รองเท้าคู่ใหม่…กำลังบอกอะไรกับเรา

รองเท้าคู่ใหม่…กำลังบอกอะไรกับเรา

ทันทีที่ปากต่อปากบอกต่อกันไปว่า จะมีการนำรองเท้านักเรียนมามอบให้เด็ก ๆ ใน ‘ชุมชนโค้งทางรถไฟยมราช’ ในเวลาไม่นาน ครอบครัวที่ลงชื่อไว้กับโครงการครูข้างถนนก็ทยอยกันมารับรองเท้าคู่ใหม่ มีทั้งรองเท้าแบบหนังสำหรับเด็กอนุบาล รองเท้าผู้ชาย รองเท้าผู้หญิง รองเท้าแบบผ้าใบสีต่าง ๆ ตามที่โรงเรียนกำหนด และนอกจากรองเท้าแล้ว ยังมีข้าวสารอาหารแห้งรวมถึงชุดตรวจ ATK ให้รับกลับไปด้วย

แม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี มานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ ‘ฟรีจริง’ โดยเฉพาะสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในโรงเรียนกลับสร้างภาระหนักไม่แพ้ค่าครองชีพ เฉพาะที่เกี่ยวกับเครื่องแบบก็กว่า 2,000 บาท ที่ต้องจ่ายเพิ่ม เนื่องจากชุดนักเรียนที่ได้มาไม่พอ ทั้งยังไม่ครอบคลุมถึงรองเท้าและกระเป๋านักเรียน ยังไม่นับว่า ปัจจุบันจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อชุดตรวจ ATK ในแต่ละสัปดาห์เข้าไปอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้สำหรับครอบครัวที่พอมีฐานะอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับชาวชุมชนโค้งรถไฟยมราช หรืออาจรวมถึงอีกหลายชุมชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่ซุกซ่อนอยู่ในกรุงเทพ ฯ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มากกว่ารายได้ต่อวันเสียอีก ซึ่งยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องเสีย เช่น ค่าเดินทางไปโรงเรียนในแต่ละวัน 

ทองพูล บัวศรี หรือ ‘ครูจิ๋ว’ ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน (ไซต์ก่อสร้างและริมทางรถไฟ) บอกว่า ภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเหล่านี้ส่งผลต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสถานการณ์หลังโควิดเป็นต้นมา เห็นได้ชัดเจนว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้นมาก จากการทำงานในพื้นที่นี้มาตลอด เดิมเด็ก ๆ กลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบที่ทำบัญชีไว้จะอยู่ที่ราว ๆ 40 – 50 คนเท่านั้น แต่หลังจากโควิด เด็กกลุ่มนี้เพิ่มเป็นเท่าตัว อย่างรองเท้านำมาในวันนี้อยู่ที่ 97 คน และยังมีรายชื่อเพิ่งขอลงทะเบียนเพิ่มเข้ามาอีก

“ถึงตอนนี้เด็กเปิดเทอมใหม่มาแล้ว 3 เดือน แต่บางคนยังต้องใส่รองเท้าคู่เก่า ตั้งแต่ก่อนโควิด เท้าเขาโตเร็วก็ต้องใส่ไปคับ ๆ แบบนั้นหรือเหยียบส้นไป ที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ บางคนเรียนไปด้วยทำงานด้วย ตกกลางคืนต้องช่วยผู้ปกครองหารายได้ ไปขายพวงมาลัย ดอกจำปี จำปา รายได้ตรงนี้ เขารู้สึกสำคัญกับเขากว่าการไปโรงเรียน บางคนจึงตัดสินใจเลิกเรียนกลางคันก็มี อายุเขายังอยู่ในชั้นประถมอยู่เลย” 

สำหรับการมอบรองเท้านักเรียน อาหารและสิ่งของจำเป็นครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง โครงการครูข้างถนน กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวกลุ่มเปราะบาง อย่างน้อยที่สุดเพื่อประคับประคองให้ผู้ปกครองไม่ตัดสินใจนำเด็กออกจากระบบการศึกษา หรือเข้าไปช่วยเด็กที่หลุดไปแล้วนำกลับคืนมา 

“บางส่วนหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว แต่เราทำให้กลับคืนมา 6 – 7 คน เป็นการกลับคืนที่น่าภาคภูมิใจ เด็กที่อาจจะไปต่อไม่ไหว เราจะเข้าไปประคองเรื่องชุดนักเรียน อาหารการกิน วันนี้จึงมอบถุงยังชีพ และชุดตรวจ ATK ที่เด็กจำเป็นต้องตรวจอย่างน้อย 1 ครั้งต่อ 2 สัปดาห์ด้วย” 

หนุ่มน้อยกำลังลองรองเท้าคู่ใหม่ที่เพิ่งรับมาสด ๆ หมาด ๆ ตอนนี้เขากำลังเรียนในระดับชั้น ป.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในสังกัด กทม. มีสวัสดิการอาหารเช้าและเที่ยงให้ และโชคดีที่ชุมชนนี้อยู่ไม่ไกลโรงเรียนในสังกัด กทม.อีกแห่งหนึ่ง ที่เปิดการเรียนการสอนในระดับมัธยมด้วย จึงทำให้โอกาสที่จะได้เรียนต่อเนื่องของเด็กในชุมชนมีสูงขึ้น เพราะไม่ได้เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ที่บ้านมากนัก และโรงเรียนอยู่ในระยะที่พอเดินไปถึงได้

“เสียดายที่ชุมชนไม่มีพื้นที่ให้เตะบอลครับ ถ้ามีก็ไกลออกไปตรงใต้ทางด่วน ซึ่งส่วนใหญ่เด็กโตจะเล่นกัน ที่ฝึกซ้อมของผมเลยไม่ค่อยมีเท่าไหร่” เด็กหนุ่มบอก ก่อนจะหอบรองเท้าใหม่ของเขาเดินกลับเข้าชุมชนไปตามทางรถไฟ

ถนนฝั่งตรงข้ามชุมชน มีสนามปูหญ้าเทียมเล็ก ๆ ของซุ้มเฉลิมพระเกียรติ แต่ที่ตรงนี้เองก็คือบริเวณที่เด็กประถมจะเอาฟุตบอลไปซ้อมรับส่งและฝึกทักษะเล็ก ๆ น้อย ๆ พอได้เหงื่อ แม้จะคับแคบและสถานที่ไม่เอื้ออำนวยมากนัก แต่เชื่อว่า หากมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในวันหนึ่งก็อาจมีชื่อเด็กจากชุมชนโค้งรถไฟยมราช เป็นหนึ่งในตัวแทนทีมชาติของเราก็เป็นได้

ครูจิ๋ว บอกว่า งานของเราก็ยังหยุดไม่ได้ จะต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับเอกชนหรือหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันอุดช่องว่างที่สวัสดิการของรัฐยังมีไม่พอ หรือไปไม่ถึงคนบางกลุ่ม

ครูจิ๋ว บอกอีกว่า ทุกปีจะต้องหางบประมาณมาสนับสนุนเด็กกลุ่มเปราะบางให้ได้ราว 200,000 บาท รวมถึงความช่วยเหลืออื่น ๆ ซึ่งในระยะหลังราคาของได้ขยับขึ้นไปสูงกว่าเดิมมาก

เด็กส่วนใหญ่ในชุมชนโค้งรถไฟยมราชจะศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่งจะมีสวัสดิการที่มากกว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ. โดยจะมีค่าอาหารเช้า อาหารกลางวัน ประกันอุบัติเหตุ ค่าชุดนักเรียน 360 บาทต่อคนต่อปี ค่าอุปกรณ์การเรียน 195 บาทต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตาม งบประมาณจำนวนนี้ยังไม่เพียงพอ เพราะเด็กหนึ่งคนต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าชุดนักเรียนอย่างน้อย 2,000 บาทต่อคน

สำหรับการมอบรองเท้าและชุดข้าวสารอาหารแห้งในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก กสศ. และขณะนี้กำลังทำข้อมูลของชุมชนเพิ่มเติม เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถรับทุนจาก กสศ.เป็นต้นทุนในการศึกษาต่อไปในระยะยาวได้

“ครูอยากให้ได้เรียนทุกคน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเด็กต้องออกจากโรงเรียนด้วยความจำเป็นของเขา อย่างในวันนี้ที่มามอบรองเท้ามีเด็กขอสละสิทธิไปแล้ว 7 คน เพราะเขาบอกว่าจะเลิกเรียนแล้ว”

นี่คืออาชีพที่เห็นได้ทั่วไปของเด็กในชุมชนแห่งนี้ เป็นรายได้อีกทางหนึ่งของครอบครัวที่ต้องแลกกับความเสี่ยง ทั้งยังทำให้ไม่สามารถมีสมาธิหรือจดจ่อการเรียนได้เลย นอกจากนี้ยังมีความคาบเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายว่าด้วยแรงงานเด็กด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยทางเลือกที่มีไม่มากนัก นี่จึงเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่หลายฝ่ายจะต้องช่วยกันสุมหัวหาทางออกกันต่อไป

เด็กหญิงนำรองเท้าใหม่กลับบ้านไปด้วยความดีใจ แต่เมื่อกลับไปลองใส่ก็ทำให้หน้าเสียเพราะรองเท้าที่ได้มาเล็กเกินไป

ด้วยความที่เพิ่งยื่นรายชื่อเป็นเด็กใหม่ในโครงการของครูจิ๋ว จึงทำให้อาจเกิดความคาดเคลื่อนของข้อมูล ขนาดเท้าที่ได้รับมาในเอกสาร เป็นขนาดช่วงก่อนโควิด แต่ตอนนี้ใส่ไม่ได้แล้ว สาเหตุที่เธอเพิ่งเข้าโครงการ เพราะก่อนนี้คุณพ่อยังมีรายได้ แต่เมื่อพ่อต้องออกจากงานเพราะโควิด ทำให้เหลือรายได้ทางเดียวจากการค้าขายของแม่เท่านั้น ขณะที่แม่ยังมีพี่น้องอีกสองคนต้องดูแล

“จะออกไปช่วยแม่ขายของเท่าที่ช่วยได้ ถ้าตรงกับวันเสาร์ อาทิตย์ หรือมีวันหยุดก็ออกไปขายของกับแม่ตั้งแต่ตี 2 หนูอยากช่วยแม่ค่ะ” เด็กหญิงประถม 5 บอก

สักพักหนึ่ง เธอชวนพี่สาวไปเป็นเพื่อนเพื่อขอนำรองเท้าไปเปลี่ยน ครูจิ๋วยิ้มอย่างใจดี แล้วช่วยหารองเท้าจากกลุ่มที่สละสิทธิ โชคยังดีที่มีรองเท้าขนาดพอดี

ไม่แน่ว่าฝันที่จะเป็นนักวิ่ง อาจใกล้ขึ้นไปอีกนิดจากรองเท้าคู่นี้ก็เป็นได้ 

เพื่อการควบคุมการระบาดของโควิด – 19 ในโรงเรียน จึงมีมาตรการให้นักเรียนต้องตรวจ ATK และนำผลตรวจไปแสดงสัปดาห์ละครั้ง อย่างไรก็ตาม ภาระค่าใช้จ่ายนี้อาจสูงถึง 120 บาทต่อเดือน และหากครอบครัวไหนมีลูกหลายคน ต้นทุนนี้ก็จะสูงขึ้นไปอีก

ATK เป็นอีกหนึ่งต้นทุนใหม่ทางการศึกษาที่ระบบเรียนฟรี 15 ปี ยังไม่ครอบคลุม ดังนั้น จึงมีการเพิ่มเข้าไปเป็นสิ่งสำคัญในรายการของที่นำไปมอบด้วย 

ภาวะทุพโภชนาการ หรือการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในเด็ก เป็นอีกเรื่องสำคัญเพราะจะส่งผลถึงการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างสมวัย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ในช่วงก่อนโควิด เด็ก ๆ ยังได้ทานอาหารในโรงเรียน จึงสามารถแก้ปัญหานี้และช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจให้ผู้ปกครองได้ แต่ช่วงโควิดกว่า 2 ปี ที่เด็กไม่ได้เรียนในโรงเรียนได้ส่งผลให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เด็กหลายคนจึงดูซูบผอมและตัวเล็กกว่าที่ควรจะเป็น

ความช่วยเหลือเพื่อให้เด็ก ๆ สามารถได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งการแจกถุงยังชีพคงเป็นเพียงการช่วยเหลือชั่วคราวเท่านั้น ยังจำเป็นต้องมีการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งอาจรวมไปถึงการเพิ่มค่าอาหารกลางวันรายหัวของเด็ก ๆ ในโรงเรียนให้มากขึ้น การขยายช่วงเวลาไปถึงมื้อเช้าและการครอบคลุมในทุกช่วงวัยให้ได้มากที่สุด