แม่พิมพ์ ‘ติมอร์เลสเต’ ครูผู้ไม่เคยหยุดเรียนรู้เพื่อเด็ก

แม่พิมพ์ ‘ติมอร์เลสเต’ ครูผู้ไม่เคยหยุดเรียนรู้เพื่อเด็ก

สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ถือเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 14,874 ตารางกิโลโมตร ถูกล้อมรอบด้วยทะเลและภูเขาเป็นส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 75 ของประชากรอาศัยอยู่ตามชนบทพื้นที่ห่างไกล จากภาวะปัญหาทางการเมืองที่รุนแรงเมื่อหลายสิบปีก่อน ได้ลุกลามทำให้ระบบการศึกษาของประเทศเกิดปัญหาอย่างหนัก โรงเรียนต่างๆทั่วประเทศร้อยละ 90 ถูกทำลายจากภาวะปัญหาทางการเมืองในขณะนั้น จึงส่งผลทำให้การศึกษาของประเทศต้องหยุดชะงักลงไปทันที

จากสภาพปัญหาเหล่านั้นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ครูลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ (Lurdes Rangel Gonçalves) สอนอยู่ที่โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมืองมาตาตา (Matata) ในเมืองเอเมร่า (Ermera) เด็กนักเรียนทุกคนเรียกเธอว่า ‘มาม่ารู’ หรือ ‘คุณแม่รู’ ตลอดระยะเวลา 20 ปี ในฐานะ ‘แม่พิมพ์’ ชั้นดีของวงการศึกษา เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งร่วมเป็นคณะทำงานผู้เขียนหลักสูตรระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6  และหลักสูตรในการรู้หนังสือ รวมถึงสื่อการเรียนการสอน และ คู่มือครู

ครูลูร์เดส มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานักเรียน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจแบบองค์รวม อีกทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และเธอไม่เคยหยุดเรียนรู้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งยังเลือกพัฒนาศึกษายกระดับคุณภาพของตัวเองตลอดเวลาแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป้าหมายต้องการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ให้กับนักเรียนทุกคนที่เธอตั้งใจบ่มเพาะสอนอย่างทะนุถนอม

ครูลูร์เดส สอนวิชาเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา ช่างมีความกล้าหาญอย่างมาก เธอสอนเรื่องเพศศึกษาให้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เนื่องจากตั้งเป้าหมายต้องการลดความเสี่ยงในสถานการณ์ไม่คาดฝัน และเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้เรื่องสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศ และหากเด็กคนใดขาดเรียนเธอจะไปตามหาให้กลับมาเรียนเหมือนเดิม

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ครูลูร์เดส แค่เพียงต้องการให้การศึกษาเข้าถึงเด็กทุกอย่างมีคุณภาพเท่านั้น และเธอไม่เคยรู้สึกเสียใจเลยที่ต้องมาสอนหนังสืออยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล อีกทั้งยังย้ำกับนักเรียนทุกคนว่า “ถึงจะอยู่พื้นที่ชนบทห่างไกลแค่ไหน แต่สมองต้องได้รับการพัฒนาเหมือนกับเด็กในเมืองเช่นกัน”

ความภาคภูมิใจที่สุดของครูลูร์เดส คือเด็กๆเรียกเธอว่า ‘มาม่ารู’ เพราะมันหมายถึงความรัก ซึ่งดีกว่าความรุนแรง

จากบทบาทที่มากกว่า ‘ครู’ พิสูจน์ให้เห็นความตั้งใจจนได้รับการยกย่องให้เป็นครูต้นแบบของติมอร์-เลสเต และยังเป็นครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ปี 2562 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์ ผู้สร้างคุณูปการต่อการศึกษา สร้างประโยชน์แก่สังคมและชุมชน ที่สำคัญเป็นแรงบันดาลใจแก่เพื่อนครูด้วยกัน