เพิ่ม Q-Class room ดันคุณภาพถึงห้องเรียน

เพิ่ม Q-Class room ดันคุณภาพถึงห้องเรียน

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวก่อนปิดงานประชุมวิชาการ “นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพ” ผลสำเร็จและบทเรียนจากโครงการวิจัยปฏิบัติการ “โรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง” (School Quality Improvement Program : sQip) ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค ฟอรัม 4 เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า ถ้าเราไม่เน้นความเสมอภาคประเทศไทยก็จะไปพึ่งโรงเรียนเด่นโรงเรียนดังอยู่ไม่กี่โรงเรียนประเทศ เมื่อนับดูจำนวนนักเรียนแล้วแต่ละรุ่นๆมีเพียงหลักพันคนเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วนักเรียนแต่ละรุ่นๆเกิดขึ้นมาปีเดียวกันประมาณ 7-8 แสนกว่าคน เพราะฉะนั้นถ้าไปพึ่งเฉพาะโรงเรียนเด่นโรงเรียนดังในเมืองเท่านั้น ก็คงทำให้การศึกษาในประเทศของเราก้าวหน้าไปไม่ได้

“หลักการสำคัญตอนนี้คือกำลังสร้างวัฒนธรรมใหม่ วัฒนธรรมแห่งคุณภาพ ถ้าเราสังเกตสิ่งที่ กสศ.และสกว.ใช้ตัวย่อคำว่า sQip โดยเขียนตัวอักษร S I และp เป็นตัวเล็ก ส่วนตัว Q ที่เป็นตัวใหญ่นั้นเพราะเราต้องการเน้นเรื่องคุณภาพสำคัญที่สุด โดยฝากคุณภาพไว้กับทุกมิติของการดำเนินงาน” นายสุภกร ระบุ

นายสุภกร กล่าวว่า การทำโครงการ sQip ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เปรียญเทียบก็เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ปรับระบบ OS หรือ operating system เหมือนเราใช้ระบบโทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ Android และ IOS สำหรับระบบ OS ถือเป็นระบบพื้นฐานของทุกแอพพลิเคชั่น แต่แอพพลิเคชั่นจะเดินได้มีประสิทธิภาพแค่ไหนมันขึ้นอยู่กับเครื่องและOS ซึ่งตัวเครื่องหรือตัวโรงเรียนไม่ได้อยู่ในวิสัยที่เราจะไปเปลี่ยนโรงเรียนหรือซื้อของให้ แต่ว่า OS มันอยู่ที่พวกเรา บุคลากร วัฒนธรรมของโรงเรียน
ดังนั้นช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาสิ่งที่ sQip ทำคืออปรับ OS ใหม่เป็นวัฒนธรรมคุณภาพ เป็นวัฒนธรรมที่เราตั้งเป้าหมายเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเราเอง เป็นวัฒนธรรมที่หันไปรอบๆแล้วมีเพื่อนค่อยปรึกษาหารือกัน เป็นวัฒนธรรมที่เราจะดูว่าข้อมูลที่แน่ๆมันอยู่ตรงจุดไหน ปัญหาอยู่ที่ใด นั่นเป็นเรื่องการปรับ OS

นายสุภกร กล่าวว่า เมื่อปรับวัฒนธรรมมีคุณภาพ ปรับ OS แล้ว ขั้นตอนต่อไปขอชวนอาจารย์ลงแอพพลิเคชั่นว่า ควรทำอย่างไรให้การเรียนการสอนเห็นหน้าเห็นหลังเห็นในทางที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นต่อไปจะมีตัว Q-class room เป็นตัวชูโรง และถ้าเราทิ้ง OS ที่อุตส่าห์พัฒนากันขึ้นมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็น่าจะเป๊กหากลงแค่แอพพลิเคชั่น

“ถ้าอาจารย์ยังสนใจ sQip ในขั้นตอนต่อไปอยากจะเรียนเชิญให้เคลื่อนตัวต่อไป ต่อไปนอกจากเน้นเรื่องของวัฒนธรรมคุณภาพแล้ว อาจจะต้องเน้นไปที่ห้องเรียนให้มากขึ้น โดยมี Q-class room เพิ่มขึ้นมาเป็น Q ที่ 6 อยากเชิญชวนโรงเรียนเข้ามาสมัครร่วมโครงการ แต่ไม่ใช่การมาสมัครกับ กสศ. แต่สมัครกับตัวอาจารย์เอง เพราะเรื่องนี้มันอยู่ที่ใจของอาจารย์มากกว่า กสศ.” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว

นายสุภกร กล่าวว่า ส่วนโจทย์และบทเรียนที่ได้จากอาจารย์ในช่วง 2 วันที่ผ่านมานั้น อย่างเช่น อีก 2 ปี ข้างหน้าเราจะเริ่มโชว์ผลงานใดได้บ้าง อาจต้องเริ่มตั้ง Goal ที่เป็น Goal ส่วนร่วมแล้วขยับไป Goal ในส่วนของโรงเรียนว่าเชื่อมโยงอย่างไร แล้วเชื่อมไปยัง Q-class room หรือไม่ ทั้งนี้บทเรียนที่ได้พูดคุยตลอด 2 วันของการประชุมวิชาการมีอาจารย์บางท่านไม่ได้เดินทางมาอาจมีการเปิดเวทีในพื้นที่ครูเพิ่มเติม ก่อนจะก้าวไปถึง Q-class room ที่อาจเริ่มต้นภาคเรียนที่ 2 นี้ต่อไป

นายสุภกร กล่าวว่า หลังจากนี้ กสศ.จะรับไม้ต่อจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และขอบคุณอย่างยิ่งที่ทำให้เริ่มโครงการมาได้ในช่วงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ที่ขาดไม่ได้คือสปอนเซอร์ทางนโยบายสำคัญ อย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งวิทยากรทีมงานช่วยเทร์นเรื่อง Growth mindset ขอบคุณทางกระทรวงศึกษาธิการในภาพรวมที่กรุณาผลักดันนโยบายและสนับสนุนเติมงบประมาณและให้กำลังใจ

#กสศเปิดประตูสู่โอกาส #sQip #โรงเรียนคุณภาพ #สพฐ.