จังหวัดมหาสารคามได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเมืองแห่งการศึกษา จนได้รับสมญานามว่า “ตักสิลานคร” ด้วยจำนวนสถานศึกษาระดับสูงที่เปิดสอนในพื้นที่มากมายหลายแห่ง แต่อีกด้านหนึ่งในพื้นที่เองก็ยังมีปัญหาเรื่องเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนไม่น้อย ตรงนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญที่บุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังร่วมมือเอาจริงเอาจริงเพื่อแก้ไขปัญหาดึงเด็กที่หลุดออกไปกลับมาเรียนหนังสือหรือฝึกอาชีพเพิ่มทักษะตามความต้องการ
กันตธี เนื่องศรี ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม ฉายภาพการทำงานในพื้นที่ว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 หลังจากที่ได้พูดคุยกับทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อทำภารกิจติดตามหาเด็กนอกระบบในพื้นที่ โดยจัดเวที คิ๊ก ออฟ ร่วมลงนาม 23 หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานการศึกษาท้องถิ่น เหล่ากาชาด สโมสรไลออน มูลนิธิต่างๆ จนนำมาสู่การตั้งอาสาสมัครการศึกษา หรือ อส.กสช.เพื่อที่จะเป็นผู้ที่ไปเก็บข้อมูลติดตามหาเด็กในพื้นที่
สำรวจแล้ว 7,900 คน เริ่มช่วยเหลือกลุ่มแรก 93 คน
จากการทำงานของทีมอาสาสมัครที่ลงไปในพื้นที่และด้วยข้อมูลที่ได้รับจาก กสศ. ทำให้การทำงานติดตามหาเด็กได้ง่าย มีเป้าหมาย มีพื้นที่ มีบ้านเลขที่ให้ไปค้นหา จากจำนวนทั้งหมดกว่าหมื่นคนมีหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่โดยล่าสุดจากที่ได้ลงพื้นที่สำรวจเด็ก 7,900 คน มีเด็กที่พร้อมได้รับการช่วยเหลือ 997 คน ซึ่งคัดแล้วเหลือประมาณเกือบ 300 คน
ทั้งนี้ สามารถเริ่มต้นช่วยเหลือกลุ่มแรก 93 คน โดยตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดมีตัวแทนจากทั้งส่วนราชการ ภาคประชาชน ตัวแทนระดับจังหวัด อำเภอ เพื่อช่วยเหลือเด็กเป็นรายกรณี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการพาไปเรียน กศน. ขณะที่บางส่วนอยากฝึกอาชีพด้านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ การซ่อมพื้นฐาน ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 10 คนที่มีความพร้อมจะไปฝึกกับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน 6 เดือน จบไปก็จะได้ใบรับรองออกไปทำงานได้เลย
ไม่ง่าย…. กว่าเด็กจะเห็นความสำคัญของการศึกษา
กันตธี ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการชักชวนเด็กที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษาแล้วให้กลับมาเรียนหนังสือ เด็กจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับความช่วยเหลือทำนองว่าไม่ต้องมาสนใจช้าน ไม่ต้องมาช่วย แต่ทีมงานก็ต้องใช้วิธีการเข้าไปพูดคุยบ่อยๆ ไปหลายๆ รอบพูดให้เขาเห็นความสำคัญของการศึกษา ซึ่งคนที่มีศักยภาพที่จะชักจูงให้เด็กมาเรียนก็คือญาติพี่น้อง คนที่เขาเชื่อใจทีมงานก็จะประสานผ่านคนกลุ่มนี้ เพื่อให้เขาไปพูดกับน้องๆ ให้เขากลับมาเรียนหนังสือ
“บางเคสเด็กเรียนจบ ม.3 เขาไม่มีความพร้อมจะได้เรียนต่อ เพราะฐานะทางบ้านและต้องดูแลผู้สูงอายุ กรณีแบบนี้ก็ง่ายหน่อยเพราะเขาอยากเรียนต่ออยู่แล้ว แต่บางเคสห่างไปจากระบบการศึกษาไป 3-4 ปีเขาก็ไม่รู้ว่าต้องไปติดต่ออะไรที่ไหน ทีมงานก็จะเข้าไปให้คำแนะนำ บางคนก็กลับเข้ามาสู่ระบบได้ บางคนต้องพากันไปพูดคุย 2-3 รอบ เว้นระยะแล้วกลับไปคุยใหม่ บางทีใช้กลุ่มเด็กรุ่นวัยเดียวกันที่ออกจากระบบด้วยกัน พอคนใดคนหนึ่ง ตัดสินใจก่อนว่าจะกลับมาเรียนต่อ ก็ให้เขาเป็นคนไปชักจูงเพื่อนที่ได้ผลดีเช่นกัน”
ไม่มีวุฒิการศึกษาสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้
จากการลงพื้นที่พบกรณีที่น่าสนใจคือน้องอนุชา ซึ่งออกจากระบบไปตั้งแต่ก่อนจบม.3 เพราะฐานะทางบ้านไม่ดีไม่มีค่ารถ ค่าใช้จ่ายเพียงพอจะส่งให้ไปเรียนได้ จนต้องออกไปรับจ้างทำงานทั่วไป เมื่อทีมงานไปเจอเขาก็บอกว่าอยากกลับมาเรียนต่อ ตอนนี้พาน้องไปสมัครเรียนกศน. โดยเริ่มต้นก็ต้องพาไปเรียนก่อนเพราะห่างจากโรงเรียนมานานก็ยังไม่กล้า แต่สักพักก็เริ่มคุ้นเคย ตอนนี้ทำงานที่อู่ซ่อมรถไปด้วยเรียนไปด้วย
กรณีของน้องอนุชา เป็นหนึ่งปัญหาที่เด็กนอกระบบส่วนใหญ่จะต้องเจอ คือเวลาจะไปทำงานตามโรงงานทอผ้า เขาก็จะถามหาวุฒิการศึกษาว่าจบการศึกษาขึ้นพื้นฐานหรือยัง หากยังไม่จบก็ไม่สามารถทำงานได้ ตรงนี้เป็นปมที่ติดอยู่ในใจตลอด ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ ต้องมาอยู่ที่ร้านซ่อมจักรยาน ดังนั้นเมื่อมีโอกาสเขาก็อยากกลับมาเรียนต่อเพื่อที่จะได้มีโอกาส มีอนาคตที่ดีขึ้น ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่ช่วยให้น้องเขาทำตามความฝันได้สำเร็จ
เฟสสองตั้งเป้าก้าวกระโดดช่วย 2,000 คนปีนี้
“ถามว่าการทำงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้แต่แรกไหมก็ต้องบอกว่าทำได้เกินเป้า เราเห็นการทำงานของทีมงานที่ทำเต็มที่ตั้งแต่ยังไม่มีค่าตอบแทน จนลงพื้นที่ไปช่วยเหลือเด็กได้ประสบความสำเร็จ โดยปี 2563 ทีมงานเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นก็น่าจะทำให้มีผลสำเร็จมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจคือการทำสมัชชาการศึกษาในพื้นที่ ผมบอกกับทีมงานทุกคนที่อาสาเข้ามาทำงานตรงนี้ว่า สิ่งที่เราได้รับเน้นๆ ก็คือเรื่องความสบายใจ ได้บุญได้ช่วยเหลือเด็กหนึ่งคนให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เขาเป็นอยู่ด้วยการศึกษา”
กันตธี มองว่า ทุกคนอยู่ในตัวเมืองมหาสารคาม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษา เป็น “ตักสิลานคร” เพราะฉะนั้น การที่ลูกหลานเราไม่ได้รับการศึกษาที่ดี หรือมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ก็เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างให้กับลูกหลานของเรา โดยปี 2563 จะเป็นระยะที่ 2 ที่ทำงานร่วมกับ กสศ. โดยถือเป็นปีก้าวกระโดดคือจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ 250 คน ปีถัดไปจะตั้งเป้าหมายไว้ 2,000 คน ซึ่งได้บอกกับทีมงานว่าเป็นงานที่ท้าทายมาก ซึ่งจะจัดกระบบการทำงานที่มีโครงสร้างชัดเจนขึ้น
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค