โคราชเดินหน้าค้นหาเด็กปฐมวัยและเด็กนอกระบบ คืนโอกาสสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

โคราชเดินหน้าค้นหาเด็กปฐมวัยและเด็กนอกระบบ คืนโอกาสสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สำนักคอมพิวเตอร์ อาคาร 27 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จ.นครราชศรีมา ว่าที่ร้อยตรี นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดนครราชสีมา และอบรมการใช้เครื่องมือสารสนเทศในการปฏิบัติงานตามโครงการฯ พร้อม ดร.อารีย์ ศรีอำนวย ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับภาคีเครือข่ายจังหวัดนครราชสีมา อาทิ จังหวัดนครราชสีมา หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สมาคมประชาสังคมโคราช องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมการประชุมกว่าประมาณ 170 คน

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า บทบาทของกสศ.ในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 4.6 ล้านคนทุกช่วงวัย สำหรับโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีทุนเดิมในการขับเคลื่อนโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานสร้างเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา โดยสามารถจัดตั้งสมัชชาการศึกษานครราชสีมาขึ้น

 

“ในการขับเคลื่อนโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในระยะนี้ กสศ. เน้นการดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปฐมวัย และเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และในปีต่อๆ ไป จะมีการขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายอื่น จึงขอชักชวนหน่วยงานต่างๆช่วยกันทำงานค้นหาเด็กกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ เพื่อคืนโอกาสในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เด็กกลุ่มเป้าหมาย” นายพัฒนะพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเวทีประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติการบรรยายจาก คุณภารดี เกียรติภิญโญชัย เครือข่ายมูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน (BLC) กรรมการผู้จัดการ บจก.ราชสีมา และเลขานุการสมาคมประชาสังคมโคราช ภาคีภาคเอกชนที่เข้ามาหนุนเสริมการขับเคลื่อนโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ ที่มานำเสนอประสบการณ์ด้านการให้ทุนการศึกษาและจัดทำโครงการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนของจังหวัดนครราชสีมา ได้กลับเข้ามาเรียนและได้ฝึกอาชีพ เช่น สาขาช่างยนต์ ช่างกล เครื่องประดับอัญมณี การบัญชี การโรงแรม การออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น และไปฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการเอกชนในภาคต่างๆ

นอกจากนี้ มูลนิธิได้ดำเนินการในจังหวัดนครราชสีมามา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนถึงปัจจุบัน สามารถช่วยเหลือในการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนจำนวน 682 คน ในอนาคตเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของจังหวัดนครราชสีมา ที่สนใจรับการสนับสนุนจากโครงการของมูลนิธิร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชนของจังหวัด การขับเคลื่อนนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและมอบโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กที่ยากจนได้ โดยการหนุนช่วยของภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมาร่วมกับภาคส่วนของราชการ ถือเป็นแหล่งทุนที่สามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ ที่กำลังจะเริ่มต้นนี้ได้ด้วย