“มะสากิ มีมะ” เด็กหนุ่มผู้สร้างปาฏิหาริย์ด้วยการออกเดิน

“มะสากิ มีมะ” เด็กหนุ่มผู้สร้างปาฏิหาริย์ด้วยการออกเดิน

ทุกปาฏิหาริย์มีจุดเริ่มต้นที่ความพยายาม
เด็กหนุ่มผู้ก้าวข้ามทุกขีดจำกัดของตัวเอง

เด็กหนุ่มร่างเล็กที่กำลังยิ้มแก้มปริอยู่ในอ้อมกอดของ “พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา” นายกรัฐมนตรี คือน้อง “มะสากิ มีมะ” หรือ “ซาเก๊ะ” ในวัย 16 ปี ที่ออกสื่อเป็นครั้งแรก เมื่อเดือน สิงหาคม 2562 ในงานเยี่ยมชมศูนย์ประสานงานกิจการเด็กและสตรีที่ จ.ยะลา

 

16 ปีที่สูญหายจากระบบการศึกษา

16 ปีคือวันเวลาที่มะสากิต้องหายไปจากระบบการศึกษา ด้วยความบกพร่องทางร่ายกายแขนขามีสภาวะอ่อนแรง กระดูกขาและเท้าพับผิดรูป จนหมอลงความเห็นว่า “ไม่สามารถเดินได้ไปตลอดชีวิต” อีกทั้งครอบครัวยังมีรายได้ไม่พอจะจ่ายค่ารักษา ทำให้เขาไม่มีโอกาสไปโรงเรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ

 

ปี 2545-2559 บททดสอบวัดใจ

ก่อนที่เรื่องราวจะถูกนำมาลงสื่อ “มะสากิ” หนุ่มน้อยจาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา ต้องผ่านบททดสอบมากมายตลอดช่วงเวลา 16 ปี ตั้งแต่วัยเด็กที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากมากมาย ทั้งเสียงล้อเลียน ถูกกีดกันจากเด็กอื่น ด้วยความที่รูปร่างแตกต่าง แต่เรื่องพวกนั้นไม่เคยบั่นทอนความแน่วแน่ที่จะเอาชนะข้อจำกัดของตัวเอง “ถึงจะเดินไม่ได้ แต่สมองยังดีอยู่ มือเท้ายังพอใช้ได้ ดังนั้นเราต้องทำอะไรได้มากกว่าที่คนอื่นๆ เห็น”

เขาฝึกฝนตัวเองให้เคลื่อนไหวไปยังที่ต่างๆ ในบ้านบนฐานรองถังแก๊สติดล้อ จนมีวีลแชร์เป็นของตัวเอง ซึ่งใครๆ ต่างก็มองว่านั่นคือของขวัญที่ดีที่สุดของเขาแล้ว แต่หัวใจของเด็กหนุ่มไม่ได้มีเป้าหมายแค่นั้น เพราะเชื่อเสมอว่าจะลุกขึ้นเดินได้ด้วยขาของตัวเอง และไม่แน่ว่าวันหนึ่ง…อาจจะไปโรงเรียนได้

 

2560-2561 : ออกก้าว

2560- เมื่อมะสากิอายุได้ 15 ปี พ่อก็หาไม้ค้ำช่วยเดินมาให้ ซึ่งคราวนี้เขาไม่เพียงลุกจากวีลแชร์ไปหาไม้ค้ำ แต่ยังต่อสู้กับความเจ็บปวดด้วยการทำกายภาพบำบัดเอง โดยใช้มือช่วยเหยียดขากับเท้าให้ค่อยๆ คลายออกซ้ำๆ ทุกวัน ร่วมกับการลุกขึ้นหัดเดิน 

จน 1 ปีผ่านไป ในที่สุดก็บิดดัดร่างกายตัวเองจนขากับเท้าที่เคยพับกลับยืดตรง พร้อมกับเริ่มยืนบนขาตนเองโดยปราศจากไม้ค้ำ ฝึกเดินทุกวัน วันหนึ่งก็สามารถออกเดินด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีอะไรมาช่วยอีก

 

แค่เดินได้ยังไม่พอ ต้องสานต่อฝันที่อยากเรียน

พอเริ่มเดินได้มะสากิเริ่มคิดถึงการเรียนหนังสือ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยผ่านระบบการศึกษามาก่อนเลยจนอายุ 16 ปี ทั้งตัวเขา ครอบครัว หรือครูอาสาในชุมชน ทุกคนไม่มีใครรู้ว่าต้องเริ่มต้นจากตรงไหน

เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประตูสู่การศึกษาของเด็กนอกระบบนับแสนคนในประเทศไทยกำลังจะเปิดขึ้นพร้อมกัน หลังกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีโครงการสำรวจเด็กนอกระบบ เพื่อหาทางจัดการศึกษาที่เหมาะสมเป็นรายกรณี เรื่องของมะสากิจึงถูกเสนอเข้าไป

 

ปี 2562 เปิดประตูสู่โอกาส

ถึงเดือนพฤศจิกายน 2562 มะสากิก็ได้เดินตามฝันที่รอมาทั้งชีวิต ด้วยการเข้าร่วมเรียนในชั้นอนุบาล 3 ที่ โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. ซึ่งเป็นการจัดการศึกษารูปแบบพิเศษ เพื่อปูพื้นฐานการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับมะสากิ โดย ‘โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ ภายใต้ความร่วมมือของ กสศ. กับ กศน. ท้องที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จ.ยะลา และภาคีเครือข่ายทุกระดับ

 

เส้นทางการศึกษาที่ต่างออกไป

ด้วยความที่ไม่เคยเรียนมาก่อน มะสากิจึงต้องปูพื้นฐานภาษาไทย ร่วมกับเด็กชั้นอนุบาล 3 เพื่อเรียนรู้ทักษะด้านสังคม ปรับตัวกับห้องเรียน 

ซึ่งทุกวันเขาจะมาโรงเรียนแต่เช้าเพื่อรอเวลาเข้าห้องเรียน ในคาบเรียนปกติ เช้า-เที่ยง จะมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยครูดูแลน้องๆ พอถึงช่วงบ่าย น้องๆ เข้านอนแล้ว ก็จะได้มาเรียนอ่านเขียนเบื้องต้นกับ “ครูเอ๋-มณีรัตน์ ขาวทอง” ครูประจำชั้นอนุบาล 3 แบบตัวต่อตัว

ครูเอ๋เล่าว่ามะสากิไม่เคยขาดเรียนแม้แต่วันเดียว หลังเลิกเรียนเขาจะกลับไปทบทวนสิ่งที่ครูสอน และด้วยพัฒนาการที่ดีขึ้นทุกครั้งหลังกลับมาเจอกัน แสดงให้เห็นว่าเขาทบทวนบทเรียนอย่างหนักทุกวัน

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสักคนต้องมาเริ่มเรียนอ่านเขียนตอนอายุย่างเข้า 17 โดยเฉพาะในภาษาที่ไม่คุ้นเคย (อำเภอบันนังสตาใช้ภาษามลายูถิ่น) แต่มะสากิแสดงให้เห็นว่า การที่เขาพูดว่าเขาอยากเรียนหนังสือมาตลอดชีวิต ‘เขาหมายความตามนั้นจริงๆ’

พี่สาวมะสากิเคยเล่าให้ฟังว่าทุกวันน้องจะกลับไปทวนบทเรียน ฝึกออกเสียงคนเดียวจนถึงเวลาเข้านอน วันหยุดก็ไม่ไปไหน อยู่บ้านฝึกอ่านหนังสือที่ครูเอ๋เลือกให้

และด้วยพลังที่อยากเรียนรู้รวมกับหัวใจที่ไม่เคยย่อท้อของเขา ครูเอ๋ยินดีที่จะบอกกับทุกคนที่ได้ช่วยเหลือและมอบกำลังใจให้กับมะสากิมาตลอด ว่า  ‘วันนี้มะสากิสามารถอ่านออกและเขียนได้แล้ว’ หลังจากใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ตั้งแต่เข้ามาเรียน

 

“ปาฏิหาริย์” อยู่ที่ใจ และ ‘การได้รับโอกาสที่เหมาะสม’

มะสากิเอาชนะทุกอุปสรรคชีวิตโดยมีความพยายามเป็นที่ตั้ง และหากจะนิยามคำว่า ‘ปาฏิหาริย์’ สิ่งๆ  นั้นก็คือหัวใจของเขาเองที่เชื่อมั่นเสมอว่าจะทำได้ ร่วมด้วยโอกาสดีๆ ที่ช่วยผลักดันให้เขาได้แสดงความสามารถที่มีออกมา

มะสากิคือผลลัพธ์จากองค์ประกอบของความพร้อมทุกด้านที่มาบรรจบกัน เขามีใจมุมานะจะทำให้ได้ แต่อีกด้านหนึ่งคือ เมื่อหัวใจนั้นได้รับโอกาสที่เหมาะสม เขาได้รับการค้นพบ ได้รับความช่วยเหลือ ได้เข้าเรียนในรูปแบบที่เราใส่ความรู้ให้เขาได้เต็มที่ทุกวัน หลายอย่างที่ประกอบกันนี้จึงทำให้เขาเรียนรู้ได้เร็วขึ้นด้วย เป็นพัฒนาการที่พิเศษตั้งแต่จุดเริ่มต้น แม้จะต้องเจอข้อแม้ที่หนักกว่าคนอื่น แต่ก็ยังมุ่งมั่นเสมอ สิ่งนี้แหละที่เป็นความพิเศษในตัวเขา” ครูเอ๋กล่าวปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม 

 

เรื่องราวการออกเดินของ “มะสากิ ไม่เพียงแต่จะพาตัวเองก้าวข้ามอุปสรรคและข้อจำกัดที่มีเท่านั้น แต่ยังได้พาหัวใจของผู้คนรอบข้างที่คอยเอาใจช่วยเขา ให้มีกำลังใจพร้อมสู้ไปด้วยจนสุดทาง ทำให้รู้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เท่าใจเราเอง 

มะสากิได้สู้แล้ว เราทุกคนก็ต้องสู้เหมือนกัน “กสศ.” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่มีเป้าหมายได้ลงมือทำจนสำเร็จสมความตั้งใจ,,,

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค