เตือน COVID-19 ทำนักเรียนไร้บ้านในแคลิฟอร์เนียเสี่ยงหลุดออกระบบการศึกษา

เตือน COVID-19 ทำนักเรียนไร้บ้านในแคลิฟอร์เนียเสี่ยงหลุดออกระบบการศึกษา

นอกจากเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสที่มีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษา เพราะการที่ต้องปิดโรงเรียน เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่า แล้ว เหล่าเด็กนักเรียนไร้บ้านในแคลิฟอร์เนีย ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่อาจหลุดจากระบบการศึกษาที่หลายฝ่ายมองข้ามไป

Carolyn Jones ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ EdSource เว็บไซต์แหล่งความรู้และบทความด้านการศึกษาออนไลน์ในสหรัฐฯ รายงานกึ่งเตือนว่า ขณะที่ โรงเรียน สถาบันการศีกษา และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน ในการจัดเตรียม แท็บเล็ตส์ หนังสือเรียน เอกสารการเรืยน และระบบบันทึกเข้าเรียน ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มมากที่สุด กระนั้น ก็ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง ในพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ เด็กกลุ่มที่ว่านี้ก็คือ บรรดาเด็กนักเรียนไร้บ้าน ซึ่งโดยหลักแล้วหมายถึง บรรดาเด็กจากครอบครัวที่ไม่มีที่อยู่อาศัยในพื้นที่เป็นหลักเป็นแหล่ง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่โรงเรียนและพนักงานที่เกี่ยวข้อง ต่างยอมรับว่า นักเรียนไร้บ้านในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีอยู่ราว 195,000 คน นี้ ยากที่จะติดต่อได้ จึงทำให้เด็กกลุ่มนี้เสี่ยงเรียนช้าล้าหลังตามเพื่อนไม่ทันในช่วงที่ต้องปิดโรงเรียน 

โดยนับตั้งแต่ที่ทางการสหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์และเว้นระยะห่างทางสังคมในเดือนมีนาคม บรรดาครอบครัวไร้บ้าน ต่างจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออกจากที่อยู่อาศัยชั่วคราวของตนเอง ด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งมีตั้งแต่คนที่ต้องออกจากที่อยู่อาศัยอย่าง ห้องพัก บ้านเช่า หรือ โมเต็ล เพราะตกงานจนไม่เงินจ่ายค่าเช่า ไปจนถึงการเลือกระเห็จออกจากที่พักชั่วคราวที่ทางการจัดการให้ เพราะหวาดกลัวว่าจะติดเชื้อจากการร่วมอาศัยกับคนแปลกหน้า

Susanne Terry ผู้ประสานงานบริการคนไร้บ้าน สำนักการศึกษาเขตซานดิเอโก กล่าวว่า แต่เดิมการระบุและติดต่อ เด็กนักเรียนจากครอบครัวไร้บ้านเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว และสถานการณ์ COVID-19 ทำให้กระบวนการเป็นเรื่องที่ยากกว่าเดิม 

“โรงเรียนเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่ทำให้พวกเราสามารถติดต่อกับเด็กเหล่านี้ ให้พวกเขาได้เรียนอย่างต่อเนื่องและได้รับความช่วยเหลืออย่างดี ทว่า สิ่งที่เรากังวลตอนนี้ก็คือการที่ไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวของเด็กเหล่านี้ จนทำให้เด็กต้องหายไปจากระบบการศึกษา” Terry กล่าว

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ McKinney-Vento Act ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โรงเรียนตามเขตเมืองต่างๆ ต้องรับนักเรียนไร้บ้านมาดูแล และให้ความช่วยเหลือพิเศษ อย่าง ค่าใช้จ่ายในเรื่องการเดินทางมาเรียน หรือ อุปกรณ์การเรียนที่เกี่ยวข้อง โดยนักเรียนไร้บ้านนี้ หมายรวมถึง เด็กที่อาศัยอยู่ตามท้องถนน ที่พักชั่วคราว โรงแรมโมเต็ล รถยนต์ หรือขอแบ่งที่พักกับครอบครัวอื่น และการเร่ร่อนนอนตามบ้านของผู้อื่น (Couch-surfing)

แน่นอนว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้ในช่วงที่ต้องปิดโรงเรียนหนี COVID-19 ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนจำเป็นต้องดำเนินทุกแนวทางเพื่อให้มั่นใจว่า นักเรียนไร้บ้านเหล่านี้ จะได้รับบริการและความช่วยเหลือจากทางโรงเรียนตามที่สมควรได้รับ

Barbara Duffield กรรมการผู้อำนวยการ Schoolhouse Connection องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไร้บ้านในวอชิงตัน ยกตัวอย่างบริการที่เด็กไร้บ้านสมควรได้รับขณะที่โรงเรียนปิดทำการ เช่น โรงเรียนต้องสนับสนุนเงินค่าเดินทางสำหรับให้เด็กไร้บ้านเหล่านี้มารับอาหารกลางวันฟรีหรือ แท็บเล็ต ที่โรงเรียน หากว่าเด็กไม่มีค่าเดินทาง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Duffield วิตกกังวลมากกว่า ก็คือปัญหาที่มีแนวโน้มจะตามมาหลังจากนี้ ในช่วงที่ COVID-19 กำลังคลี่คลาย เพราะตัวเลขเด็กนักเรียนไร้บ้านมีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากครอบครัวตกงาน ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าหรือค่าที่พักได้ ซึ่งหากทางโรงเรียนไม่สามารถระบุเด็กเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เด็กเหล่านี้ต้องพลาดโอกาสและสูญเสียอนาคตทางการศึกษาที่สำคัญต่อชีวิต

ความวิตกกังวลดังกล่าว สอดคล้องกับ Ana Santana  ผู้อำนวยการโครงการ Healthy Start ซึ่งเป็นโครงการทุนสนับสนุนจากรัฐในการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข ที่ปรึกษาและบริการเพื่อครอบครัวรายได้น้อยและให้การอุปการะเยาวชน ในเขตชนบทห่างไกลอย่าง Lake County ที่พบว่า จำนวนครอบครัวไร้บ้านเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ในช่วงล็อคดาวน์ 

เหตุผลเพราะ ครอบครัวส่วนใหญ่ในพื้นที่ทำงานในอุตสาหกรรมบริการและการสันทนาการ ซึ่งการล็อคดาวน์ทำให้พวกเขาต้องตกงาน กลายเป็นคนไร้บ้านไปโดยปริยาย กระนั้น นอกจากต้องช่วยเหลือให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือตามทันเพื่อนๆ แล้ว สิ่งที่ต้องช่วยเหลือเป็นอย่างมากก็คือการมอบอาหารและสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในช่วงที่ครอบครัวขาดรายได้

โดย Santana กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้ก็คือการพยายามติดต่อกับครอบครัวเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอและแจ้งให้ทราบว่า ทางรัฐมีบริการและความช่วยเหลืออะไรที่ครอบครัวเหล่านี้สามารถร้องขอได้

ด้าน Michael Paredes ครูใหญ่โรงเรียนโมนาร์ช ในซานอิเอโก กล่าวว่า โรงเรียนในขณะนี้มีนักเรียนไร้บ้านอยู่ในความดูแล 267 คน ซึ่งทางโรงเรียนได้ให้คุณครูติดต่อเด็กไร้บ้านกลุ่มนี้ทุกคนและทุกวัน เพื่อให้แน่ใจว่า เด็กยังสบายดี และไม่หายไปไหน โดยทางโรงเรียนจะจัดส่งแท็บเล็ต ที่ชาร์จ บัตรของขวัญ บัตรลดราคา ตั๋วรถบัส จุดบริการไว-ไฟ อุปกรณ์ทำความสะอาด และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ เพื่อช่วยเด็กๆ เหล่านี้ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ครูใหญ่อย่าง Paredes อดกังวลไม่ได้ก็คือการที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เด็กเหล่านี้จะขาดการติดต่อไป เพราะขณะนี้ มีหลายครอบครัว ค่อยๆ ย้ายออกไปอาศัยอยู่ใกล้ชายแดนเม็กซิโกมากขึ้น เนื่องจากค่าที่พักที่ถูกกว่า 

ทั้งนี้ Duffield กรรมการผู้อำนวยการ Schoolhouse Connection ได้เรียกร้องให้โรงเรียน จัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนไร้บ้านเหล่านี้ เพราะจนถึงขณะนี้ งบประมาณเยียวยา COVID-19 อย่าง Relief and Economic Security Act ที่รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามบังคับใช้เมือเดือนมีนาคม ซึ่งรวมถึงงบ 13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโรงเรียนทั่วประเทศนี้ ไม่ครอบคลุมถึงเด็กไร้บ้าน

ขณะเดียวกัน ประเด็นที่หลายฝ่ายมองข้ามก็คือ เงื่อนไขและบริบทแวดล้อมของครอบครัวและเด็กไร้บ้าน ที่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนละเอียดอ่อน ซึ่งต้องการความช่วยเหลือด้านการศึกษามากกว่าปกติในยามที่ต้องปิดโรงเรียน โดย Alexander หนึ่งในเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ทางครอบครัวต้องอาศัยนอนตามโรงแรม ยอมรับว่า แม้จะได้รับ Chromebook จากทางโรงเรียน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะเรียนหนังสือจากห้องพักของโรงแรม ซึ่งระบบอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร และยังมีน้องเล็กๆ ให้ต้องดูแล ทำให้เจ้าตัวต้องอาศัยไปนั่งตามร้านแมคโดนัลด์ เพื่อเรียนและทำการบ้าน

ดังนั้น การช่วยเหลือเด็กไร้บ้านเหล่านี้ จึงควรมีมากกว่ามาตรการช่วยเหลือปกติเมื่อเทียบกับเด็กนักเรียนทั่วไป ที่อย่างน้อยก็มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง โดยแม้จะเป็นเรื่องดีที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาบางแห่งพยายามใส่ใจเป็นพิเศษกับเด็กไร้บ้านกลุ่มนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายแห่งกลับมองข้ามปัญหาดังกล่าว ซึ่งความไม่ใส่ใจแค่เพียงเล็กน้อยนี้ ก็มีพลังเพียงพอที่จะทำให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา จนเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กกลุ่มนี้ต้องใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านนานมากขึ้น

Duffild กล่าวย้ำว่า การให้ความช่วยเหลือนักเรียนไร้บ้าน ควรจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของมาตรการช่วยเหลือ ยิ่งในห้วงเวลาวิกฤติยิ่งต้องใส่ใจให้มากขึ้นหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการด้านการศึกษา เพราะเกี่ยวพันถึงอนาคตของบุคคล ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 

 

ที่มา : Carolyn Jones นักเขียนและนักข่าวอาวุโสของ EdSource ผู้เกาะติดประเด็นด้านนโยบายรัฐ นโยบายสาธารณะ สิ่งแวดล้อม การศึกษา และสุขภาวะที่ดีของนักเรียน
California’s homeless students at risk of falling through the cracks during pandemic
ภาพต้นฉบับ : ALISON YIN/EDSOURCE
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา