ฟิลิปปินส์ร่างงบแบ่งให้กระทวงศึกษาธิการมากที่สุด ผลักดันประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนหลังจากยุค COVID-19

ฟิลิปปินส์ร่างงบแบ่งให้กระทวงศึกษาธิการมากที่สุด ผลักดันประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนหลังจากยุค COVID-19

ที่มาภาพ: unsplash-Avel Chuklanov

แปลและเรียบเรีย : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ยื่นแผนร่างงบประมาณประจำปี 2021 สู่สภามูลค่ารวม 4,506 ล้านล้านเปโซ (ราว 2,898 ล้านล้านบาท) โดยจัดส่วนแบ่งให้กระทวงศึกษาธิการมากที่สุดถึงเกือบ 4 แสนล้านบาท ตั้งเป้ายกเครื่องหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับยุค New Normal ต่อไป

เว็บไซต์ข่าว Manila Standard สื่อท้องถิ่นของฟิลิปปินส์รายงานว่า ภายใต้แผนงบประมาณประจำปีล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์จะได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุดกว่า 6 แสนล้านเปโซ (ราว 3.8 แสนล้านบาท) โดยงบประมาณด้านการศึกษาส่วนใหญ่จะนำไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับหลักสูตรการศึกษาของฟิลิปปินส์ให้มีความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงานในอนาคตได้

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ขึ้นกล่าวแถลงการณ์ต่อสภา ระบุว่า เป้าหมายของการแผนงบประมาณปี 2021 ครั้งนี้ ก็คือการพยายามผลักดันประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนหลังจากยุค COVID-19 

โดยนอกจากทุ่มเทให้กับการศึกษาแล้ว รัฐบาลจะมุ่งใช้งบประมาณเพื่อยกระดับพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร การเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับสาธารณะและดิจิทัล และการให้ความช่วยเหลือชุมชนในการฟื้นฟูจากผลกระทบความเสียหายของการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

สื่อท้องถิ่นฟิลิปปินส์รายงานว่า นอกจากงบประมาณก้อนใหญ่ที่จะจัดสรรให้กับทางกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ทางรัฐบาลจะจัดสรรงบให้กับทางคณะกรรมาธิการเพื่อการศึกษาขั้นสูง (Commission on Higher Education) อีก 50,900 ล้านเปโซ (ราว 37,700 ล้านบาท) และให้กับหน่วยงานเพื่อการพัฒนาทักษะและเทคนิคการศึกษา (Technical Education and Skills Development Authority) อีก 13,700 ล้านเปโซ (ราว 8,700 ล้านบาท)

ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในด้านการศึกษา คือการ “ปฎิรูป” และ “จัดระบบ” การศึกษาของประเทศขึ้นใหม่ เพื่อให้การเรียนรู้มีความยืนหยุ่น หลากหลาย และผสมผสานมากขึ้น กล่าวคือ มีสถาบันที่ยืดหยุ่นที่จะปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทสภาพแวดล้อมของผู้เรียน มีแบบแผนและหลักสูตรการเรียนที่หลากหลาย และมีทางเลือกในการเรียนการสอนให้มากขึ้น รวมถึงการจัดสรรทุนเพื่อขยายโครงการด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อการศึกษา ภายใต้โครงการ Computerization Programme ของกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ 

ที่มาภาพ: unsplash-Anthony Riera

ถ้อยแถลงที่แสดงให้เห็นความสนใจของรัฐบาลประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ของฟิลิปปินส์ที่มีต่อการศึกษา มีขึ้นหลังจากที่เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดอกเตอร์ Henry Chan นักเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาแห่งสถาบันการพัฒนาแบบองค์รวมศึกษา เขียนบทความแสดงทัศนะกึ่งเตือนถึงรัฐบาลฟิลิปปินส์ ให้เร่งวางนโยบายและกรอบการทำงานด้านการศึกษาของประเทศ ควบคู่ไปกับการรับมือการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น กำลังทำให้เกิดวิกฤตด้านการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์ ที่จะทำให้จำนวนเด็กและเยาวชนที่จะเข้าเรียนในภาคการศึกษาใหม่ลดลงอย่างน่าวิตก 

ทั้งนี้ รายงานการลงทะเบียนเรียนของเด็กนักเรียนทั่วประเทศประจำภาคปีการศึกษา 2020-2021 ของกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ ซึ่งบ่งชี้ถึงปริมาณนักเรียนที่เข้าลงทะเบียนเรียนตามหลักสูตรในทุกระดับชั้นตั้งแต่ อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึง นักเรียนในระบบทางเลือก (Alternative Learning System : ALS) และนักเรียนในโครงการสำหรับผู้พิการและทุพพลภาพ พบว่า จนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม มีนักเรียนลงทะเบียนเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐและเอกชนทั่วประเทศรวม 22.2 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันในภาคการศึกษาก่อนหน้าคือ 2019-2020 ซึ่งอยู่ที่ 27.7 ล้านคน 

ขณะเดียวกัน นักเรียนที่เข้าลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนเอกชนลดลงอย่างมาก โดยกระทรวงศึกษาธิการประเมินว่า มีนักเรียนเพียง 31% เท่านั้นที่สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งของนักเรียนเอกชนตัดสินใจย้ายไปเรียนในโรงเรียนรัฐบาล ขณะที่นักเรียนในฝั่งโรงเรียนรัฐบาลมีอัตรากลับมาสม้ครเข้าเรียนราว 90%