องพร้อมสนับสนุน ส่งเสริม และมอบประสบการณ์ชีวิตให้เขาได้ครบทุกด้าน เพราะชีวิตประจำวันแทบทั้งหมดของเด็กขึ้นอยู่กับเรา” ครูขวัญเล่าต่อ

ที่เป็นอย่างนั้น เพราะเด็กทุกคนในโรงเรียนมาจากครอบครัวชาวประมงที่มีงานยุ่งตลอดทั้งวัน พวกเขาออกเรือกันไปแต่เช้าตรู่ กลับมาก็มีงานต้องทำต่อ จัดการเรื่องปลา เรื่องอวน ง่วนกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ เลยไม่มีเวลาดูแลเด็กๆ มากนัก ครูจึงต้องเข้ามาทดแทนในส่วนนี้ ด้วยความรักและเต็มใจ

และด้วยความเป็นห่วงว่าเด็กๆ จะไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูอีกสองคนจึงต้องช่วยกันหาทางออก โดยวันจันทร์-ศุกร์ ครูทั้งสองคนที่อยู่บ้านพักในโรงเรียนจะเริ่มหน้าที่ประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า หลังจัดการธุระส่วนตัวเสร็จ สิ่งแรกที่ทำไม่ใช่การเตรียมบทเรียนหรือการสอน แต่คือการ เตรียมทำกับข้าว หุงข้าวหม้อใหญ่เผื่อไว้สำหรับทั้งมื้อเช้าและกลางวันของเด็กๆ

เราวางแผนกันว่าตลอดหนึ่งสัปดาห์ว่าเด็กต้องกินอะไรบ้างในแต่ละมื้อ แล้วครูจะหาซื้อทุกอย่างมาเตรียมไว้ ตั้งแต่ข้าวสาร ไข่ ผักสด และเนื้อสัตว์ เราจะซื้อมาจากบนฝั่งหมดเลย ด้วยงบอาหารกลางวันรวมกับทุนจากความช่วยเหลือในส่วนอื่นๆ ที่โรงเรียนได้รับ แล้วเติมเงินส่วนตัวของครูเข้าไปด้วย เราก็จะได้อาหารที่ดีมีประโยชน์เหมาะสมกับเด็ก และมีปริมาณมากพอให้เด็กๆ กินอิ่มกันทุกคน

 

เมื่อกองทัพได้เดินด้วยท้อง

“พอเรามีมื้อเช้าให้กิน เด็กๆ เขาก็มาโรงเรียนเช้ายิ่งกว่าเดิม มารอกินข้าวต้ม บางวันเป็นซาลาเปากับนม หรือวันไหนที่กับข้าวเสร็จเร็ว ของที่เตรียมไว้เป็นมื้อกลางวันก็แบ่งมากินกันได้ตั้งแต่ช่วงเช้าก่อนเริ่มเรียน” 

“พอเราทำเองแล้วเติมงบเพิ่มเข้าไป เด็กก็ได้กินของดีๆ เกือบทุกมื้อ มีอาหารที่หลากหลายขึ้น แทนที่จะมีกับข้าวแค่อย่างเดียว บางอาทิตย์ครูกลับบ้านไป ได้ผลไม้ติดมือมาด้วยพวกกล้วยหรือแอปเปิ้ล เราก็ขนจากฝั่งมาให้เด็กๆ กินกัน อาทิตย์ไหนไม่มีเราก็ชวนกันไปซื้อที่ตลาด ก็ดีใจที่เห็นเขาได้กินกันอย่างเอร็ดอร่อย อย่างบางวันเราทำไข่พะโล้หมูสามชั้น หรือคั่วกลิ้งหม้อใหญ่ๆ เด็กๆ จะชอบกินกันมาก” ครูขวัญอธิบายเมนูเด็ด

 

9+2 = 100

ด้านการเรียนการสอน การที่มีเด็กคละชั้นเรียนตั้งแต่ ป1-6 แบ่งเป็นระดับชั้นละ 1-2 คน ครูที่มีอยู่ 2 คนจึงต้องแบ่งชั้นเรียนเป็น 2 ห้อง แยกเป็นชั้นเด็กเล็กและเด็กโต ในบางรายวิชาก็ใช้วิธีให้พี่ช่วยดูแลน้องๆ 

“แม้จะอยู่ในโรงเรียนเล็กๆ แต่สิ่งต่างๆ ที่เขาต้องเผชิญไม่ว่าจะบทเรียนหรือการสอบแข่งขันต่างๆ
มันคือความท้าทายเดียวกันกับเด็กประถมทั้งประเทศ
ครูจึงต้องพยายามสร้างความพร้อมทุกด้านให้เขา”

แม้เด็กของเราจะมีกันอยู่แค่ 9 คน แต่พวกเขาก็ต้องเรียนหลักสูตรเดียวกัน ต้องวัดผลประเมินทุกอย่างเหมือนกันกับเด็กอื่นๆ อีกนับแสนคน บางรายวิชาเช่นการทดลองวิทยาศาสตร์อุปกรณ์การเรียนก็ยังมีไม่พอ การจัดสรรความช่วยเหลือต่างๆ ก็ยังไม่อาจจะเทียบกับโรงเรียนใหญ่ๆ ได้ ด้วยพื้นที่ ด้วยสภาพแวดล้อม ขนาดของโรงเรียน เรามองว่ายังมีสิ่งที่พวกเขาควรได้รับมากกว่านี้

แต่ผลการเรียนของเด็กๆ นั้นสามารถแข่งขันในระดับอำเภอหรือระดับจังหวัดได้เลย การันตีผลงานเป็นรูปธรรมด้วยการเข้าแข่งขันทักษะวิชาการ พวกเขาสามารถคว้ารางวัลติดมือกลับมากันได้ทุกคน รวมถึงมีผลสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (NT: National Test) ระดับชั้น ป.3

จากผลคะแนนรวมความสามารถทั้ง 3 ด้าน (ด้านภาษา/การคำนวณ/ด้านเหตุผล) ปรากฏว่าเด็กจากในโรงเรียนได้คะแนนเฉลี่ยถึง 79.04 % เป็นที่ 1 ของเขตการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ซึ่งตัวเลขความสำเร็จนี้ ไม่ได้เกิดจากความเอาใจใส่ของครูเพียงอย่างเดียว แต่มาจากความพยายามที่จะพิสูจน์ตัวเองของเด็กๆ เองด้วย 

จำนวนที่เด็กๆ และครูมีกันแค่นี้จึงไม่ใช่ปัญหา มันคือสูตรที่ว่า 9+2 = 100
คือจำนวนคนที่นี่อาจจะหลักสิบ แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจนั้นหลักร้อย

“สิ่งที่ครูทุกคนที่นี่ทำได้คือ เรามุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เด็กได้รับโอกาส ได้ค้นพบสิ่งที่ดีในตัวเอง ขัดเกลาทักษะเขาให้พร้อมออกไปวัดความสามารถกับเด็กจากโรงเรียนใหญ่ๆ เราคิดว่าเด็กทั้ง 9 คนเขามีทักษะชีวิตที่ดี มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง แม้จะอยู่ในโรงเรียนเล็กๆ แต่สิ่งต่างๆ ที่เขาต้องเผชิญไม่ว่าจะบทเรียนหรือการสอบแข่งขันต่างๆ มันคือความท้าทายเดียวกันกับเด็กประถมทั้งประเทศ ครูจึงต้องพยายามสร้างความพร้อมทุกด้านให้เขา เราจะพูดกับเด็กๆ เสมอว่า ชีวิตพวกเธอไม่ได้มีอยู่แค่ที่เห็นตรงนี้ แต่มันยังมีเส้นทางข้างหน้าอีกมากที่ต้องเจอและจะต้องก้าวไปถึงให้ได้” ครูขวัญปิดท้าย      

เป็นแรงบันดาลใจให้ครูและโรงเรียนที่ยังขาดโอกาสในแต่ละพื้นที่ สามารถนำไปปรับใช้ได้ เพราะขนาดโรงเรียนบนเกาะที่อยู่ห่างไกล แต่เรื่องการศึกษาของพวกเขานั้นใกล้กัน นั่นแหละกุญแจดอกสำคัญของความเท่าเทียม

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค