ส่องนโยบายทางการศึกษาทั่วโลกในยุคไวรัส COVID-19 ระบาด

ส่องนโยบายทางการศึกษาทั่วโลกในยุคไวรัส COVID-19 ระบาด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่เพียงกลายเป็นปัจจัยท้าทายด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง การศึกษา ที่แม้หลายประเทศจะสั่งปิดโรงเรียน ปิดสถาบันการศึกษา เพื่อให้เด็กหยุดพัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การศึกษาจะสามารถหยุดพักตามไปด้วยได้

องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งเฝ้าติดตามสถานการณ์การศึกษาในช่วงไวรัส  COVID-19 ระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มมีคำสั่งปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาใน 138 ประเทศทั่วโลกในช่วงต้นเดือนมีนาคม  มีเด็กนักเรียนเกือบ 80% หรือราว 1,300 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวที่เป็นส่วนหนึ่งเพื่อสกัดกั้นการระบาดของไวรัส 

งานนี้ ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงชวนมาส่องดูนโยบายทางการศึกษาของนานาประเทศทั่วโลก ว่ามีการดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้ไวรัส  COVID-19 มีผลกระทบต่อการศึกษาเล่าเรียนของเด็กๆ หลายพันล้านคนทั่วโลก 

ข้อมูลเหล่านี้ ทาง Gwang-Chol Chang และ Satoko Yano เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายทางการศึกษาของยูเนสโก ได้รวบรวมจากหลายแหล่ง ทั้งจากหน่วยงานรัฐ เอกสารทางการ พระราชกำหนด รายงานข่าวและเว็บไซต์ต่างๆ โดยนโยบายเหล่านี้ มีทั้งการประยุกต์ใช้ในระดับท้องถิ่่นและระดับประเทศ

 

1. หลายประเทศมุ่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการศึกษาต่อเนื่อง

นานาประเทศทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญกับการทำให้การเรียนการสอนเดินหน้าต่อไปได้เดินไม่หยุดชะงัก ซึ่งทางออกก็คือ ระบบการศึกษาทางไกล ภายใต้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมมากมาย โดยประเทศส่วนใหญ่ จะใช้อินเทอร์เน็ตและแพล็ตฟอร์ม ออนไลน์ เข้ามาช่วยในเรื่องนี้  เช่น อาร์เจนตินา โครเอเชีย จีน ไซปรัส อียิปต์ ฝรั่งเศส กรีซ อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก โปรตุเกส เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกัน แทบทุกประเทศยังมุ่งสนับสนุนให้คุณครูและผู้สอนใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ เข้ามาช่วยในการสื่อสารกับเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงช่วยในการถ่ายทอดบทเรียนหรือบันทึกบทเรียน ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง พึ่งพาสื่ออย่างอื่น เช่น โทรทัศน์และวิทยุ โดยประเทศที่มีการนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ เช่น อาร์เจนตินา โครเอเชีย จีน คอสตาริกา ฝรั่งเศส อิหร่าน เกาหลีใต้ เม็กซิโก รวันดา ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล สเปน เปรู ไทย และเวียดนาม

นอกจากนี้ เพื่อให้การเรียนการสอนทางไกลเป็นไปอย่างราบรื่น บทบาทของภาครัฐถือเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุด ในฐานะตัวกลางและผู้ประสานงานที่คอยอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการออกเคมเปญรณรงค์ คู่มือแนะแนว การคิด
กลยุทธ์ช่วยสือสาร ในทุกกลุ่มเป้ามาย อย่างครู ผู้ปกครอง นักเรียน และเจ้าหน้าที่ทางการศึกษา เช่น ซาอุดิอาระเบียใช้ทวิตเตอร์ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบทเรียน/ชั้นเรียนออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้เมื่อต้องนำระบบการศึกษาทางไกลมาใช้ก็คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากเด็กนักเรียนบางคน มาจากครอบครัวยากจน รายได้น้อย ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เข้าถึงการเรียนการสอนนอกโรงเรียนได้ บางรายถึงกับอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง และไร้สัญญาณอินเอร์เน็ต ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะเข้ามาจัดการ

สำหรับตัวอย่างของการจัดการปัญหาความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นนี้ ก็เช่น ในจีน ที่รัฐแจกคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนยากจน ให้เงินชดเชยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านระบบสารสนเทศ และให้บริการสัญญาณสื่อสารเคลื่อนที่  ส่วนในฝรั่งเศส จัดระบบเช่ายืมอุปกรณ์ และจัดเตรียมเอกสารการบ้านให้กับผู้เรียนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จัดตั้งสายด่วนให้ครูนักเรียนขอความช่วยเหลือสนับสนุนทางเทคนิคจากรัฐหากมีปัญหาในเรื่องการเรียนการสอนทางไกล ขณะที่ รัฐวอชิงตัน ในสหรัฐฯ จะไม่ยอมให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนออนไลน์จนกว่าจะแน่ใจว่านักเรียนทุกคนมีอุปกรณ์ครบครัน และในโปรตุเกส จับมือกับไปรษณีย์ ในการจัดส่งเอกสารและการบ้านให้แก่ผู้เรียนถึงล้าน

 

2. การปรับตารางการเรียนการสอนและการสอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์

การขยายระยะเวลาปิดภาคเรียนเพราะไวรัส  COVID-19  ย่อมส่งผลกระทบต่อกำหนดการเรียนการสอนของนักเรียนในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากชั่วเวลาที่ต้องปิดคาบเกี่ยวกับช่วงการสอบเข้าศึกษาของเด็กนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ ดังนั้น หลายประเทศจึงต้องมีการปรับกำหนดตารางการสอบใหม่ทั้งหมด โดยที่ ชีลี จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สเปน และเวียนดนาม เลื่อนการสอบออกไป 

ในส่วนของการสอบที่ไม่สามารถเลื่อนออกไปได้ จีน ญี่ปุ่น และไทย ได้จัดการสอบออนไลน์ขึ้น โดยจัดการนัดแนะกับเด็กนักเรียนเป็นรายบุคคลไป เพื่อให้แน่ใจถึงความปลอดภัยของผู้เข้าสอบ ขณะที่ ในสเปน เกาหลีใต้ และเวียดนาม มีการจัดระยะเวลาตารางการเรียนใหม่เพื่อให้ชดเชยในส่วนที่ต้องหยุด ส่วนในสหรัฯ สั่งเลื่อนการสอบของโรงเรียนรัฐบาลทั้งหมดออกไปในปีการศึกษา 2019-2020

การปรับตารางการเรียนการสอน ยังมีผลกระทบต่อคุณครูที่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมและสอบใบอนุญาตครู โดยที่จีน แก้ปัญหาด้วยการจัดอบรมพัฒนาทักษะออนไลน์ และเลื่อนการสอบประเมินคุณสมบัติครูออกไป ในญีปุ่น ออกใบอนุญาตครูชั่วคราวให้แก่ครูที่ไม่สามารถเข้าร่วมอบรมเพื่อต่ออายุใบอนุญาต ขณะที่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และชิลี ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี ช่วยฝึกอบรมทักษะการเรียนการสอนให้แก่คุณครู โดยเฉพาะทักษะในเรื่องดิจิทัล

 

3. มื้ออาหารเปี่ยมโภชนาการ ปัจจัยที่ไม่อาจละเลย

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เด็กและเยาวชนหลายคน โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจน ล้วนพึ่งพาอาหารกลางวันของโรงเรียน ในการหล่อเลี้ยงบำรุงร่างกายให้แข็งแรง โดยในญี่ปุ่น ครอบครัวส่วนหนึ่งจะได้รับเงินคืนในส่วนของอาหารกลางวันที่หายไปเพราะหยุดเรียน ขณะเดียวกันโรงเรียนอีกส่วนหนึ่ง เตรียมจัดส่งอาหารกลางวันให้ถึงบ้านของเด็กนักเรียนแทน ส่วนที่อาร์เจนตินา และรัฐวอชิงตันในสหรัฐฯ ต่างเร่งดำเนินการเพื่อให้โครงการอาหารโรงเรียนเดินหน้าต่อไปได้แม้โรงเรียนปิด ขณะที่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เปิดทางให้ครอบครัวสามารถมารับอาหารกลางวันที่โรงเรียนได้ และบางแห่งเปิดทางให้รับในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อที่พ่อแม่หรือเด็กนักเรียนจะได้ไม่ต้องเดินทางมารับอาหารทุกวัน

ด้านจีนออกมาตรการรับรองให้เด็กนักเรียนทุกคนได้อาหารทุกมื้อหากต้องกักตัวเพราะไวรัส  COVID-19 ที่โรงเรียน และในแคว้นคาตาโลเนีย ของสเปน ออกบัตรเครดิตการ์ดชนิดขอไถ่ถอนคืนได้ ให้แก่ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้นักเรียนสามารถซื้ออาหารได้

 

4.  การแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ดูแล

การเรียนการสอนทางไกลจากที่บ้านและที่ต่างๆ จะกลายเป็นภาระที่ค่อนข้างหนักอึ้งสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ที่มีหน้าที่ดูแล หลายรายประสบปัญหาในการช่วยเหลือสนับสนุนเด็กๆ ในการเรียนการสอนด้วยระบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของเทคโนโลยี และปัญหาที่พ่อแม่ต้องทำงานจากบ้าน หลายประเทศจึงออกคู่มือแนะแนวให้แก่พ่อแม่ เช่น ทีจีน ที่ออกคู่มือสนับสนุนการสอนออนไลน์ ที่อิตาลี เปิดคอร์สออนไลน์หัวข้อการบริหารความสัมพันธ์กับเด็กที่ต้องเรียนในช่วงกักตัว ส่วนในสเปน ออกแพล็ตฟอร์มออนไลน์ให้พ่อแม่ได้พูดคุยกับครูเพื่อขอคำแนะนำ

ด้านฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้เปิดโรงเรียนส่วนหนึ่งเพื่อช่วยพ่อแม่ที่ไม่สามารถดูแลเด็กที่บ้านได้ ส่วนในประเทศที่ยังไม่มีคำสั่งบังคับกักตัว อย่าง ญี่ปุ่น และไทย ก็เปิดทางให้คุณครูสามารถเดินทางไปเยี่ยมครอบครัว เพื่อคอยศึกษาสังเกตการณ์ และให้คำแนะนำเกี่ยบกับการสอนทางไกล

 

5. ใส่ใจกับผลกระทบของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของเด็ก

นอกจากจะเป็นแหล่งรวมวิชาความรู้แล้ว โรงเรียนยังถือเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางสังคมและปฎฺิสัมพันธ์ของมนุษย์ ดังนั้น การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กหลายคนขาดการติดต่อทางสังคม ดังนั้น จึงจำเป็นที่การออกแบบการเรียนการสอนทางไกลต้องคำนึงถึงการสื่อสารปฎิสัมพันธ์ทางสังคมด้วย เนื่องจากทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อพัฒนาการทางการศึกษาของผู้เรียน ในหลายประเทศ เช่น ไทย ใช้แอปพลิเคชั่น เข้ามาช่วยในการพูดคุยสื่อสาร และออกแบบชั้นเรียนที่เปิดให้ครู นักเรียน และเพื่อนร่วมกัน สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ (interactive online class) ส่วนอีกหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น สเปน และสหรัฐฯ จัดสายด่วน 24 ชั่วโมง และนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา เพื่อเฝ้าระวังความรู้สึกโดดเดี่ยวในหมู่เด็กนักเรียน

ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการทางการศึกษาที่หลายประเทศนำมาประยุกต์ปรับใช้ ซึ่งแน่นอนแล้วว่า การเรียนการสอนทางไกลคือทางเลือกอันดับหนึ่งที่เป็นไปได้และเหมาะสมที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มที่ไวรัส  COVID-19 ยังไม่อาจยุติได้ในเร็ววัน ทำให้หลายประเทศต้องออกมาตรการปรับตัวแบบรายวัน และยิ่งทำให้การกักตัว เว้นระยะห่างทางสังคมกินเวลายาวนานขึ้น ซึ่งความเป็นไปได้นี้ คืออีกหนึ่งความท้าทายของทั้งยูเนสโกและหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องเร่งเดินหน้า เพื่อปกป้องให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาอย่างเหมาะ และมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งทางร่ายกายและจิตใจต่อไป

 

ที่มา Gwang-Chol Chang และ Satoko Yano, ฝ่ายนโยบายทางการศึกษา ของ ยูเนสโก :
How are countries addressing the Covid-19 challenges in education? A snapshot of policy measures