อาจารย์ป๋องแป๋ง อาจวรงค์…เพราะ(ทุน)การศึกษา จึงค้นหาอาชีพนักสื่อสารวิทยาศาสตร์จนเจอ

อาจารย์ป๋องแป๋ง อาจวรงค์…เพราะ(ทุน)การศึกษา จึงค้นหาอาชีพนักสื่อสารวิทยาศาสตร์จนเจอ

สุดยอดแฟนพันธ์ุแท้ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก

จริงตนาการ, 7 เรื่องที่ควรรู้ก่อนเรียนจบมหาวิทยาลัย, หลุมดำ : วัตถุปริศนาแห่งเอกภพ, ภาษาจักรวาล ประวัติย่อของคณิตศาสตร์, กำเนิดทฤษฎีควอนตัม ฟิสิกส์เหนือสามัญสำนึก

อาจารย์ป๋องแป๋ง

บรรทัดแรกคือตำแหน่งที่ ป๋องแป๋ง อาจวรงค์ จันทมาศ นักเขียน วิทยากร นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้รับในยุคที่รายการแฟนพันธุ์แท้กำลังได้รับความนิยมเมื่อปี 2555 ส่วนย่อหน้าที่สอง คือตัวอย่างผลงานเขียนด้านวิทยาศาสตร์ที่ทั้งย่อยง่ายและเล่าสนุกที่คนที่ชอบวิทยาศาสตร์หลายคนอาจจะคุ้นเคย ซึ่งมีทั้งเกร็ดความรู้ หนังสือบอกเล่าประสบการณ์ และเนื้อหาประกอบตำราเรียน

ปัจจุบัน เรารู้จักอาจารย์ป๋องแป๋งในฐานะวิทยากรที่มีความเป็น “ครู” มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะนอกจากการเดินสายบรรยายไปตามโรงเรียนต่าง ๆ แล้ว ก็ยังมีรายการพอดแคสต์ที่เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์กับ The Standard (และที่อื่น ๆ ตามโอกาส) ที่เล่าเรื่องซับซ้อนให้ง่าย หรืออธิบายเรื่องที่ดูเหมือนง่ายให้เห็นว่า ภายใต้สิ่งนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน 

ในตอนสุดท้ายของซีรีส์ “ได้ทุนแล้วไปไหน” เราเลือกอาจารย์ป๋องแป๋งเป็นตัวอย่างในการบอกเล่าปลายทางจากการได้ทุน พสวท. หรือทุนสำหรับพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อไปเรียนต่อปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาโทที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเราเห็นว่า เขาเหมาะกับการ “ใช้ทุนแล้วไปไหน” 

ความเป็นครู ความชอบเล่าเรื่อง การเลือกอาชีพที่ไม่ธรรมดาอย่างการเป็น “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” ความชอบสื่อสาร และความอดทนที่จะเรียนรู้ในระบบที่หลากหลายจากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 

สุดท้ายเราอาจจะตอบไม่ได้ว่าทุนการศึกษามอบปลายทางที่ดีที่สุดแบบไม่มีข้อกังขาให้กับผู้เรียน แต่นี่คือตัวอย่างของหนึ่งในคนที่เชื่อมั่นว่ามันสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ 

ป๋องแป๋ง อาจวรงค์ จันทมาศ นักเขียน วิทยากร นักสื่อสารวิทยาศาสตร์

ไปลองใช้ทุนดูก่อน ชอบไม่ชอบค่อยมาว่ากัน

“ตั้งแต่มัธยมมา เราก็ชอบอ่านหนังสือ ระหว่างนั้นก็เรียนคณิตฯ ฟิสิกส์อะไรไป เราเองอยากเป็นหมอ ใคร ๆ ก็บอกว่าถ้าเรียนดี ก็น่าจะไปเป็นหมอดีกว่า แต่มันสอบไม่ติด เพราะการสอบเข้าคณะแพทย์ฯ ใช้คะแนนสูงมาก เราจึงเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์แทน”

นั่นคือจุดเริ่มต้นชีวิตนักศึกษา นักเขียน และนักเรียนทุนของเขา 

ทุน พสวท. ถือเป็นทุนก้อนที่เน้นพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดูแลทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าหนังสือประกอบการเรียน ค่าอุปกรณ์การศึกษา หรือค่าทำโครงงาน สนับสนุนด้านการทำวิจัยระยะสั้น การนำเสนอผลงานทางวิชาการในต่างประเทศ หรือหากผู้รับทุนสนใจที่จะทำวิจัยหลังจบปริญญาเอกในต่างประเทศ ก็จะได้รับทุนในส่วนนี้ด้วย ถือว่าพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ โดยจะแจกจ่ายไปตามศูนย์ต่าง ๆ โดยศูนย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหนึ่งในนั้น นักศึกษาจะได้รับการคัดกรองที่เหมาะสมตามเกณฑ์ เมื่อจบการศึกษา ผู้ที่ได้รับทุนก็ต้องกลับมาทำงานที่หน่วยงานรัฐตามเวลาที่กำหนด พอครบช่วงเวลาก็เป็นอิสระ

“ตอนนั้นรับทุนเพราะว่าก็ได้ตังค์ใช้ด้วย แล้วก็แบ่งเบาค่าใช้จ่ายของทางบ้านได้”

ชีวิตเด็กเนิร์ดของอาจารย์ป๋องแป๋งในยุคนักศึกษา ก็คือการคร่ำเคร่งกับการเรียนตามประสาเด็กที่ชอบวิทยาศาสตร์และตั้งใจเรียนเพราะต้องรักษาเกรดเฉลี่ยไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ในขณะเดียวกัน ความชอบด้านวิทยาศาสตร์และการสื่อสารที่ชัดเจนของเขาก็เริ่มนำพาให้ลองเขียนหนังสือส่งไปที่นิตยสาร A day โดยที่ความเป็นนักเล่าเรื่องก็อยู่ใน DNA อยู่แล้วตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษา เข้ามาปีหนึ่งในมหาวิทยาลัย ก็เริ่มเปิดห้องติวเพื่อนทั้งคณะ  

“ตอนนั้นไม่เคยคิดเลยว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์มันจำเป็นหรือเปล่า เราแค่รู้สึกว่ามันสนุก แต่ก็อาจจะไม่ใช่แค่นั้น มันมีมิติของความจำเป็นอยู่ด้วย เช่น ถ้าคุณไม่รู้วิทยาศาสตร์เลย มันจะส่งผลต่อชีวิตมาก 

สมมติว่าเราป่วย วิธีการตอบสนองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์กับไม่เป็นวิทยาศาสตร์ส่งผลต่อชีวิตคนนะ วิทยาศาสตร์มันจะมีวิธีคิดเฉพาะเจาะจงหลายอย่าง ซึ่งจะทำให้เราไม่หลงเชื่อสิ่งที่จะทำให้ชีวิตเราแย่ลง ก็เลยคิดว่าจำเป็น จำเป็นในระดับที่ต้องเรียน คือไม่ต้องเก่งก็ได้ แต่ต้องเรียน”

การได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน และได้โอกาสขัดเกลาฝีมือ ทำตามความชอบ และมีเวลามากพอที่จะฝึกฝนอาชีพในอนาคตที่วัยรุ่นป๋องแป๋งในยุคนั้นก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าคืออะไร 

 และเมื่อพูดถึงเรื่องอรรถประโยชน์ของทุนการศึกษา อาจจะเปรียบเทียบไม่ได้ว่าแล้วถ้าไม่ได้ทุนจะเป็นอย่างไร ก่อนที่เราจะถามจบประโยค เขาก็ยิ้มกึ่งหัวเราะแล้วบอกว่า

“โห เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนชีวิตจริง ๆ”

“เราได้ทุนฯ เรียนถึงปริญญาโท แต่ตอนนั้นเห็นช่องทางทำมาหากิน เลยคิดว่าจะไม่เรียนต่อแล้ว เลยไปคุยกับฝ่ายกฎหมายของ พสวท. พี่เขาใจดี เราก็บอกว่า ‘พี่ ผมเห็นช่องทางทำงาน ผมว่าผมไม่ทำงานใช้ทุนดีกว่า ผมจ่ายเงินแล้วกัน’ เขาก็บอกว่าเงินที่ต้องใช้มันเยอะนะ ซื้อรถฟอร์จูนเนอร์ได้เลยนะ”

“เราก็อยากทำงานเอกชนไง เพราะเราค้นพบว่าเราไม่อยากไปสายวิชาการแล้ว แต่ว่าถ้าไปใช้ทุนในหน่วยงานรัฐเนี่ย เราไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นยังไง แต่พี่เขาก็บอกว่าลองไปใช้ทุนดูก่อน ชอบไม่ชอบก็ว่ากัน แต่ลองดูก่อน”

ใช้ทุนแล้วไปไหน

อาจารย์ป๋องแป๋งจึงลงมือทดลอง

“ไป ๆ มา ๆ ก็พบว่าไปทำงานกับราชการก็ได้ประสบการณ์เยอะเหมือนกัน ปนกันทั้งดีและไม่ดี แต่ก็เป็นประสบการณ์ เพราะสุดท้ายพอเราออกมาจากราชการ เราก็รับงานต่อจากหน่วยงานรัฐ ตอนนั้นเลยเข้าใจว่า อ๋อ มันให้ประโยชน์ต่อกันแบบนี้ 

เพราะถ้าเกิดว่าลองคิดเล่น ๆ ว่า หนึ่ง ถ้าเราไม่อยู่ในระบบราชการ เราก็ต้องใช้ทุน แล้วออกมาเลย โห มันใช้เวลาฟูมฟักตัวเองนานมาก หมายความว่าถ้าคนที่ไม่ได้เก่งมาก ๆ ออกมาตั้งตัวเป็นเจ้าของบริษัทหรือคนที่ทำงานเอกชนด้วยตัวเอง มันค่อนข้างยากที่จะสร้างฐานลูกค้า แต่ในระหว่างที่ทำงานราชการอยู่ เราได้เครือข่าย ได้บ่มเพาะความรู้ ได้เตรียมความพร้อม แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือตอนนั้นเรามีหัวหน้าที่ดีด้วย”

อาจารย์ป๋องแป๋งทำงาน (ใช้ทุนฯ) ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน : NARIT) ในฐานะเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ ที่ที่เขาได้ทักษะด้านการสื่อสารและการสอนอย่างรุนแรง ที่บอกว่าอย่างรุนแรง เพราะว่าเริ่มแรกหัวหน้าที่ใจดี แต่ก็มีวิธีการสอนที่ชัดเจน

“อย่างแรกเลย เขาโยนหนังสือของนาซ่าให้เล่มหนึ่งที่ใหญ่เท่าพจนานุกรมราชบัณฑิต เหมือนหนังสือสามก๊กฉบับพระคลัง (หน) แล้วแกบอกว่า อ่านแล้วแปลเป็นภาษาไทย เราก็แบบ ยากมาก เป็นงานแรก ๆ ที่เขาสั่งให้ทำ ทุกข์ทนมาก เพราะเราไม่มีความรู้ดาราศาสตร์ เราจบฟิสิกส์มา 

เราก็ค่อย ๆ ทำไป จนมีอยู่วันหนึ่ง เราเอาหนังสือเล่มนี้ขึ้นเครื่องบินไปแปลเราไม่ได้เอาดิกชันนารีมา แต่มันดันอ่านรู้เรื่อง เลยค้นพบว่า เราอ่านภาษาอังกฤษได้แล้วนี่หว่าเพราะงานที่เขาสั่ง 

อีกวันหนึ่งเขาบอกว่า ไปฝึกสอนเด็กฝึกงานหน่อยสิ เราก็บอกว่า อาจารย์ครับ ผมไม่ถนัดสอนคน แกก็บอกว่า ทำ ๆ ไปเถอะ ปรากฎว่าการได้อยู่กับเด็กฝึกงาน มันทำให้เราได้เรียนรู้จากเด็กเยอะกว่าที่เด็กได้จากเรา คือเราได้วิธีการสอน เทรนงานคน”

เราสอนเด็กฝึกงานที่มาจากหลากหลายท้องที่ แต่บางคนก็ไม่รู้ดาราศาสตร์พื้นฐาน ฟิสิกส์ก็ไม่รู้ แวบแรก เราคิดว่าเด็กบางกลุ่มไม่ได้เรื่อง รู้สึกว่าไม่โอเค จนมีอยู่วันหนึ่งนั่งอยู่ เราล้มแล้วเก้าอี้หัก หัวทิ่มเลย ก็เลยบอกน้องว่าเดี๋ยวต้องไปตามช่าง พอกลับมา ปรากฎว่าเก้าอี้ซ่อมแล้วเพราะเด็กเป็นคนซ่อม เขาบอกว่าผมซ่อมเป็นอยู่แล้วพี่ ผมชอบการซ่อม การรื้อของ ตอนนั้นเลยรู้เลยว่าคนเราถนัดกันคนละเรื่อง น้องคนนี้ถนัดในสิ่งที่เราไม่เป็นเลย ส่วนเราก็ถนัดในเรื่องที่เขาทำไม่เป็นเลย 

ถ้าให้มาทำข้อสอบฟิสิกส์กับดาราศาสตร์ เขาก็อาจจะทำไม่ได้หรอก แต่ถ้าให้เราไปหัดซ่อมเก้าอี้ เราก็ตายเหมือนกัน เลยรู้สึกว่าเด็กทุกคนคงมีมุมที่ชอบ ที่พร้อมจะเปล่งประกายอยู่ หน้าที่ของการศึกษาจึงเป็นการที่ทำให้เขาเห็นหลาย ๆ อย่างก่อน แต่เขาจะเลือกไปทางไหนก็เรื่องของเขา

กิจกรรมในชีวิตของอาจารย์ป๋องแป๋งมีหลากหลาย ตั้งแต่งานเขียนที่ฝึกฝนกับพี่ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน ที่นิตยสาร A Day ไปจนถึงการได้โอกาสไปเจอคุณจุ้ย ศุ บุญเลี้ยง นักแต่งเพลง ที่แนะนำเรื่อง story telling และการสอนที่ดี 

ทักษะการสื่อสารที่เขาได้ในช่วงเวลาของการเป็นนักเรียนทุน และนักเรียนที่กำลังใช้ทุนมีอยู่สองส่วน นั่นคือการเขียนหนังสือและการเป็นวิทยากร อย่างหลังเป็นทักษะที่ฝึกยากเสียหน่อยเพราะต้องการผู้ชม 

“ทีนี้ เราจะไปเกณฑ์ผู้คนในร้านกาแฟว่า มาฟังผมครับ ก็ไม่ได้ (หัวเราะ) การทำงานในหน่วยงานรัฐในช่วงแรก ๆ ก็ช่วยตรงนี้ได้ เพราะว่าโรงเรียนต่าง ๆ จะเชิญให้เราไปเป็นวิทยากรอยู่แล้ว เราก็ฝึกฝนจากตรงนั้น

เราทำงานสอนมาหลักสิบปีก็จริง แต่ก็ไม่แน่ใจเรื่องระดับคุณภาพของการศึกษาเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าจะวัดความเปลี่ยนแปลงยังไง แต่เท่าที่ดู เด็กหลายคนก็สนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น หนึ่ง คือยอดขายหนังสือดีขึ้น (หัวเราะ) สอง เขาก็มาเข้าเรียนคณะวิทย์ฯ กันบ้างเพราะฟังเราพูดก็มี แต่จริง ๆ เราไม่ถึงขั้นอยากให้เด็กมาเรียนเพราะเราอย่างเดียว แต่ว่าคุณจะเรียนหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่คุณต้องดูรอบด้านอีกทีว่าเหมาะไหม ที่บ้านว่ายังไง อนาคตจะเป็นยังไง

ส่วนทุนเนี่ย กลับไปอธิบายว่ามันเปลี่ยนชีวิตยังไง คือถ้าไม่ได้ทุน ก็เท่ากับว่าต้องจ่ายค่าเทอม ซึ่งเรามารู้ทีหลังตอนเรียนจบ ว่าที่บ้านก็ค่อนข้างตึงในเรื่องค่าใช้จ่าย แต่เขาไม่ได้บอกเรา พอได้ทุนปุ๊บ ที่บ้านก็ถอนหายใจ โล่งอก เราก็ไม่ขอค่าใช้จ่ายที่บ้านเลยตั้งแต่ปีหนึ่ง เพราะว่าได้ทุนมาแล้ว ที่เหลือก็สอนพิเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็พออยู่ได้”

ทุนการศึกษาแปลว่าอิสระทางความคิด

คำถามต่อจากนั้นคือ การได้ทุนก็เหมือนถูกปลดล็อกโอกาสในการที่จะทำให้ตัวเองมีโอกาสอื่น ๆ อย่างไร

“ถ้าเราไม่ได้ทุน เราอาจต้องใช้เวลานานมาก เช่น ต้องไปสอนพิเศษมากขึ้น เราก็จะไม่มีโอกาสลงลึกในการหาความรู้ แต่อย่างที่บอกนะ อะไรที่มันไม่ได้เกิดมันก็พูดยาก อีกโลกหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้ทุน เราก็อาจจะเป็นสุดยอดนักสอนพิเศษไปเลยก็ได้ แต่เท่าที่มองดู สิ่งที่เลือกไปแล้วมันมีข้อดี พอเราได้ทุนปุ๊บ แทนที่เราจะต้องไปสอนพิเศษหรือทำงานอื่น ๆ เราก็ลงลึกไปในเนื้อหาระดับ ป.ตรี ป.โท มากขึ้นได้เรื่อย ๆ”

การให้ทุนการศึกษา ควรที่จะให้มากกว่าเงินหรือเปล่า เพราะบริบทรายล้อมอย่างอื่นก็อาจจะทำให้เด็กบางคนไม่สะดวกใจที่จะรับทุน เช่น ไม่รู้ว่าการศึกษาจะนำเขาไปสู่อะไร หรือ ต่อให้เรียนจบ สุดท้ายแล้ว ก็ต้องกลับมาช่วยที่บ้านทำงาน สุดท้ายเงินอาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งไม่หลุดออกไปจากระบบการศึกษา

“ถ้าถามเรา เราคิดว่าให้เงินดีแล้ว แล้วก็ดีมาก ๆ ด้วย ถ้าถามว่า ต้องให้อย่างอื่นด้วยไหม หน้าที่ของหน่วยงานให้ทุนสำหรับเรา คือการให้เงินด้วยระบบที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ”

 ระบบที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

“เช่น ถ้าจะให้เงิน ก็ต้องจ่ายเงินตามกำหนดเวลา หรือการคัดเลือกเด็ก ก็จะต้องโปร่งใสชัดเจน หรือไม่ก็ต้องหาวิธีให้เงินเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ถ้าให้ทุนถึงเด็ก ม.6 แล้วเด็กกลับไปทำงานอื่น เราว่าการศึกษาก็เปลี่ยนเขาเยอะแล้ว อย่าไปคิดว่าเด็กเรียนเรื่องหูชั้นใน แล้วจะต้องไปเป็นหมอหูชั้นใน การศึกษามันไม่ได้ทำงานอย่างนั้น เพราะ หนึ่ง คือมันทำให้เด็กคนหนึ่งอยู่ในระบบที่ทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้เยอะมาก การที่เราจะได้เห็นใครสักคน คิดว่าเราสามารถเป็นอะไรได้บ้าง นี่คือประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการเรียน

เราคิดว่าจุดประสงค์ของการศึกษาหรือทุนไม่ได้ทำให้ใครสักคนหนึ่งรวย เช่น คนที่เรียนจบ ป.เอก เมื่อจบมาแล้วจะรวยจริงเหรอ แต่ว่า หนึ่ง คือระหว่างที่เรียนก่อนจะถึง ป.เอก การศึกษาจะทำให้เรารู้ว่าเราเป็นอะไรได้บ้าง สอง คนเราเหมาะหรือไม่เหมาะกับอะไร สาม คือระบบการศึกษามันมีสิ่งแวดล้อมที่ช่วยขัดเกลาเราได้”

แต่ความจำเป็นที่จะต้องให้เงินเรียนในระบบจนจบการศึกษาเพราะอะไร

เราคิดว่าการศึกษาที่ดีต้องเข้าถึงทุกคน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเรียนถึง ป.เอก เพราะสุดท้ายแล้วเขาอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่เหมาะกับการเรียนต่อ เลยออกมาซ่อมรถดีกว่า ซึ่งการศึกษามันทำให้เขามองเห็นความเป็นไปได้ ชีวิตที่มองเห็นความเป็นได้เยอะ ๆ มันดีกว่าการเห็นทางเลือกจำกัด ทางเลือกจะช่วยให้เขามองหาตัวตนได้

ชีวิตที่มองเห็นความเป็นได้เยอะ ๆ แล้วเลือกออกมา มันก็เหมือนการเตรียมข้อมูลเป็นหมื่น แล้วหยิบมาแค่หนึ่งร้อย คน ๆ หนึ่งที่เห็นความเป็นไปได้แค่อย่างเดียว แล้วรุ่งเลย กับคนที่เห็นความเป็นไปได้เป็นร้อย ๆ แล้วเลือกมาแค่สิบ แล้วก็ค่อย ๆ ขัดเกลามัน เราว่าการมีทางเลือกไว้ก่อน มันจะทำให้เขามองหาตัวตนได้

ขออนุญาตเปรียบแบบนักเขียนนะครับ ง่าย ๆ เลยคนที่ไม่เห็นโอกาสในชีวิตหรือไม่ได้รับการศึกษา เขาอาจจะเห็นหนทางในชีวิตแค่ไม่กี่อย่าง เหมือนคนที่จมอยู่ในบ่อบ่อหนึ่ง ปีนขึ้นไม่ได้ทางเดียวที่ทำได้ คือนั่งอยู่ใต้บ่อ หรือเขาก็ไม่รู้ด้วยว่าตัวเองอยู่ในบ่อ เขาก็อยู่อย่างนั้นไป แต่การศึกษาคือบันไดที่จะทำให้เขาเดินขึ้นมาข้างบน เดินออกมาเจอโลกภายนอกได้ คุณจะกลับลงไปอยู่ที่เดิมก็ได้ไม่เป็นไร”

แล้วถ้าเปลี่ยนเป็น ‘ทุนการศึกษา’ คำตอบจะยังเป็นแบบเดิมอยู่ไหม

“บันไดมันต้องใช้เงินสร้าง มันไม่ได้เกิดขึ้นจากการเนรมิตรของนางฟ้า วัตถุธาตุทุกอย่าง โอกาสทุกอย่างต้องใช้ทุนสร้าง  ดังนั้นการศึกษาคือการสร้างบันไดให้เขา ปกติถ้าไม่มีทุนการศึกษาคุณก็ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมนั้นสร้างเอง ซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน แต่กว่าจะสร้างได้ก็อาจจะเหนื่อย แต่การให้ทุนคือการสร้างบันไดให้เขาเดินขึ้นมาดูว่ามีอะไรบ้าง ดูแล้วชอบไหมล่ะ”

หากพูดในคอนเซปนี้กับตัวอาจารย์ป๋องแป๋งเองในเรื่องทุนการศึกษา  เขาบอกว่าอย่างง่ายที่สุด ถ้าไม่ได้เรียนหนังสือ ก็คงไม่รู้ว่าจบคณะวิทยาศาสตร์แล้วจะเป็นอะไรได้บ้าง หรือเรียนจบถึงปริญญาเอกแล้วจะทำอะไรได้ต่อ

“ทุกวันนี้คนเขาทำอะไรกัน โลกสนใจอะไรกัน งานวิจัยนี่วิจัยไปทำไม ค้นคว้าไปทำไม รวมทั้งอาชีพแปลก ๆ ที่ถ้าไม่ได้อยู่ในวงการก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามี เขาทำแล้วก็ร่ำรวย เช่น ในคณะวิทย์ฯ เมื่อยี่สิบปีก่อน มันมีสาขาวิชาที่เงินดี คือนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เคยได้ยินไหม จนถึงวันนี้อาชีพนี้ยังขาดแคลนเลย เลยเป็นอาชีพที่ทำแล้วได้เงินดี”

การศึกษาทำให้เราเข้าใจได้ว่าสิ่งนี้มันเป็นอาชีพได้อย่างไร อาจารย์ป๋องแป๋งสะท้อนว่า ถ้าไม่มีการศึกษา เขาก็จะไม่มีความรู้วิทยาศาสตร์ การอ่านหนังสือ ดูยูทูป สื่ออนไลน์ หรือเรียนด้วยตัวเองเป็นเรื่องยากมาก ทักษะหลายอย่างยังต้องมีคนมาบอกมาสอนโดยตรง 
“เมื่อเห็นความเป็นไปได้ต่าง ๆ เราก็รู้แล้วว่าเราไม่อยากไปทางนั้น ซึ่งอย่าไปคิดว่าคนได้รับการศึกษาต้องมาทำงานในระบบราชการหรือระบบเอกชนเท่านั้น เพราะมันเป็นการตัดสินใจของเขา การให้การศึกษาที่ดี คือการทำให้ทุกคนได้เรียนก่อน ได้รู้ก่อนว่าเขาเป็นอะไรได้ เขาจะมีความรู้ได้อย่างไร แต่เขาจะเอาความรู้ไปทำอะไร เป็นสิ่งที่เขาต้องตัดสินใจเอง

*กสศ. ออกแบบทุนสร้างโอกาสที่หลากหลาย และทุนเต็มจำนวนให้กับเด็กขาดโอกาสให้ได้รับการศึกษาจนมีโอกาสในการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ที่ส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้ใกล้จบ ปวส. หรืออนุปริญญาสายอาชีพให้ได้รับโอกาสทางศึกษาอย่างต่อเนื่อง ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกหรือ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่สนับสนุนให้เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการศึกษาต่อในสายอาชีพชั้นสูง เช่น ทุน 5 ปี สำหรับนักเรียนชั้น ม.3 ให้เรียน ปวช. ต่อเนื่องจนถึงระดับ ปวส. หรือ ทุน 2 ปี สำหรับนักเรียนชั้น ม.6 หรือ ปวช. 3 ให้เรียน ปวส. / อนุปริญญาสายอาชีพ

รายชื่อโรงเรียน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จังหวัด นราธิวาส จำนวน 4 โรงเรียน

  • โรงเรียนผดุงมาตร
  • โรงเรียนสวนพระยาวิทยา
  • โรงเรียนราชพัฒนา
  • โรงเรียนนราสิกขาลัย

จังหวัดยะลา จำนวน 15 โรงเรียน

  • โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 94 (บ้านบ่อน้ำร้อน)
  • โรงเรียนคุรุชนพัฒนา
  • โรงเรียนบ้านตาเซะ
  • โรงเรียนบ้านราโมง
  • โรงเรียนบ้านกาตอง
  • โรงเรียนบ้านหลักเขต
  • โรงเรียนพัฒนาบาลอ
  • โรงเรียนบ้านโกตาบารู
  • โรงเรียนบ้านตะโละหะลอ
  • โรงเรียนบ้านเยาะ
  • โรงเรียนบ้านโต
  • โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะปันยัง
  • โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส
  • โรงเรียนบ้านสะเอะ
  • โรงเรียนกาบังพิทยาคม

จังหวัดปัตตานี จำนวน 16 โรงเรียน

  • โรงเรียนวุฒิชัยวิทยา
  • โรงเรียนนิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์ มิตรภาพที่ 148
  • โรงเรียนบ้านบางมะรวด
  • โรงเรียนบ้านท่าน้ำตะวันออก
  • โรงเรียนบ้านน้ำบ่อ
  • โรงเรียนบ้านปาลัส
  • โรงเรียนบ้านตรัง
  • โรงเรียนบ้านกระเสาะ
  • โรงเรียนบ้านบูดี
  • โรงเรียนบ้านฝาง
  • โรงเรียนบ้านตะโละไกรทอง
  • โรงเรียนบ้านน้ำดำ
  • โรงเรียนบ้านโลทู
  • โรงเรียนบ้านวังกว้าง
  • โรงเรียนสะนอพิทยาคม
  • โรงเรียนวังกะพ้อพิทยาคม

รายชื่อโรงเรียน ภาคตะวันตก

จังหวัดตาก จำนวน 1 โรงเรียน

  • โรงเรียนบ้านร่มเกล้า 2

รายชื่อโรงเรียน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จังหวัด นราธิวาส จำนวน 6 โรงเรียน

  • โรงเรียนผดุงมาตร
  • โรงเรียนสวนพระยาวิทยา
  • โรงเรียนราชพัฒนา
  • โรงเรียนนราสิกขาลัย
  • โรงเรียนพิทักษ์วิยากุมุง
  • บ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128

จังหวัดสงขลา จำนวน 20 โรงเรียน

  • โรงเรียนบ้านม้างอน
  • โรงเรียนวัดประจ่า
  • โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์
  • โรงเรียนบ้านป่าโอน
  • โรงเรียนชุมชนนิคม สร้างตนเองเทพา
  • โรงเรียนบ้านกระอาน
  • โรงเรียนบ้านวังใหญ่
  • โรงเรียนเทพา
  • โรงเรียนบ้านป่าเร็ด
  • โรงเรียนบ้านนาปรัง
  • โรงเรียนทับช้างวิทยาคม
  • โรงเรียนชุมชนบ้านนากัน
  • โรงเรียนบ้านโคกตก
  • โรงเรียนบ้านคอลอมุดอ
  • โรงเรียนบ้านบาโหย
  • โรงเรียนเขาแดงกุศลวิทยา
  • โรงเรียนบ้านเขาพระ
  • โรงเรียนบ้านพระพุทธ
  • โรงเรียนบ้านปากบางนาทับ
  • โรงเรียนบ้านคูนายสังข์

จังหวัดยะลา จำนวน 10 โรงเรียน

  • โรงเรียนบ้านราโมง
  • โรงเรียนพัฒนาบาลอ
  • โรงเรียนบ้านโกตาบารู
  • โรงเรียนบ้านตะโละหะลอ
  • โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส
  • โรงเรียนบ้านสะเอะ
  • โรงเรียนกาบังพิทยาคม
  • บ้านด่านสันติราษฎร์
  • อัยเยอร์เวง
  • บ้านจุโป

จังหวัดปัตตานี จำนวน 8 โรงเรียน

  • โรงเรียนวุฒิชัยวิทยา
  • โรงเรียนบ้านกระเสาะ
  • โรงเรียนบ้านตะโละไกรทอง
  • โรงเรียนบ้านน้ำดำ
  • โรงเรียนบ้านโลทู
  • โรงเรียนบ้านวังกว้าง
  • โรงเรียนวังกะพ้อพิทยาคม
  • บ้านบางทัน

รายชื่อโรงเรียน ภาคตะวันตก

จังหวัดตาก จำนวน 1 โรงเรียน

  • โรงเรียนบ้านร่มเกล้า 2