ครูที่มุ่งมั่นพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กทุกคนพัฒนาได้

ครูที่มุ่งมั่นพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กทุกคนพัฒนาได้

ครูที่มุ่งมั่นตั้งใจทำเพื่อนักเรียน
ลบคำสบประมาทว่าเด็กปางปอยพัฒนาไม่ได้ 

จากคำสบประมาทที่ว่า “เด็กปางปอยพัฒนาไม่ได้” กลายเป็นแรงขับที่ผลักดันให้ครูรุ่นใหม่ไฟแรงคนหนึ่งมุ่งมั่นตั้งใจทำงานสุดกำลังเพียงเพื่อต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้

ที่สำคัญนี่ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างไร เมื่อวันหนึ่ง​โรงเรียนบ้านปางปอย กลายเป็น “ม้ามืด”ที่เข้าไปคว้ารางวัลงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติประเภทกิจกรรมการประกวดแปรรูปอาหารปี 2562 จากการแปรรูปกล้วยน้ำว้าที่มีอยู่มากมายในชุมชนให้กลายเป็นทองพับสุมนไพรจากแป้งกล้วยน้ำว้าได้สำเร็จ

ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะกับโรงเรียนที่เสียเปรียบในหลายด้าน ทั้งสถานที่ตั้งซึ่งอยู่บนดอยห่างไกลจากตัวเมือง เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ งบประมาณ  แต่ทั้งหมดก็พิสูจน์ให้เห็นว่า​ “เด็กทุกคนพัฒนาได้”

 แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ ครูศิริพร เตชนันท์ จากโรงเรียนบ้านปางปอย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และ เดินหน้าทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง

 

เริ่มจากปรับวิธีการเรียนการสอน

เส้นทางความเป็นครูของของครูศิริพร เริ่มจากการทำหน้าที่งานพัสดุ ดูงบประมาณ ในช่วงที่โรงเรียนบ้านปางปอยยังไม่มีอะไร ทั้งตึกเรียน อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน แต่ด้วยความมุ่งมั่นของผู้อำนวยการ ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพจนเข้าที่เข้าทาง และเริ่มต้นจะมามุ่งเน้นที่การพัฒนาตัวเด็กอย่างจริงจังในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา  

 จังหวะเดียวกับที่ทางโรงเรียนได้ส่งครูศิริพร ไปเข้าการอบรมรูปแบบการเรียนการสอน ของ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม” ซึ่งเน้นให้เด็กได้รู้จักคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำแบบเดิมๆ ผ่านกระบวนการ ตั้งคำถาม จินตนาการ วางแผน ลงมือทำ และ รีเฟล็คท์ ​ซึ่งต่อมาได้นำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนผ่านฐานต่างๆ รวมถึงการแปรรูปอาหารที่นักเรียนไปได้รางวัลมา

 “การทำหน้าที่ของครูคือจะเปลี่ยนจากคนสอน คนบอกสูตร มาเป็นคนที่แค่คอยชี้แนะให้คำแนะนำให้เขารู้จักไปหาข้อมูลด้วยตัวเอง เช่นการทำแป้งจากกล้วยน้ำว้าเด็กก็ต้องไปหาวิธีทำจากในอินเตอร์เน็ตซึ่งทำครั้งแรกอาจไม่สำเร็จก็ต้องมาปรับแก้ไขตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง”​

 

เด็กเกิดการเรียนรู้มากกว่าท่องจำ

ครูศิริพร มองว่า สิ่งที่จะทำให้เด็กเปลี่ยนได้คือต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน ที่ไม่ใช่แค่สอนให้เขาท่องจำแต่ในตำรา แต่ต้องสอนให้เขาคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดซึ่งเราก็เห็นผลว่ามันดีขึ้นจริงเด็กได้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น  ซึ่งไม่ได้หวังว่าเขาต้องเปลี่ยน 100% แค่ดีขึ้นก็พอใจแล้ว

สิ่งที่ทำให้ครูศิริพร มีความมุ่งมั่นอยากทำให้เด็กมีชีวิตที่ดีขึ้นคือการได้ไปเห็นชีวิตความยากลำบากของเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ ฐานะยากจน ตอนไปเยี่ยมบ้านจะเห็นว่าหลายครอบครัวลำบาก ขาดแคลนไม่มีอาหาร ครูกับเพื่อนครูก็จะช่วยกันไปส่งอาหารให้บ้างเท่าที่ทำได้

 

สร้างพื้นที่การเรียนรู้และแสดงออก

อีกด้านหนึ่ง ครูศิริพร ยังพยายามสร้างโอกาส สร้างเวทีให้เด็กได้มีพื้นที่แสดงความสามารถ ฝึกทักษะ กล้าแสดงออก เพราะปกติเด็กจะเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออก ก็ต้องพยายามหาเวทีให้เด็กได้ไปร่วมแข่งขัน ซึ่งไม่ได้หวังเรื่องแพ้ชนะแต่สิ่งสำคัญคือได้เรียนรู้  

รางวัล Super Teacher ที่ได้รับจากภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะครูผู้สอนที่มีผลงานนวัตกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างยั่งยืนและโดดเด่น  เป็นอีกเครื่องยืนยันว่า  สิ่งที่ครูศิริพรทำมานั้น มาถูกทางและตอกย้ำความเชื่อที่ว่าเด็กทุกคนพัฒนาได้    

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค