‘ความหวัง’ คือสิ่งที่ส่งต่อกันได้” – ลีน่า อัสรีนา เตาวะโต

‘ความหวัง’ คือสิ่งที่ส่งต่อกันได้” – ลีน่า อัสรีนา เตาวะโต

นักพูดจุดประกายความหวังทางการศึกษาให้คนในชุมชน
ลีน่า’ อัสรีนา เตาวะโต นักศึกษาทุนนวัตกรรม
สายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1

‘จากผู้รับต้องเป็นผู้ให้’ คือคำขวัญของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่วิทยาลัยชุมชนสตูล โดยมี ดร.วรรณดี สุธาพาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้วางแนวทางไว้ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปลูกฝังทัศนคติให้นักศึกษาทุกคนเรียนรู้ที่จะตอบแทนสังคม ผ่านการทำงานจิตอาสาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อยกระดับการศึกษาให้คนในท้องถิ่นได้นำความรู้ความสามารถมาพัฒนาชุมชนของตนเอง พร้อมรองรับกับการทำมาหาเลี้ยงชีวิต 

เช่นเดียวกันกับ ‘ลีน่า’ อัสรีนา เตาวะโต นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 สาขาวิชาการท่องเที่ยว ที่เลือกทำงานจิตอาสาด้วยการเป็น “นักพูด” ผู้ส่งต่อแรงบันดาลใจในการเรียนและปลุกความหวังในการสร้างอาชีพ ผ่านการบรรยายให้กับเด็กๆ ในชุมชน ซึ่งเธอบอกว่ายังมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจไม่เรียนหนังสือต่อ เพราะพวกเขามองไม่เห็นว่าการศึกษาจะพาตัวเองไปทางไหน 

 

“ความสิ้นหวัง”
ทำให้รู้คุณค่าของ “ความหวัง”

ลีน่าเล่าให้ฟังว่า เธอชอบการสื่อสารมาตั้งแต่เล็ก ครั้งยังเด็กเธอเลือกถ่ายทอดความรู้สึกผ่านการเขียนบันทึก เขียนเรียงความ พอถึงวัยมัธยมจึงเริ่มเป็นนักพูดจิตอาสา และพาตัวเองเข้าไปหาโอกาสที่จะได้พูดเล่าเรื่องบ่อยๆ ทั้งการเป็นพิธีกร การเล่านิทาน อ่านสุนทรพจน์ต่างๆ ซึ่งเธอค้นพบว่า การพูดที่มีพลังสามารถเปลี่ยนแปลงความคิด หรือทัศนคติของผู้คนได้ เธอจึงตั้งใจที่จะใช้การพูดบอกเล่าความสำคัญของการศึกษา ให้กับเด็กๆ ในชุมชนของเธอ

“เด็กๆ เขาโตมากับการเห็นผู้ใหญ่หรือรุ่นพี่ในหมู่บ้านทำงานรับจ้างพวกกรีดยาง เก็บน้ำยาง หรืองานที่ใช้แรงเป็นส่วนใหญ่ หลายคนเลยคิดว่า ถึงเรียนไปยังไงก็ต้องกลับมาทำงานพวกนี้อยู่ดี
เราจึงมองว่าต้องสร้างแรงจูงใจในการศึกษาให้พวกเขา” 

ลีน่าจึงตั้งใจนำความรู้ในสาขาการท่องเที่ยวที่เธอได้รับจากวิทยาลัย มาถ่ายทอดให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ในชุมชนของเธอ ที่เคยขาดโอกาสในการศึกษาต่อ ได้เห็นว่าการศึกษาสามารถพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งได้และสร้างงานสร้างอาชีพได้

 

ลีน่ามองว่างานจิตอาสานั้นไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็น ‘จิตสำนึก’ เธอเองเป็นคนหนึ่งที่เคยเผชิญกับการหมดหวังว่าจะได้เรียนต่อมาก่อน ลีน่าเติบโตมาเพียงลำพังกับคุณย่า ตั้งแต่จำความได้จะเห็นคุณย่าตื่นตี 1 ทุกวันเพื่อออกไปกรีดยาง แล้วกลับมาทำขนมเตรียมขาย ส่วนตัวเธอเองจะตื่นมาช่วยคุณย่าทำขนม เก็บน้ำยางตั้งแต่ตี 4 แล้วจึงไปโรงเรียน แต่เธอไม่เคยขาดเรียนหรือไปสายเลย ทั้งยังมีผลการเรียนที่ดีสม่ำเสมอ  จนถึงวันที่เธอศึกษาจบระดับชั้นมัธยมปีที่ 6 ก็ได้เจอกับจุดเปลี่ยนในชีวิต

“ตอนจบชั้น ม.6 คุณย่าบอกเราว่า ย่าไม่มีเงินพอจะส่งเสียแล้ว ตอนนั้นจำได้ว่าเพื่อนๆ เขามีที่เรียนกันหมดแล้ว เริ่มท้อว่าไม่รู้จะดิ้นรนหาทางเรียนไปทำไม คิดแต่จะไปทำงานเก็บเงิน แต่เรารู้ว่าถ้าจบแค่ ม.6 ถึงทำงานคงมีรายได้แค่พอกินเดือนต่อเดือน ไม่น่ามีเหลือเก็บไว้เป็นค่าเทอม พอคิดถึงตรงนั้นก็เหมือนข้างหน้ามันมืดไปหมด ไม่มีอะไรจะให้เราหวังกับชีวิตเลย”

 

‘ความหวัง’ คือสิ่งที่ส่งต่อกันได้

การศึกษาเหมือนการปีนต้นมะขาม หากเราขึ้นไปแล้วตกลงมา ก็ยังมีกิ่งก้านที่แผ่ขยายคอยรองรับไว้ แต่การไม่ได้เรียนหนังสือนั้นเหมือนการปีนต้นมะพร้าว วันใดที่พลาดพลั้งร่วงลงมาก็จะตกถึงพื้นโดยไม่มีอะไรรองรับไว้เลย

 

ลีน่าเล่าว่า มีครูท่านหนึ่งแนะนำทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งเป็นทุนที่ให้คนที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสศึกษาต่อ  เธอจึงรีบสมัครทันที เพราะเป็นความหวังสุดท้ายแล้วที่เธอจะได้เรียนต่อ ซึ่งผลก็ออกมาว่าเธอได้รับเลือก ทุนนี้เสมือนแสงที่ช่วยให้ชีวิตเธอสว่างอีกครั้ง

เพราะเคยหมดหวังมาก่อน เราจึงรู้ว่า ‘ความหวัง’ คือสิ่งที่ส่งต่อกันได้

 

หนึ่งปีผ่านไป หนึ่งล้านความหมายที่ได้เรียนรู้มา

หนึ่งปีกับการเรียนในสาขาการท่องเที่ยวทำให้ลีน่าเข้าใจถึงความสำคัญของโอกาส โดยเฉพาะในวิทยาลัยชุมชนที่เน้นภาคปฏิบัติ เธอได้นำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานจริงมาพัฒนาความคิดและต่อยอดจนสามารถมองเห็นความเป็นไปได้ของอนาคตที่หลากหลาย 

เพราะการศึกษาและการทำงานได้พาเธอออกไปเห็นโลกกว้างและช่องทางใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นหมายถึงโอกาสในชีวิตที่มีมากขึ้นตามไปด้วย 

จากประสบการณ์สอนให้ลีน่าเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อในความหวัง และใช้โอกาสที่ได้รับมาอย่าง
คุ้มค่า สิ่งนี้เองที่ทำให้เธออยากถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ และนำเสนอมุมมองความคิดเกี่ยวกับการศึกษาให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยขาดโอกาสในการศึกษาต่อ ได้มองเห็นว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ความยากจนด้อยโอกาสไม่สามารถหยุดพวกเขาจากความฝันและความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ได้ เมื่อเขาเห็นภาพมากขึ้นว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตได้อย่างไร เขาก็มีแรงจูงใจที่จะเรียนมากขึ้น

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค