ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาหวั่น ควันหลงจาก COVID-19 อาจส่งผลมากกว่าที่เราคิด

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาหวั่น ควันหลงจาก COVID-19 อาจส่งผลมากกว่าที่เราคิด

สถานการณ์ของ COVID-19  ที่เริ่มคลี่คลาย จนภาคธุรกิจบางส่วนสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง ถือเป็นสัญญาณดีที่ทั่วโลกจะสามารถกลับมาขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อีกครั้ง กระนั้น ผู้เชี่ยวาญด้านการศึกษา ต่างออกโรงเตือน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลก เร่งหามาตรการเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการต้องปิดสถาบันการศึกษา

ที่ผ่านมา การปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก นับเป็นหนึ่งในสัญญาณความเลวร้ายที่น่าตระหนกของพลังการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุใหม่ จนทำให้นานาประเทศต้องบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ ปิดประเทศ และจำกัดการเดินทาง

แม้จะยังไม่เร็วเกินไปที่จะคำนวมูลค่าความเสียหายจากการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ในครั้งนี้ได้ กระนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งหลายต่างก็เริ่มมีการพูดคุยหารือถึงการประเมินผลกระทบในระยะยาวต่อเด็กและเยาวชน และผลกระทบต่ออนาคตองเศรษฐกิจโลกต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันครั้งนี้ รวมถึง การค้นหาวิธีหรือนโยบายระดับสากลที่พอจะตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก้) เปิดเผยว่า โรงเรียนและมหาวิทยาลัยใน 192 แห่งทั่วโลกต้องปิดทำการ กระทบต่อเด็กนักเรียนมากกว่า 90% หรือเกือบ 1,600 ล้านคนทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ รัฐบาลบางประเทศ เริ่มมีคำสั่งให้คลายมาตรการล็อคดาวน์ ทยอยเปิดประเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง ทว่าโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา หนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ กลับยังคงมีเหตุให้ต้องปิดต่อไป

คำถามที่ตามมาก็คือ โรงเรียนจะปิดไปนานอีกเท่าไร แล้วการเรียนของนักเรียนจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และการปิดโรงเรียนครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสอย่างไร

George Psacharopoulos ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้านการพัฒนามนุษย์ (Global Human Development) มหาวิทยาจอร์จทาวน์, Harry Partinos ผู้จัดการปฎิบัติ World Bank Education, Victoria Collis กรรมการผู้อำนวยการ River Path Associates และ Emiliana Vegas ผู้อำนวยการร่วม ศูนย์เพื่อการศึกษาสากล (Center for Universal Education) และผู้เชี่ยวชาญอาวุโส Global Economy and Development ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา แสดงความเห็นว่า คำถามข้างต้นยังคงยากที่จะอธิบายและหาคำตอบ

เหตุผลเพราะ จนถึงขณะนี้ ผู้เชี่ยวาญก็ยังไม่ข้อมูลไม่มีเพียงพอที่จะประเมิน ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีข้อมูลพอที่จะคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ไล่เรียงตั้งแต่คำถามที่ว่า ผู้ติดเชื้อที่รักษาจนหายดีแล้วจะมีโอกาสกลับมาติดเชื้อได้อีกหรือไม่ ไปจนถึง ต้องใช้เวลานานเท่าไรในการพัฒนา ทดสอบ และแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

กระนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษาต่างตระหนักเป็นอย่างดีก็คือ ไวรัสโคโรน่าได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้แก่แวดวงการศึกษา ทำให้การเรียนรู้ขาดหายไป และการขาดหายไปนั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะมาทดแทนได้

George Psacharopoulos และทีมงาน กล่าวอย่างชัดเจนว่า เมื่อเด็กหลุดพ้นจากแวดวงการศึกษา เด็กเหล่านั้นก็หลุดพ้นจากโอกาสที่ดีในอนาคต ซึ่งรวมถึงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ อย่างการได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น รวมไปถึงผลลัพธ์ที่ดีอื่นๆ ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ยากเกินเอื้อมถึงเมื่อเด็กๆ ไม่ได้เรียน 

หลักฐานก็คือ ผลการศึกษาวิจัยบางชิ้นก่อนหน้านี้ ที่บ่งชี้ว่า การขาดหายไปจากห้องเรียน หรือ การที่เด็กไม่ได้เรียนหนังสือในช่วงวิกฤตอย่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีผลกระทบทางลบต่อชีวิตของเด็กคนนั้นยาวนานต่อเนื่องกว่า 40 ปี

ขณะเดียวกัน แม้ว่าผลกระทบของการขาดเรียน หรือ การเว้นระยะห่างจากการศึกษา จะจำกัดอยู่ในระดับบุคคล แต่สำหรับสังคมโดยรวม การศึกษาที่ขาดหายไปในวันนี้ ย่อมต้องมีผลลัพธ์ต่ออนาคตของสังคมทั้งหมดในวันพรุ่งนี้อย่างแน่นอน 

ด้วยตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่น่าหวาดหวั่นดังกล่าว George Psacharopoulos และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านารศึกษา จึงรวบรวมหลักฐานเพื่อคาดการณ์ความสูญเสียที่เป็นไปได้เมื่อต้องปิดโรงเรียน และหวังให้ข้อมูลนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยเหลือผลักดันรัฐบาลนานาประเทศเร่งปรึกษาหาทางแก้ไขในการควบคุมและบรรเทาผล
กระทบของไวรัสโคโรน่าที่กำลังกัดกร่อนการศึกษาและเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ 

สำหรับการคาดการณ์มูลค่าความเสียหายจากการปิดโรงเรียนนี้ มุ่งเน้นไปที่การประเมินความเสียหายจากการสูญเสียรายได้กับสถานะทางเศรษฐกิจในอนาคของเด็กนักเรียน 

George Psacharopoulos อธิบายว่า ในการค้นหาผลลัพธ์ข้างต้น ทางทีมผู้เชี่ยวชาญได้มุ่งไปที่สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของเด็กแต่แรกเริ่ม ซึ่งเป็นสถานะที่อยู่ในระดับล่างสุดของพีระมิด แต่เนื่องจากมีหลายปัจจัยแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน ความแตกต่างของเงื่อนไขในการเรียนทางไกล และภาระกดดันที่เด็กคนหนึ่งจะได้รับ เช่น ความจำเป็นในการหางานเพื่อช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว ทำให้ การค้นหาคำตอบในครั้งนี้ เป็นเพียงการมองหาสัญญาณเตือนโดยคร่าวๆ ว่า เด็กและเยาวชนเหล่านี้ โดนบีบบังคับให้ต้องเสียสละอะไรไปบ้าง เมื่อโรงเรียนปิดทำการ

สมการแรกสุดที่นำมาใช้เริ่มต้นคำนวก็คือ โอกาสเรียนที่เพิ่มขึ้น 1 ปี มีมูลค่าเทียบเท่ากับรายได้ในอนาคตที่เพิ่มขึ้น 10% จากนั้น จึงนำจำนวนเดือนที่โรงเรียนปิดมาคำนวความสูญเสียของรายได้ในอนาคต

เช่น ในกรณีที่ประเทศ X ปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 4 เดือน ความสูญเสียของรายได้ในอนาคตจะอยู่ที่ 2.5% ต่อปีต่อชีวิตการทำงานของเด็กนักเรียนคนนั้นๆ 

ดังนั้น หากคิดตามสูตรดังกล่าว ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งมีจำนวนนักเรียนทั่วประเทศ 76 ล้านคน ประชากรมีอายุการทำงานเฉลี่ย 45 ปี และมีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 53,490 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว  1.737 ล้านบาท) การปิดโรงเรียน 4 เดือน จะทำให้เด็กนักเรียนคนหนึ่งมีโอกาสสูญเสียรายได้ในอนาคตมากถึง 1,337 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 43,439 บาท) ต่อปี  

โดยมูลค่าความสูญเสียข้างต้น คำนวจากอัตราเงินเดือนค่าจ้างในปัจจุบันที่ 33,464 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 63% ของเงินเดือนโดยเฉลี่ยต่อปีในขณะนี้ 

แม้อัตราที่คำนวออกมาได้นี้ อาจดูเหมือนไม่ใช่จำนวนมากสำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาวหนึ่งคนที่ต้องจ่ายให้กับไวรัสโคโรน่า แต่หากมองผลกระทบในภาพรวมระดับประเทศ ตัวเลขดังกล่าวก็ถือได้ว่ามีมูลค่ามหาศาลจนน่าสะเทือนใจ 

เพราะสำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา รายได้ในอนาคตที่สูญหายไปจากการปิดโรงเรียน 4 เดือนรวมกันแล้วสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 12.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อปี ซึ่งขณะที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษามากกว่าครึ่งหนึ่งทั่วประเทศตัดสินใจขยายระยะเวลาปิดทำการไปจนถึงต้นฤดูใบไม้ร่วง มูลค่าความเสียหายดังกล่าวย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

นอกจากนี้ เมื่อนำตัวเลขดังกล่าวมาประเมินในระดับโลก โดยอ้างอิงอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของ เศรษฐกิจโลก จะพบว่า มูลค่าความเสียหายของทั่วโลกจะอยู่สูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงอายุคนรุ่นหนึ่งจากการที่ต้องปิดโรงเรียนในห้วงเวลานี้ 

ถึงจะเป็นตัวเลขจากการประเมินในเบื้องต้น และเป็นการคำนวตามสูตรที่เรียบง่ายที่สุด แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ได้จุดประกายคำถามให้ทางผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและหน่วยงานสถาบันหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าขุดคุ้ยต่อไปว่า 

  1. การคาดการณ์การสูญเสียรายได้ในอนาคตกับความรุนแรงของผลกระทบที่มีต่อคนหนุ่มสาวในประเทศยากจนและประเทศร่ำรวยแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
  2. ภายในประเทศหนึ่งๆ นั้น เด็กและเยาวนกลุ่มไหนที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงมากที่สุดเมื่อต้องขาดเรียนหรือเข้าไม่ถึงการศึกษาที่ควรจะได้รับ
  3. การขาดเรียนที่เว้นหายไปทำให้เด็กและเยาวนต้องเสียอะไรไปบ้าง เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอื่นในประเทศ

ขนาดและระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มพูนมากขึ้นเพราะการปิดโรงเรียนนับเป็นตัวบ่งชี้ชั้นดีที่กระตุ้นให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาใส่ใจและหาแผนนโยบายออกมารับมือนับต่อจากนี้ต่อไป โดยเฉพาะในด้านการศึกษา เพราะผลกระทบที่มีต่อเด็กและเยาวชนจากการระบาดในครั้งนี้ของไวรัสโคโรน่า มีผลฝังลึกและสร้างความเสียหายในระยะยาวมากกว่าภาวะช็อคในระยะสั้นแน่นอน


ที่มา : George Psacharopoulos ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้านการพัฒนามนุษย์ (Global Human Development) มหาวิทยาจอร์จทาวน์, Harry Partinos ผู้จัดการปฎิบัติ World Bank Education, Victoria Collis กรรมการผู้อำนวยการ River Path Associates และ Emiliana Vegas ผู้อำนวยการร่วม ศูนย์เพื่อการศึกษาสากล (Center for Universal Education) และผู้เชี่ยวชาญอาวุโส Global Economy and Development

The COVID-19 cost of school closures

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา