คุณภาพการศึกษาเริ่มได้ง่ายๆ แค่เปลี่ยนตารางสอนใหม่

คุณภาพการศึกษาเริ่มได้ง่ายๆ แค่เปลี่ยนตารางสอนใหม่

การเรียนในรูปแบบเดิมๆ อย่างการนั่งจดตามสิ่งที่ครูเขียนบนกระดาน และกลับไปท่องจำเนื้อหาในตำรา ใครจำได้แม่นยำกว่าก็จะได้คะแนนมากกว่า กำลังจะกลายเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ตกยุค และไม่ตอบโจทย์ทักษะการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21  ซึ่งต้องการให้เด็กคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ด้วยตัวเอง

 

การเปลี่ยนตารางสอนจึงถือเป็นประตูบานแรกที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน

​โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างที่เริ่มเปลี่ยนตารางสอน เลิกยึดติดกับรายวิชา และจัดหมวด บูรณาการเรียนรู้ในวิชาต่างๆ เข้ามาเป็นการเรียนแบบเรียนรู้ด้วยปัญหาเป็นฐาน หรือ Project- Based Learning (PBL)  ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นความรู้ที่อยู่กับตัวเด็กไปนานกว่าการท่องจำเพียงอย่างเดียว

ครูพวงชมพู เฮ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง อธิบายว่า สิ่งที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือเด็กกล้าแสดงออกจากเดิมที่เด็กส่วนใหญ่เป็นปกากญอ เดิมไม่กล้าแสดงออก ตอนนี้กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้านำเสนอหน้าชั้น มีความมั่นใจในตัวเอง มีความรับผิดชอบกับงานที่ได้รับ มีความมุ่งมั่นเต็มใจทำงานที่ได้รับ

 

เปลี่ยนใบหน้าบูดบึ้งเป็นเสียงหัวเราะ

 อีกด้านผลที่เกิดขึ้นกับครูก็คือครูมีมายด์เซ็ตเกี่ยวกับเรียนรู้เปลี่ยนไป จากเดิมที่ยึดติดว่าเวลาเรียนครูต้องพูดอย่างเดียว เด็กต้องจำ เด็กอยู่ใต้อำนาจครู แต่ตอนนี้ครูเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่อย่างเดิม เข้าใจการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น ​และเชื่อมั่นว่าเด็กสามารถทำได้มากขึ้น

“สำคัญที่สุดเราได้เห็นเด็กยิ้ม ได้คุย ได้หัวเราะกันระหว่างเรียน จากเดิมที่เด็กหน้าบูดหน้าบึ้ง ต้องนั่งฟังครูอย่างเดียว เครียด โดนบังคับให้เขียน แต่ตอนนี้เขาเรียนแล้วมีความสุข เด็กช่วยกันคิดว่าอยากเรียนอะไร เด็กจะได้ทำตามธรรมชาติของเด็ก ได้เดินไปเดินมา มีปฏิสัมพันธ์ ได้ทดลอง  การจัดชั้นเรียนก็เป็นการนั่งล้อมเป็นวงกลม ไม่มีโต๊ะเก้าอี้ บางครั้งก็ออกไปนอกชั้นเรียนทำให้รู้สึกมีอิสระไม่ถูกบังคับ เมื่อรู้สึกไม่ถูกบังคับเด็กก็มีความสุขเต็มใจเรียน”

 

มี 3 วิชายืนพื้น ​ที่เหลือเป็นการบูรณาการการเรียนรู้​

ครูพวงชมพู  ขยายความถึงการเปลี่ยนตารางสอนว่า วิชาหลักก็ยังคงมียืนพื้นคือ​ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ​ส่วนวิชาที่เหลือคือ วิทยาศาสตร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยี (กอท.) สังคม ​สุขศึกษาและพละศึกษา และ ดนตรี จะบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันเป็นหน่วยเรียนรู้ที่กำหนดธีมในแต่ละหน่วย เช่น ของเล่นพื้นบ้าน สมุนไพรผักพื้นถิ่น ที่จะนำเอาตัวชี้วัดรายวิชามาออกแบบการเรียน ดังนั้นเมื่อทำกิจกรรมครบทั้งปีการศึกษาก็จะได้ครบตามตัวชี้วัดทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น หน่วย “ขนมวิบวับ” ของ นักเรียนชั้น ป.3 ซึ่งมีที่มาจากปัญหาเรื่องขนมจุกจิกที่วางขายกันไม่มีประโยชน์เราจะมาหาทางแก้ไขด้วยการทำขนมที่มีประโยชน์กับร่างกายก็จะเกี่ยวข้องกับวิชาสุขศึกษาเรื่องอาหาร 5 หมู่ การทำอาหารก็เกี่ยวกับวิชาการ การงานอาชีพและเทคโนโลยี

 

ความรู้นอกตำราได้มาจากการฝึกแก้ไขปัญหา

หรือฐานทำขนมจีนของ ป. 6 ก็จะพาไปดูโรงงานทำขนมจีนได้เกิดการเรียนรู้จริงตั้งแต่การดูของจริง กลับมาทดลองทำ เจอปัญหาก็แก้ไขเช่นบางครั้งทำแล้วไม่เป็นเส้นไม่ได้รูป ก็หาทางแก้ไขตรงนี้เป็นความรู้ใหม่ๆที่ได้จากนอกตำราเรียน

 “สัปดาห์แรกเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน กระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ ก็ต้องถามเขาว่าอยากเรียนรู้อะไร หัวข้ออะไรที่เรียนรู้แล้ว อะไรที่ยังไม่รู้ และ อยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม จากนั้นก็มาช่วยกันตั้งชื่อหน่วยเด็ก ๆ ก็จะเสนอชื่อแล้วก็โหวตกัน ครูต้องคอยบิ้วท์ถ้าเด็กไม่สนใจก็จะไม่กระตือรือร้นสนใจเรียนสัปดาห์แรกนี้จึงสำคัญ​ที่จะมีผลต่อไปทั้งกระบวนการ”

 

ครูต้องเลิกยึดติดการสอนแบบยืนหน้าห้อง

สำหรับการเปลี่ยนตารางสอนนี้ที่โรงเรียนบ้านห้วยปูลิงเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2559  ซึ่งช่วงแรกก็ต้องมีการปรับตัวทั้งครูที่จบใหม่ ครูเก่า ซึ่งยังยึดติดการสอนแบบเดิมคือยืนหน้าห้อง  Chalk & Talk แล้วให้งานเด็ก ก็ต้องปรับ วิธีที่ดีวิธีหนึ่งก็คือปรับตารางสอนเพื่อปรับโครงสร้างกระบวนการสอนใหม่ครูก็ต้องปรับและเรียนรู้และเห็นว่าสุดท้ายก็นำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น  

“ที่สำคัญคือการสอนแบบนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ จากเดิมที่คนมองว่าเด็กบนดอยทำไม่ได้ ไม่เก่ง ไม่มีศักยภาพ เราก็อยากพิสูจน์ว่าเด็กบนดอยทำไมจะทำไม่ได้ ไม่ว่าเด็กบนดอย เด็กพื้นที่ราบ เด็กรวย เด็กจน สามารถเรียนรู้ได้ พัฒนาตัวเองได้ถ้าได้รับโอกาสการเรียนรู้ที่ดีซึ่งพิสูจน์แล้วทำได้จริง”​

 ครูพวงชมพู  เล่าให้ฟังว่า รูปแบบการสอนแบบ PBL ที่นำมาใช้ได้ต้นแบบมาจากโรงเรียนลำปลายมาศ พัฒนา ซึ่งเป็นความร่วมมือภายโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) ที่ดำเนินการร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค