ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ​จัดกิจกรรม ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2563  ณ ห้อง Grand Ballroom โรงแรมเซนทรา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี  เพื่อปฐมนิเทศนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 2  ซึ่งเรียนสายอาชีพศึกษาอยู่ในจังหวัดชลบุรี เริ่มต้นด้วยกิจกรรม Youth Talk ภาพอนาคตที่เปลี่ยนไป ของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โดยมีตัวแทนนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงระดับ ปวช. และปวส. ที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2563 รุ่นที่ 2 มาเล่าประสบการณ์ชีวิตก่อนจะได้รับทุนและความรู้สึกภายหลังที่ได้รับทุน กสศ.ให้เพื่อนและครูอาจารย์ที่มาร่วมงานได้รับฟัง

 

น.ส.ปิ่นมณี ทำมุ่ง (เจสซี่) อายุ 19 ปี สาขาโลจิสติกส์ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี

“ก่อนหน้าต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แต่ละวันต้องทำงานเป็นเด็กเสริ์ฟในร้านอาหารเริ่มงานตั้งแต่สามทุ่มเลิกงานตีห้าเป็นแบบนี้ทุกวัน เพื่อหารายได้มาช่วยแบ่งเบาภาระคุณแม่ ทุกวันที่มาโรงเรียนได้แต่งีบหลับ ไม่ได้ฟังครูสอนในชั้นเรียนเลย ทำให้เกรดเฉลี่ยย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

พอได้รับทุน กสศ. หนูมีเวลาอยู่กับครอบครัวและตั้งใจเรียนมากขึ้น จึงสัญญากับตัวเองว่าโอกาสที่ได้รับจะนำไปพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ด้วยการตั้งใจเรียนให้จบและเป็นคนมีคุณภาพ กลับมาช่วยเหลือสังคม และถ้าวันหนึ่งในอนาคตฐานการงานและการเงินดี จะกลับมาช่วยโรงเรียนเก่าด้วยการให้ทุนการศึกษาแบบที่ตัวเองได้รับแก่น้องๆ คนอื่นให้ได้รับโอกาสเหมือนกับที่ตัวเองได้รับ”

 

น.ส.หงส์ฟ้า เจริญราช (หงส์ฟ้า) อายุ 19 ปี เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล วิทยาลัยสัตหีบ

“หนูเป็นเด็กต่างจังหวัด พ่อแม่อพยพมาหางานทำที่จังหวัดชลบุรี ด้วยการขายข้าวเหนียวหมูปิ้ง อยู่ในห้องเช่าเล็กๆ อาศัยรวมกัน 4 คน พ่อแม่หนูและน้อง ทุกวันต้องตื่นตี 3 หอบชุดนักเรียนตามพ่อแม่ไปแต่งตัวที่ตลาด เพราะอยู่ห้องเช่าคนเดียวไม่ปลอดภัย ด้วยความยากจนและเห็นพ่อแม่ทำงานเหนื่อย พอเรียนจบมัธยมปลาย ตั้งใจจะออกมาทำงาน 

จนวันหนึ่งคุณครูแนะนำว่ามีทุน กสศ. เปิดโอกาสให้เรียน ดีใจมากเพราะอยากนำความรู้มาพัฒนาธุรกิจออนไลน์ข้าวเหนียวหมูปิ้งของครอบครัว สิ่งที่อยากบอกเพื่อนๆ ยอมรับว่าใน ตอนแรกคิดว่าทุนที่ กสศ. ให้เป็นแค่เงินเรียนฟรี แต่พอได้เข้าร่วมโครงการกับ กสศ. เปลี่ยนวิธีคิดไปเลย ว่าไม่ใช่ทุน แต่คือ ‘โอกาส’ และยังมีน้องๆ อีกจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสแบบนี้ บางคนต้องออกจากโรงเรียนไปเลย สิ่งที่ย้ำเตือนใจเสมอ คือ ไม่ว่าเราเกิดมาแบบไหน แต่อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเป็นแบบไหน ถ้าโอกาสมาถึงเราต้องคว้าไว้ และต้องส่งต่อโอกาสที่เราได้รับไปให้ผู้อื่นด้วย” 

 

น.ส.มึแปมอ (แบม) อายุ 21 ปี หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล มหาวิทยาลัยบูรพา

“วันแรกที่รู้ว่าได้ทุนเหมือนไม่ใช่ความจริงว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง รู้สึกตื้นตันใจมาก เพราะหนูเป็นแค่เด็กชายแดนมาจาก ท่าสองยาง จังหวัดตาก ไม่มีบัตรประชาชน คิดว่าตัวเองคงเรียนหนังสือจบได้แค่ชั้นประถม 6 เท่านั้น ไม่คิดว่าเด็กชายแดนคนหนึ่ง จะมีโอกาสได้เรียนแพทย์

ที่ผ่านมาต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แต่ถ้าเลือกได้อยากเรียนหนังสือมากกว่า เพราะเชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ตัวเราต้องมีการศึกษาก่อน ถึงจะไปช่วยเหลือครอบครัวหรือคนอื่น ความตั้งใจสูงสุดอยากเรียนต่อไปให้จบปริญญาตรี ส่วนหนึ่งอยากได้บัตรประชาชน หนูจึงขอสัญญาว่าจะทำให้เต็มที่ ไม่อยากให้ทุนที่ได้รับสูญเปล่า ไม่อยากทำให้คนอื่นๆ ผิดหวังและอยากทำให้คนอื่นๆ ได้รับโอกาสแบบเราด้วย”

 

เก่ง ดี เรียนรู้ตลอดเวลา ลักษณะนิสัยมัดใจนายจ้าง 4.0

ในหัวข้อ “คนรุ่นใหม่แบบไหนที่จะมัดใจนายจ้างยุค 4.0” โดยว่าที่นายจ้าง บุญธรรม ว่องประพิณกุล ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัทน้ำตาลมิตรผล (จำกัด)  ได้นำเสนอมุมมองพร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการเรียนและการใช้ชีวิตนับจากนี้ ต่อไป

นายบุญธรรม ว่องประพิณกุล ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

ปัญหาใหญ่ด้านการศึกษาในสังคมไทย คือ ความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสที่ได้รับจึงไม่ได้รับการพัฒนาและเติบโต ซึ่งคำว่า ‘โอกาส’ อาจเปรียบได้กับโชค ที่จู่ๆ อาจลอยลงมาตรงหน้า แต่แท้จริงแล้วคำว่า ‘โอกาส’ คือ สิ่งที่ต้องไขว่คว้า ดังนั้นน้องๆ ที่ได้รับทุนการศึกษาจาก กสศ. ถือเป็นกลุ่มคนเพียง 1% เท่านั้น แต่ยังเหลือเด็กอีก 99% ที่พลาดโอกาสทางการศึกษา จึงต้องใช้โอกาสนี้ให้เต็มที่ หลังจากนี้ไปสิ่งที่น้องๆ ต้องทำอันดับแรก คือ เรียนตามหลักสูตรให้ได้ดี แต่การเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย อย่าพึ่งครู หลักสูตร และ โรงเรียนเท่านั้นแต่ต้องเท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย

คนที่นายจ้างต้องการควรมีลักษณะ เก่ง ดี และ เรียนรู้ตลอดเวลา เริ่มจาก “เก่งงาน” คือ เก่งในสิ่งที่ตัวเองเรียนจบมาประกอบอาชีพ “เก่งคน” คือ รู้จักเข้าสังคมอ่อนน้อมถ่อมตน “เก่งเรียน” คือ รู้จักแสวงหาความรู้ตลอดเวลา เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และ “เก่งใช้ชีวิต” คือ รู้จักคบคนดี รู้จักเข้าสังคม และ รู้จักการใช้ชีวิตที่พอเพียงและเหมาะสม นอกจากนี้ต้องมีลักษณะนิสัย 3 H  คือ Head หัว หรือ สมอง มีความคิดความรู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา Hand มือ ต้องเป็นคนลงมือทำไม่ใช่แค่คิดหรือมีความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้เห็นผลด้วย และ Heart ใจ ต้องรู้จักมีสติควบคุมอารมณ์ และมีวุฒิภาวะทั้งหมดที่กล่าวมาเทียบได้กับ Soft Skill ที่น้องๆ ต้องมีติดตัว

สิ่งที่อยากฝากเตือนน้องๆ ปัจจุบันการรับสมัครงานมีการสืบค้นประวัติในโลกโซเซียลมีเดียด้วย จึงอยากเตือนน้องๆ ว่าต้องระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรื ศาสนา ต้องใช้วิจารณญาณในการแสดงความคิดเห็นควรอยู่ในขอบเขต เพราะการแสดงออกด้านความคิดอยู่ระหว่างเส้นคาบเกี่ยวระหว่าง ก้าวร้าว กับ การแสดงออก แม้ว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิและเสรีภาพก็ตาม สุดท้ายนี้ขอให้น้องๆ จงเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่เติบโตกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงในอนาคต

 

จากพี่สู่น้อง . . . สิ่งดีๆ ที่พี่อยากบอกต่อ
ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและเดินไปให้ถึง

ประสบการณ์ชีวิต วัชพล ทองอร่าม หรือ พี่บุ๊ค รุ่นพี่สายอาชีพอดีตนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ปัจจุบันทำงานกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ​ที่เคยเกือบหลุดนอกระบบการศึกษา เพราะความเกเรจนไม่อยากเรียนหนังสือ แต่ด้วยมีสติตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะต้องเรียนให้ดีอย่างต่ำเกรดเฉลี่ยต้องให้ได้ 3.0 ต้องได้ทำงานบริษัทใหญ่เงินเดือนสูงๆ มีอาชีพและธุรกิจส่วนตัวที่มั่นคง มีบ้านและรถหรูๆ ให้จงได้

นับแต่นั้นมาบุ๊คตั้งใจเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย เริ่มจากทำงานระหว่างเรียนที่โรงโม่น้ำแข็ง ยอมรับว่าการเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยเหนื่อยและเครียดมาก แต่ก็ต้องอดทน ต่อมาเปลี่ยนมาทำงานร้านแม็ค-ยางรถยนต์ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะได้เรียนรู้การประกอบธุรกิจ แม้จะมีรายได้เดือนละ 7,800 บาท ไม่พอใช้จ่ายด้วยซ้ำ จำเป็นต้องประหยัดและอดทน จนวันหนึ่งระหว่างเรียน ปวส. ได้มีโอกาสเข้าโครงการดูงานในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จุดประกายอาชีพที่ใฝ่ฝัน

นับแต่ได้มีโอกาสเข้าไปดูงานที่บริษัท ปตท. จึงตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะต้องเข้าทำงานบริษัทแห่งนี้ให้ได้ ภายหลังเรียนจบ ปวส. ไปสมัครเข้าทำงานทันที รออยู่ระยะหนึ่งได้ยินเสียงโทรศัพท์ฝ่ายบุคคลเรียกตัวไปสัมภาษณ์ และได้รับเลือกเข้าทำงาน ตั้งแต่วันแรกก้าวเข้าสู่บริษัท ปตท. ทุ่มเททำงานเต็มที วางเป้าหมาย ไว้ 2 เรื่อง คือ ปลดหนี้บ้านที่โดนธนาคารยึดกลับคืนมา จากนั้นใช้เวลาอีกเพียง 1 ปี เพื่อซื้อรถยนต์เป็นของตัวเอง เป้าหมายต่อไป คือ จะเรียนต่อในระดับปริญญาตรีด้านการตลาดและธุรกิจ เพราะอยากทำงานไปด้วยและมีธุรกิจส่วนตัวด้วย หากวันหนึ่งต้องเกษียณไม่ได้ทำงานกับบริษัทใหญ่ แต่ยังมีธุรกิจส่วนตัวรองรับย่อมมีความมั่นคงในชีวิต

อยากบอกน้องๆ ว่าจะทำอะไรต้องตั้งเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจน แล้วต้องตั้งมั่นว่าเราต้องทำให้ได้ ใครจะว่าอย่างไรไม่ต้องไปสน ที่สำคัญเราไม่ต้องไปน้อยเนื้อต่ำใจว่าเรายากจนมีไม่เหมือนคนอื่นๆ เก็บจุดด้อยเอาไว้ มั่นใจในตัวเองว่าเราต้องทำให้ได้ อย่าไปท้อ เวลาเรียนพลาดกันได้ ขอแค่ตั้งเป้าหมายและเดินไปให้ถึงเพียงเท่านี้ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว

พี่บุ๊ค ยังแนะนำวิธีการทำงานด้วยว่าการทำงานกับบริษัทใหญ่ ไม่ใช่แค่ ปตท. บริษัทไหนก็ตาม อันดับแรก เกรดเฉลี่ยต้องดี อย่างน้อยต้อง 3.0 ถัดมาต้องเก่งภาษาอังกฤษ ที่สำคัญต้องเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เวลางานต้องจริงจัง เพราะการทำงานในบริษัทใหญ่ต้องมีความรับผิดชอบสูง ต้องอยู่ในกฎระเบียบที่เข้มข้น สภาวะแวดล้อมต้องเจอกับผู้คนหลากหลายประเภทค่อยสังเกต แต่อย่าไปใส่ใจกับคนรอบข้างมากเกินไป โดยตัวเองต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด เวลามีปัญหาต้องยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าไว้ อย่าไปเครียด แม้ว่างานจะเครียดก็ตาม ขอให้ยึดหลักว่า เป้าหมายในชีวิตเราคืออะไร แล้วเดินไปให้ถึงจุดนั้น จงบอกตัวเองอยู่เสมอว่าเราต้องการทำอะไร ทำเพื่ออะไร และอย่าไปท้อว่าเราด้อยหรือมีไม่เท่าคนอื่น ขอมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนเท่านั้นพอ

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค