“ได้ทุนแล้วไปไหน” กสศ. ชวนคุยกับเด็กทุนในวันที่สังคมยังคงขาด ‘ทุน’

“ได้ทุนแล้วไปไหน” กสศ. ชวนคุยกับเด็กทุนในวันที่สังคมยังคงขาด ‘ทุน’

แม้ว่านิยามของ ‘ทุนการศึกษา’ จะตอบโจทย์เรื่องการศึกษาและการเรียนในรั้วโรงเรียนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เป้าหมายที่ไปไกลและควรจะเป็นความจริง คือการมอบหลักประกันโอกาสให้ผู้ได้รับทุนแต่ละคนได้ ‘ใช้ชีวิต’ และเป็นตัวของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องกังวลว่ามีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนพอหรือเปล่า หรือการศึกษาจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตให้มีความสุขหรือไม่

ปัจจัยที่จะเอื้อให้กับการให้ทุนการศึกษากับเด็กที่ขาดโอกาสมีอะไรบ้าง ทำไมเด็กบางคนถึงไม่อยากได้ทุน ทุนการศึกษาเหมือนกับต้นทุนการศึกษาหรือเปล่า หรือการศึกษาที่เท่าเทียมควรมีหน้าตาเป็นแบบไหน เราออกแบบการศึกษาที่ดี หรือให้ทุนการศึกษาที่เป็นพื้นฐานแห่งสิทธิมนุษยชนของทุกคนอย่างไรได้บ้าง

เราต่างมีมุมมองต่อทุนการศึกษาที่ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาจับ ข้อท้าทายของการที่เด็กสักคนหนึ่งอยากจะได้ทุนการศึกษา คุณค่าในตัวเอง ฐานะทางบ้าน หรือปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม ล้วนส่งผลในการตัดสินใจทั้งหมด

คุยกับอาจารย์ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของหนังสือ มนุษย์อารมณ์ หรือ The Whys of Life ในวันที่คำว่า ‘ทุนการศึกษา’ ยังสามารถถูกตั้งคำถามได้อย่างหลากหลายและน่าสนใจในมิติของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี แดง พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร นักเรียน (ที่ยังไม่ได้ทุน) จาก อ. อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ยังต้องแบกความรับผิดชอบมากมายจนเกือบจะขาดเรียนและหลุดออกจากระบบการศึกษา ความฝันในการใช้ชีวิตและเล่นฟุตบอลของเขาต้องถูกพับเก็บไว้ใส่กระเป๋าอย่างเสียไม่ได้

แต่หลังจากที่แดงได้รับทุนเสมอภาค ภาระค่าใช้จ่ายหลายอย่างได้ถูกแบ่งเบาออกจากบ่า สิ่งที่เขามีเพิ่มมากขึ้นคือ ‘เวลา’ ที่ส่งเสริมความมั่นใจและความเป็นตัวของตัวเอง แดงกำกับบทบาทในชีวิตที่เขาอยากใช้ได้อย่างอิสระ

ไม่ว่าจะเป็นบทบาทนักเรียนที่ถูกครูแซวตลอดว่ามัวแต่เล่นฟุตบอล บทบาทเพื่อนที่สนุกสนานและน่าเอ็นดู พากันไปเตะฟุตบอลตามโรงเรียนต่าง ๆ ไม่เคยขาด

หรือบทบาทเด็กชายแดงที่กำลังเติบโตไปเรื่อย ๆ มีรอยยิ้มที่อิสระ สร้างโอกาสให้ตัวเองได้มากขึ้นผ่านภาระที่ถูกแบ่งเบาไปบ้างแล้วจากการได้รับทุนเสมอภาค และแน่นอนว่า เขาจะมีโอกาสได้ไปลงเล่นในสนามฟุตบอลที่ขยายขนาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

ครูบอย นพรัตน์ เจริญผล เป็นหัวใจสำคัญในการตามหาทุนการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ที่โรงเรียนบ้านนาเกียน และส่งแรงบันดาลใจให้กับคนในพื้นที่ต่อ แรงบันดาลใจที่จับต้องได้ ว่าโอกาสต่อยอดจากการศึกษาและการได้รับทุนการศึกษานั้น สามารถปลดแอกข้อจำกัดหลายอย่างในชีวิตของพวกเขาได้

หน้าที่และบทบาทของครูในโรงเรียนห่างไกล จึงแทบจะเรียกได้ว่าครูคือผู้ที่ ‘เป็นทุกอย่างให้เด็กและโรงเรียน’ แล้ว ครูบอยเป็นผู้ที่เห็นความเป็นไปของแดงมาโดยตลอด และเป็นผู้ที่ไปตามเด็กชายกลับเข้ามาในระบบการศึกษาด้วยตัวเอง จนถึงทุกวันนี้ที่แดงย้ายโรงเรียนไปในตัวเมือง ครูบอยก็ยังติดตามผลการศึกษาเล่าเรียนของเด็กชาย

จูน วรรษมน ต้องสอบชิงทุนชีฟนิ่ง (Chevening) หรือทุนเต็มจำนวนสำหรับการศึกษาปริญญาโทในสหราชอาณาจักรถึง 4 รอบกว่าจะผ่านเข้าไปเรียนต่อในสายที่เธอใฝ่ฝันได้ นั่นคือ ปริญญาโทด้านเพศ สื่อ และวัฒนธรรมที่โกลด์สมิธ มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งถือว่าเป็นสายที่ค่อนข้างเฉพาะทางและต้องวางเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าได้ทุนการศึกษานี้ขึ้นมาจริง ๆ ผู้ที่ได้รับทุนจะนำไปต่อยอด หรือมีแผนการในอนาคตอย่างไรกันแน่

จูนเป็นช่างภาพที่ทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชน และสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยอุดมการณ์ส่วนตัวของเธอเอง การได้ทุนที่ต้องพยายามสมัครครั้งแล้วครั้งเล่า มอบประสบการณ์ระดับโลกที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนางานด้านสิทธิมนุษยชน ได้เห็นวัฒนธรรม กิจกรรมที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศของผู้คนจากต่างแดน

และที่สำคัญคือ จูนมีโอกาสได้ใช้ชีวิต ได้รู้สึกถึงพื้นที่ปลอดภัย ได้นำความรู้จากชั้นเรียนไปพัฒนาโปรเจ็กต์สิทธิมนุษยชน และได้เครือข่ายมากมายภายในระยะเวลา 1 ปีที่ออกไปโลดแล่น

แต่เส้นทางในการได้ทุนมานั้นไม่ง่าย ระหว่างทางที่ได้ทุนมา ก็ยังถือว่าไม่ง่ายอีกเช่นเดียวกัน นอกจากความพยายามถึง 4 ครั้งในการสอบชิงทุน ยังมี ‘ต้นทุน’ อีกมากมายที่จูนต้องพยายามเพื่อเติมเต็มอุดมการณ์ที่ตัวเองใฝ่ฝันไว้ นั่นคือ การได้เห็นเมืองไทยเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ อย่างแท้จริง