คุยกับนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เมื่อ COVID-19 กำลังกระทบต่อความสถานะทางสังคมและความเหลื่อมล้ำ

คุยกับนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เมื่อ COVID-19 กำลังกระทบต่อความสถานะทางสังคมและความเหลื่อมล้ำ

เปิดบทสัมภาษณ์ ดร.เจมส์ เฮคแมน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนามนุษย์ แห่งมหาวิทยาลัย ชิคาโก อีกทั้งยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2000 ผู้ศึกษาวิจัยและพบว่า การลงทุนพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย คุ้มค่ามากที่สุดซึ่งนำมาสู่ สมการพัฒนาคนแนวทางสร้างกำไรคืนสังคม เพื่อการพัฒนาประเทศ เกี่ยวกับทัศนคติมุมมอง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมและสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกัน ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรน่า

ทั้งนี้ เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดร.เจมส์ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น กับ กอนซาโล ชวาร์ซ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันอาร์ชบริดจ์ (Archbridge Institute)โดยดร.เจมส์ ได้แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยการยอมรับว่า วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อคนยากจนและคนด้อยโอกาสในสหรัฐฯ อย่างมาก และการต้องตกงาน จะทำยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้และการเข้าถึงสาธารณสุขที่ดีมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น 

“ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพและรายได้จะทวีความเลวร้ายมากขึ้นเพราะ COVID-19 และความยากจนกับความด้อยโอกาสจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคร้ายนี้คงอยู่เติบโตในสังคมอเมริกัน ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ทำให้สุขภาพของคนไม่เสมอภาคกัน และสุขอนามัยที่แย่ก็ทำให้ บุคคลคนหนึ่งมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมบางอย่างที่เป็นประโยชน์กลับคืนสู่สังคม ด้วยจำนวนคนที่ตกงานมากขึ้น และได้รับผลประโยชน์ด้านประกันสุขภาพลดลง เรียกได้ว่า การตกงานยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมกันด้านสุขภาพบานปลายมากขึ้น และเราก็ตระหนักดีว่า สิ่งนี้คือความจริง เพราะคนที่ตกเป็นเหยื่อจากไวรัสโคโรน่าระบาดในครั้งนี้มากที่สุดก็คือกลุ่มคนที่ไม่อาจเข้าถึงประกันสุขภาพที่ดีได้อยู่ก่อนแล้ว” ดร.เจมส์ กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ของ COVID-19 ที่ต้องปิดโรงเรียน ตามมาตรการล็อคดาวน์และเว้นระยะห่างทางสังคม มีแนวโน้มยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขยายวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากเมื่อเด็กต้องอยู่กับบ้านเรียนหนังสือ ขณะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กที่ครอบครัวมีพร้อมทุกอย่าง ทั้งอุปกรณ์การเรียน เทคโนโลยี และความเอาใจใส่จากพ่อแม่ ย่อมสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถของตนได้ดี ผิดกับเด็กจากครอบครัวยากจนหรือด้อยโอกาสที่ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมกดดัน เช่น พ่อแม่ต้องทำงาน การพัฒนาด้านการเรียนของเด็กย่อมย่ำแย่ตามไปด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของ  สมการพัฒนาคน ที่ประกอบด้วย การลงทุนทางการศึกษา เพื่อลดช่องว่างครอบครัวด้อยโอกาส + การพัฒนาเด็กปฐมวัย + การสร้างและรักษาคุณภาพการศึกษาที่ต่อเนื่องยั่งยืน = กำไรคืนสู่สังคม นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนนี้ ยังคงเชื่อมั่นต่อ แนวคิด American Dream ของสหรัฐฯ ว่า ยังสามารถทำได้และดำเนินไปได้อย่างดี ยืนยันได้จาก เรื่องราวความสำเร็จมากมายของบรรดาผู้อพยพลี้ภัยทั่วโลกทีเข้ามาแสวงหาชีวิตใหม่ในสหรัฐฯ ซึ่งได้รับทั้งโอกาสทางการศึกษาและหน้าที่การงาน ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับตอนอยู่ในบ้านเกิด

ทว่า ปัญหาสำคัญที่ให้ American Dream โดนมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันและไม่อาจเป็นจริงได้ เป็นเพราะ การศึกษาวิจัยในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นไปที่การเติบโตของคนเพียง 1% บนชั้นบนสุดของสถานะทางสังคม ซึ่งในข้อมูลชุดเดียวกัน หากวิเคราะห์อย่างละเอียดจะพบว่า เมื่อเทียบให้ดีแล้ว ความแตกต่างทางสถานะทางสังคมเริ่มหดแคบลงมาเช่นกัน เพียงแต่สื่อหรือสถาบันใหญ่ๆ เลือกที่จะหยิบยกผลทางลบขึ้นมาโหมกระพือ เพื่อเป้าหมายบางอย่างทางการเมือง

ในส่วนของอุปสรรคหลังที่ส่งผลต่อการยกระดับพัฒนานโยบายเพื่อการเปลี่ยนแปลงรายได้และสถานะทางสังคม ก็คือ ความวิตกต่อความซื่อสัตย์จริงใจของผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อการเปลี่ยนแปลงในหมู่สังคมชาวอเมริกัน รวมถึงความกลัวถึงผลที่จะตามมา

โดยดร.เจมส์ กล่าวว่า ความรู้สึกกลัวและกังขาข้างต้น เป็นผลจากบริบทแวดล้อมทางการเมืองของสหรัฐฯ อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ คนทำงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่อาจพูดถึงความจริงและต้นตอของปัญหาได้อย่างตรงไปตรงมาทางการเมือง

“อย่าง วาทกรรมสาธาณะ ทำให้ไม่สามารถพูดได้อย่างตรงไปตรงมา เกี่ยวกับประเด็นด้าน วัฒนธรรม เชื้อชาติ หรือ เพศสภาพ อีกทั้ง ระบบการเซ็นเซอร์ ก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อทุกกลุ่มในสังคมโดยรวมทั้งหมด” ศาสตราจารย์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2000 กล่าว

ขณะเดียวกัน ดร.เจมส์ ยังใช้โอกาสนี้ เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัวที่จะมีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม เพราะ ครอบครัวคือพื้นฐานของชีวิตและการเติบโต เป็นที่บ่มเพาะปลูกฝังค่านิยมทางสังคมมากมาย และมีผลในการสนับสนุนหรือบั่นทอน เด็ก ที่จะเรียนหรือเลิกเรียนได้ 

“ครอบครัว ทำได้มากกว่าโรงเรียน ในการสร้างและบ่มเพาะโอกาสของชีวิต มีผลการศึกษาวิจัยมากมายแสดงหลักฐานบ่งชี้ว่า ครอบครัวมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดทิศทางชีวิตของเด็กๆ ครอบครัวที่บิดเบี้ยวไม่สมบูรณ์ก็จะให้กำเนิดเด็กที่บิดเบี้ยวไม่สมบูรณ์เช่นกัน โรงเรียนเป็นเพียงสถาานที่ที่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดกับเด็กได้เพียงบางส่วนเท่านั้น” ดร.เจมส์ ระบุ

นอกจากนี้ แม้โครงการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือ หน่วยงานอิสระทั้งหลาย เพื่อช่วยให้เด็กเล็กได้เข้าถึงการศึกษา หรือ ระดับก่อนวัยเรียน จะเป็นผลกีต่อเด็กด้อยโอกาส แต่โดยส่วนตัว ดร.เจมส์ ยังคงเชื่อมั่นว่า การลงทุนไปยังสถาบันครอบครัวจะเป็นการแก้ปัญหาด้านการศึกษาอย่างตรงจุดมากกว่า เพราะการที่ครอบครัวมีส่วนในการให้ความรัก ให้การเอาใจใส่ ต่อเด็กอย่างใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กมากกว่า แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่มีใครเข้ามาศึกษาประเมินผลต่อประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง

โครงการสนับสนุนเด็กก่อนวัยเรียนของรัฐ สามารถชดเชยสภาพแวดล้อมทางบ้านของเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสได้ แต่ไม่มีโครงการไหนที่สามารถทดแทนสิ่งแวดล้อม และความรักความเอาใจใส่ของพ่อแม่หรือครอบครัว และประโยชน์ตลอดชีวิตที่จะตามมาได้” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ย้ำอย่างมั่นใจ

 

ที่มา : Archbridge Institute
Nobel-Prize Winning Economist Dr. James Heckman on Social Mobility, the American Dream, and how COVID-19 Could Affect Inequality

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา