เปิดเทอม ‘ยุคโควิด’ ค่าเทอมควรเป็นเลข ‘ศูนย์’

เปิดเทอม ‘ยุคโควิด’ ค่าเทอมควรเป็นเลข ‘ศูนย์’

วันเปิดเทอมที่เด็กหลายคนมีความสุขกับชุดนักเรียนใหม่ ได้กลับไปพบหน้าเพื่อน แต่สำหรับผู้ปกครองแล้ว การเปิดเทอมอาจไม่ใช่วันที่มีความสุขนัก เมื่อค่าใช้จ่ายทางการศึกษาถูกสะท้อนผ่านนัยยะทางเศรษฐกิจมากมาย ในภาวะที่ผู้ปกครองหลายคนกลายเป็นคนตกงาน จะรับภาระในวันเปิดเทอมอย่างไร มีข้อเสนอจากนักวิชาการด้านการศึกษาผ่านรายการ ‘ตอบโจทย์’ โดยสถานี ไทยพีบีเอส ว่า ค่าเทอมในปีการศึกษาใหม่นี้ ‘ควรเริ่มด้วยเลข 0’

ศาสตราจารย์.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษา กสศ. กล่าวว่า จากสถานการณ์การลงพื้นที่พบครอบครัวที่อยู่ระดับล่างสุดของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแต่เดิมมีรายได้น้อยอยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 คนกลุ่มนี้จึงได้รับผลกระทบหนักที่สุด แล้วผลของสิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้กระทบเข้าไปในความรู้สึกของเด็กๆ ในชุมชนและกลุ่มเปราะบางเหล่านี้

“จากเดิมที่พวกเขาตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรจะกินอยู่แล้ว เมื่อใกล้เปิดเทอมก็มีปัญหาเพิ่มมาอีกคือจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเสื้อผ้า ค่าอาหาร หรือค่าเดินทางไปโรงเรียน เราจะเห็นภาวะไร้ความหวังอยู่ในสายตาหม่นเศร้าของเด็กๆ ซึ่งเราจะพบได้จากทั้งเด็กจนในเมือง เด็กชนบท หรือกลุ่มชาติพันธุ์”

จากนโยบายที่ว่าเด็กไทยควรจะได้เรียนฟรี 15 ปี แต่ข้อมูลที่ปรากฏบ่งชี้ว่าค่าเฉลี่ยของเงินที่ใช้ในวันเปิดเทอมการศึกษาระดับประถมอยู่ที่ 1,796 บาท มัธยมต้น 3,000 บาท และมัธยมปลายอีกเกือบ 4,000 บาท และหากเป็นโรงเรียนในระดับที่ ‘ดี เด่น ดัง’ ค่าใช้จ่ายก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายประจำวันอีก 180 วันตลอดเทอมการศึกษาอีกราว 100 บาทต่อวัน ดังนั้นหากมองที่เพดานค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่สูง จึงเป็นเหมือนกับการตัดโอกาสทางการศึกษาของเด็กระดับล่างสุดออกไปจากระบบโดยอัตโนมัติ

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการและ กสศ. ได้ร่วมมือกันรวบรวมรายชื่อและที่อยู่ของเด็กๆ ในกลุ่มยากจนพิเศษล่างสุด 20% ของประเทศไว้ในระบบ iSEE เพื่อหาทางช่วยเหลือ และคิดว่ารัฐบาลควรงดเว้นการเก็บเงินจากเด็กกลุ่มนี้

เด็กเก่งจริงจะสอบเข้าโรงเรียนไหนก็ได้?

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ. กล่าวเสริมว่า กสศ. ได้สำรวจข้อมูลเด็กยากจนพิเศษโดยเน้นครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน รวมถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อประมวลว่าเด็กคนไหนที่เข้าข่ายด้อยโอกาส ขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษา จากนั้นจึงให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม โดยฐานข้อมูลนี้ หน่วยงานอื่นๆ ยังสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ได้

ในเรื่องที่ว่าเด็กเรียนเก่งสามารถสอบเข้าเรียนโรงเรียนไหนก็ได้นั้น ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า ยิ่งโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีคุณภาพ จะยิ่งมีการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น ค่าห้องเรียนหลักสูตรพิเศษ หรือครูภาษาต่างประเทศ ซึ่งถ้าเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนด้อยโอกาส อาจจะสามารถสอบเข้าไปได้ แต่เมื่อมองถึงค่าใช้จ่ายระยะยาวแล้ว ก็ต้องพิจารณาโรงเรียนอื่นที่เหมาะสมมากกว่า

“มีผลการเก็บข้อมูลจากการสอบ PISA โดย OECD ที่ชี้ถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการแบ่งแยกทางสังคมของนักเรียนสูงติด 1 ใน 5 ของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศในแถบละตินอเมริกาที่มีความเหลื่อมล้ำที่สูงมากทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม คือเด็กร่ำรวยจะอยู่ในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ส่วนเด็กยากจนก็จะกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อม ขณะที่เงินที่เราใช้พัฒนารายหัวไม่สามารถทำให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเท่าเทียมกันได้”

ระดมทุนและทรัพยากรการศึกษา เพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาของคนให้มากขึ้น

อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อธิบายว่า มีหลายปัจจัยที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสังคมได้ ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือการศึกษาที่จะทำให้คนมีศักยภาพสูงขึ้น โดย ณ วันนี้การศึกษาไทยได้พัฒนาขึ้นเมื่อผู้ปกครองของเด็กหลายคนสามารถส่งลูกมาเรียนในเมืองและยกระดับฐานะของครอบครัวได้

“ผมเชื่อว่าวันนี้ถ้าเด็กมีความรู้ มีการศึกษาที่ดี จะสามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ความพร้อมทางด้านสังคมได้ ในส่วนของวิธีคิดเรื่องการลดค่าเล่าเรียนคือตัวแปรหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเราต้องหาวิธีให้คนได้เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของทุน ซึ่งหน่วยงานทางการศึกษาต้องช่วยกันระดมทุนและทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสของคนให้มากขึ้น”

สำหรับกลไกในการเยียวยาทางด้านการศึกษาในช่วง COVID-19 เลขา กพฐ. มองว่าการจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้ในช่วงเวลานี้ ต้องมองทั้งองคาพยพ ตั้งแต่เรื่องของโรงเรียน ครู หรือระบบที่รองรับ ทุกวันนี้มีครูที่มีความพร้อมทางด้านศักยภาพจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลังจากนี้จำเป็นจะต้องสร้างให้เกิดครูกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น โดยวางระบบพัฒนาให้รองรับ ซึ่ง กพฐ. จะขับเคลื่อนให้ไปสู่กระบวนนี้โดยใช้องค์ประกอบที่มีเพื่อพัฒนาครูต่อไป

เด็กยากจนพิเศษจะเพิ่มขึ้นถึง 1,000,000 กว่าคนในปีนี้

ศาสตราจารย์.ดร.สมพงษ์ กล่าวสรุปว่า ปัจจุบันมีเด็กยากจนพิเศษที่มีข้อมูลอยู่ราว 700, 000 กว่าคน โดยจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้มีคนตกงานถึง 2,000, 000 กว่าคน ผลจากเรื่องนี้ทำให้มีแนวโน้มว่าจำนวนเด็กยากจนพิเศษจะเพิ่มขึ้นถึง 1,000, 000 กว่าคนในปีนี้

“สิ่งที่น่ากังวลในอนาคตคือเด็ก 1, 000, 000 กว่าคนนี้ เมื่อเขาเรียนต่อในระดับสูงขึ้น จำนวนเงินที่ต้องใช้จะเพิ่มเป็นเท่าตัว สิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องใช้ในระหว่างเรียน เช่นค่าอาหารหรือค่าเดินทาง นับเป็นอุปสรรคที่จะทำให้เด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้าเราไม่ให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จะมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาอีกถึงประมาณ 20-30% ซึ่งเป็นการออกกลางคันครั้งใหญ่ แล้วจะเกิดเด็กนอกระบบทะลักออกมาอีกมาก กลายเป็นผลต่อเนื่องถึงระบบแรงงานในสังคมไทย เราจะมีแต่แรงงานฝีมือขั้นต่ำ เป็นผลกระทบที่ตกถึงครอบครัว ชุมชน สังคม ตลาดแรงงานทั้งหมด”

ดังนั้นทางออกเฉพาะหน้าที่ควรทำ คือการทำให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนของเด็กนอกระบบ 700, 000 คนนี้ให้เป็น ‘0’ โดยใช้เครือข่ายครูในพื้นที่ที่รู้ข้อมูลเด็กช่วยจัดทำให้เป็นระบบ รวมถึงช่วยประคับประคองผู้ปกครองเด็กให้มีงานทำ มีรายได้ ด้วยวิธีการนี้เราจะช่วยป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบได้ถึง 38%

สำคัญที่สุดคือต้องดึงเด็กไว้ในระบบให้ได้

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค กล่าวสรุปว่า จำนวนตัวเลขของเด็กยากจนพิเศษที่จะเพิ่มไปถึง 1,000,000 กว่าคน สะท้อนถึงความน่าเป็นห่วงในเรื่องทุนมนุษย์ในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านปัญหาทางสังคมต่างๆ เนื่องจากกลุ่มเด็กที่แก้ปัญหาได้ยากที่สุดคือเด็กที่พ้นออกไปนอกระบบแล้ว

“ถ้าเป็นเด็กในโรงเรียนเราสามารถใช้กระบวนการต่างๆ เข้าไปแก้ไขให้อยู่ในโรงเรียนจนเรียนจบได้ แต่ถ้าเด็กออกจากโรงเรียนไป 2-3 ปี จะเป็นกลุ่มที่ติดตามให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ยาก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือต้องทำให้เขาไม่หลุดออกไป ความเร่งด่วนของทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่ด้านการศึกษาในตอนนี้ จึงต้องช่วยกันติดตาม คอยเฝ้าระวังให้มีเด็กหลุดออกนอกระบบน้อยที่สุด คนไหนที่มีแนวโน้มที่จะหลุด ทางกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะในเรื่องการลดหย่อนผ่อนผันค่าเล่าเรียน หรือให้ทุนต่างๆ เชื่อว่าหากเราร่วมมือกันทุกฝ่าย ก็จะสามารถลดปัญหาในระยะยาวได้ เพราะผลสุดท้ายแล้วการลงทุนเพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบนั้น หมายถึงการที่เราช่วยกันกำหนดภาพอนาคตของประเทศไปด้วยกัน” ดร.ภูมิศรันย์ กล่าว