“เด็กจะดีได้ด้วยการศึกษา เราจึงมีชีวิตอยู่เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้” – ครูแมว-นารีรัตน์ ดาวสนั่น

“เด็กจะดีได้ด้วยการศึกษา เราจึงมีชีวิตอยู่เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้” – ครูแมว-นารีรัตน์ ดาวสนั่น

การศึกษาจะผลิบาน ถ้าเราเข้าไปช่วยดูแลไว้ได้ทัน

 

“เมื่อเวลาที่เด็กคนหนึ่งถูกผลักให้พ้นหลุดไปจากการศึกษา นั่นไม่ได้หมายถึงแค่ความตกต่ำของตัวเขาคนเดียว แต่มันคือภาพสะท้อนปัญหาของสังคมทั้งหมด”

ความในใจจากคุณครู  ‘นารีรัตน์ ดาวสนั่น’ หรือ ‘ครูแมว’ จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัดเชียงใหม่ ที่พูดถึงผลลัพธ์จากปัญหาเด็กเร่ร่อนในมุมของเธอ จากประสบการณ์ทำงานในฐานะ ‘ครู’ บนท้องถนนที่นี่มากว่า 10 ปี โดยเฉพาะการดูแลเด็กเร่ร่อนในย่านตลาดวโรรส หรือที่คนเชียงใหม่เรียกกันติดปากว่า ‘กาดหลวง’ ซึ่งเป็นย่านที่มีเด็กกลุ่มนี้มารวมตัวกันอยู่มากที่สุด

ครูแมวผู้ดูแลเด็กเร่ร่อนจากกาดดอกไม้กว่า 26 ชีวิต และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการใช้การศึกษา นำพาให้เด็กพ้นจากชีวิตบนท้องถนน เป็นเวลากว่า 1 ทศวรรษที่ครูแมวคลุกคลีอยู่กับเด็กๆ เหล่านี้  ครูแมวบอกกับเราว่างานของเธอคงไม่มีวันเสร็จสิ้น ตราบเท่าที่ยังมีเด็กแม้เพียงแค่ 1 คนที่ไม่ได้รับการศึกษา ขาดที่พักพิง ไม่มีที่ไป หรือมองไม่เห็นว่าจะมีชีวิตต่อไปอย่างไรในอนาคต

 

ทำไมถึงต้อง“เด็กเร่ร่อน”

การเป็น “เด็กเร่ร่อน” มีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโตขึ้น ตั้งแต่ปัญหาภายในครอบครัว ทั้งการที่พ่อแม่มีลูกแล้วไม่พร้อมจะดูแล การถูกทำร้ายด้วยความรุนแรง การต้องอยู่ท่ามกลางความไม่เข้าใจกัน ที่บ้านเข้มงวดเกินไป หรือเด็กบางคนต้องโตมาในสถานสงเคราะห์ที่มีวิธีการ มีกฎระเบียบบางอย่างที่ไม่เหมาะกับเขา

ไม่มีใครอยากออกจากบ้านมานอนบนถังน้ำแข็ง บนพื้นซีเมนต์ในตลาด หรือเดินเร่ร่อนขอเงินตามท้องถนนหรอก  แต่ในเมื่อบ้านหรือสถานเลี้ยงดู ไม่ให้การยอมรับเขา หรือไม่สามารถทำให้เขาอุ่นใจได้ เขาก็จะหนีออกมา เด็กพวกนี้คือภาพสะท้อนของปัญหาสังคมหากเราปล่อยไว้อย่างนั้น ก็จะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ

ปี 2552 ครูแมวสอบจนได้รับตำแหน่งครูโครงการเด็กเร่ร่อน ทั้งที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเข้ามาทำงานในระบบราชการ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ‘เด็กเร่ร่อน’ คืออะไร รู้แค่เป็นงานที่ต้องลุย ต้องไปหาเด็กด้วยตัวเอง 

พอได้เข้ามาทำตรงนี้จริงๆ ครูแมวก็ต้องลงพื้นที่ไปกับทีมครูทุกคืนในช่วง 4-5 ทุ่ม เพราะเป็นเวลาที่เด็กๆ จะออกมาทำมาหากิน อย่างกลุ่มเด็กขายดอกไม้แถวไนทบาร์ซ่า เป็นต้น จนคุณพ่อเธอถามว่า ‘ทำงานเป็นครูทำไมออกจากบ้านดึกๆ ดื่นๆ?’ ซึ่งเธอเองก็ไม่รู้จะตอบยังไงในตอนนั้น

เมื่อครั้งที่ครูแมวเริ่มเข้ามาดูแลกลุ่มเด็กที่กาดหลวง ก็ได้พบว่ามีเด็กหลายคนไม่ได้เล่าเรียน บางคนเรียนจบชั้นประถม หรือบางคนมีปัญหาจนต้องเข้าออกสถานพินิจหลายครั้ง ส่วนหนึ่งทำงานร้านดอกไม้แล้วก็พักอาศัยอยู่แถวนั้น เด็กๆ เหล่านี้ล้วนไม่มีที่ไป ครูจึงมองว่าถ้าปล่อยพวกเขาไว้ตรงนั้นโดยไม่ทำอะไรเลย อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาสังคมมันเกิดขึ้น 

 

แนวคิดการสอนของครูแมว
เปิดใจเด็กก่อน เด็กจึงจะเปิดรับการเรียน

ความท้าทายของครูแมว ในการเริ่มเข้าช่วยเหลือกลุ่มเด็กเร่ร่อน คือสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่เดิมของเด็กๆ ทั้ง เรื่องยาเสพติด การลักขโมย การทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกาย สิ่งที่ครูแมวทำคือสร้างความไว้ใจและเปิดใจยอมรับพวกเขา เธอจึงเข้าใจว่าพวกเขาแต่ละคนล้วนแต่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับการเอาชีวิตรอด ซึ่งอาจหล่อหลอมให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือพูดจาไม่เหมาะสม แต่พอเธอได้ใช้เวลากับกลุ่มเด็กเร่ร่อนมากขึ้น ยิ่งทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่ซ่อนอยูในตัวพวกเขานั้นคือความเปราะบาง หวาดกลัว และบอบช้ำจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต

“ใช้เวลานานนะ กว่าจะเข้าถึงใจเด็กสักคนได้ ให้เขายอมคุยกับเรา เชื่อใจเรา กว่าจะเจอวิธีที่เหมาะสมในการเข้าหา กว่าเขาจะยอมรับว่าเราเป็นพี่เป็นครูของเขา เป็นคนที่ดูแลช่วยเหลือเขาได้ หรือเปลี่ยนเขาจากคนที่ปฏิเสธไม่เคยคิดจะเรียน จนหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนได้ เพราะเขาเชื่อแล้วว่ามันจะช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น”

 

ความตั้งใจที่ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้

แล้วจุดเปลี่ยนที่เข้ามาทดสอบใจก็เกิดขึ้น เมื่อครูแมวมีโอกาสที่จะไปสอบครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนเฉกเช่นครูท่านอื่นๆ แต่เธอตัดสินใจที่จะทำงานดูแลกลุ่มเด็กเร่ร่อนที่นี่ต่อไป 

“ถ้าเราไปสักคนหนึ่งแล้วเขาจะอยู่กับใคร ใครจะคอยช่วยพวกเขา พวกเขาไม่เคยมีใครเลยจนวันนี้ที่เขายอมรับเรา ถ้าเสียเราไปอีกคน ไม่รู้ว่าพวกเขาจะยอมไว้ใจใครได้อีก นั่นทำให้เราไม่สามารถทิ้งพวกเขาไปได้” 

การดูแลเด็กคนหนึ่งต้องใช้เวลา บางครั้งการช่วยเหลือจะไม่สำเร็จ หากใจเด็กคนนั้นยังไม่พร้อม สุดท้ายเขาก็จะกลับไปใช้ชีวิตเร่ร่อนเหมือนเดิม

ทุกวันนี้ ยังคงมีคนรอบตัวที่ตั้งคำถามกับครูแมวว่า ทำไมยังคงทำสิ่งนี้อยู่ ซึ่งคำตอบในใจของเธอคือ การได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า “เด็กทุกคนมีศักยภาพเท่าเทียมกัน เพียงแค่พวกเขาไม่ได้มีประสบการณ์แบบเดียวกันในการเติบโตขึ้นมาเท่านั้นเอง”

ทุกวันนี้ครูแมวได้ช่วยเด็กเร่ร่อนจากกาดหลวงรวมทั้งหมด 26 คน ให้ได้เข้าเรียนที่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ และเธอยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเด็กอีกหลายคนที่สามารถใช้การศึกษาพาตัวเองพ้นไปจากชีวิตบนท้องถนนได้

“เราเชื่อว่าเด็กทุกคนจะดีได้ด้วยการศึกษา เราจึงมีชีวิตอยู่เพื่อทำงานและพิสูจน์เรื่องนี้ และดีใจที่ได้รู้ว่ามีคนอีกมากที่คิดแบบเดียวกัน เพราะการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ต้องอาศัยคนหลายกลุ่มมาช่วยกัน ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง เพราะสุดท้ายแล้วหากไม่มีใครยื่นมือไปช่วยพวกเขา บั้นปลายของมันก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมที่วกกลับมาหาพวกเราทุกคน” ครูแมวกล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณครูแมว ผู้เป็นแรงบันใจให้กับผู้อ่าน และเป็นพลังให้กับบุคลากรอีกมากมาย สำหรับผู้อ่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ ครูแมว คุณเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่ง ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ โดยเริ่มจากหัวใจของการเป็นผู้ให้และอยากส่งต่อคุณค่าเหล่านี้ให้ผู้อื่น เพียงเท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงแล้ว

หากสนใจร่วมบริจาคเงินสนับสนุน “โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ซึ่งเป็นโครงการที่ให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้ได้กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาภายใต้รูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทั้งการกลับเข้าเรียนปกติและการเลือกเรียนฝึกทักษะอาชีพ เพื่อให้สามารถดำรงชีพเลี้ยงตนเองได้


ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค