‘ปล่อยเด็กหลุด’ เท่ากับทำลายสิทธิด้านการศึกษาครั้งใหญ่ของประเทศ

‘ปล่อยเด็กหลุด’ เท่ากับทำลายสิทธิด้านการศึกษาครั้งใหญ่ของประเทศ

มีเด็กเยาวชนราว 1.9 ล้านคนทั่วประเทศ ที่สู้ชีวิตและฝ่าฟันอุปสรรคทางการศึกษาอยู่ตามลำพัง ซึ่งถ้า ‘อนาคต’ ยังคงดำเนินไปตามทางโดยไม่มีใครยื่นมือเข้าไปช่วย อัตราเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษาของพวกเขาจะมีมากถึง 90%

บนผิวหน้าของปัญหาที่ฉาบไว้ด้วยภาวะตกงาน ไม่มีรายได้ ลึกลงในนั้นคือภาพของเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในเพิง ในกระต๊อบ ในสวนยาง ไม่มีบ้านเลขที่ ไม่มีไฟฟ้า ไร้เลขประจำตัวสิบสามหลัก

เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นคนกลุ่มน้อย เป็นผู้พิการ บ้างเผชิญความรุนแรงในครอบครัวทุกเมื่อเชื่อวัน

สิ่งที่เด็ก ๆ แบกรับเอาไว้ ล้วนคือปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการเรียนหนังสือ เป็นความเปราะบางที่รายล้อมชีวิตหนึ่ง ครอบครัวหนึ่ง แน่นหนา และเหนี่ยวรั้ง จนแม้เด็กย่างเท้าไปถึงบันไดการศึกษาได้ แต่ท้ายสุด เขาจะไม่มีทางไต่พ้นหล่มหลุมขึ้นมา

การลงพื้นที่ทำให้เห็นความซับซ้อนของปัญหา ซึ่งมากไปกว่าเรื่องความยากจน หรือขาดแรงจูงใจในการเรียน

เพราะจากที่พบ เกือบ 100 % ของเด็กที่เผชิญความเสี่ยงในภาวะวิกฤตทางการศึกษา โดยมากเห็นความสำคัญและมีใจอยากเรียนต่อทั้งนั้น

อุปสรรคใหญ่โตที่ฉุดรั้งเด็กไว้ คือ ‘รายจ่ายทางการศึกษา’ ที่คิดเฉลี่ยราว 17,000 บาท ต่อคน ต่อปี ซึ่งไม่มีทางเลยที่เด็กจากครอบครัวตกงานขาดรายได้จะหามาจ่ายไหว

ด้วยบาดแผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ ได้ผลักให้ผู้ปกครองของเด็ก ๆ ตกลงไปในหลุมมโหฬารของภาระหนี้สิน ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่ พวกเขาถึงจะกลับมามีอาชีพ มีรายได้อีกครั้ง

เมื่อพิจารณาผ่านประเด็นนี้ แน่นอนว่า ‘การศึกษา’ ย่อมถูกลดความสำคัญลงเป็นลำดับรองจากปากท้องอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ ที่ กสศ. ร่วมกับคณะทำงานเครือข่ายจังหวัดต้นแบบ และต่อยอดสู่การตั้ง ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา’ โดยใช้ข้อมูลจากระบบ iSEE ลงพื้นที่สำรวจเด็กกลุ่มเสี่ยง

ด้วยอาสาสมัครที่แฝงตัวในชุมชน ในฐานะ ‘ผู้จัดการรายกรณี’ (Case Manager) ได้กลายมาเป็น ‘ความหวัง’ ในการต่อสู้กับปัญหาเด็กเยาวชนเสี่ยงหลุดจากระบบ

จากความใกล้ชิด เอาใจใส่ และรู้ข้อมูลในพื้นที่เชิงลึก จึงพบเด็กกลุ่มเสี่ยงรวดเร็ว พร้อมส่งความช่วยเหลือได้ทันการณ์

คณะทำงาน ‘ด่านหน้า’ คือคนที่ขุดลงไปถึงรากของปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ฉุดรั้งเด็กไว้จากการศึกษา เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการออกแบบกลไกการช่วยเหลือดูแลให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป

ขณะที่การบริหารจัดการในท้องถิ่น ที่ดึงเอาจุดเด่นทางบริบทสังคมในแต่ละพื้นที่ มาใช้แก้ปัญหา และเป็นวัตถุดิบในการวางแผนทำงานด้านการศึกษา

ได้ทำให้เกิด ‘กลไกจังหวัด’ ที่ร้อยรวมเป็นกลุ่มก้อน และเป็นพลังการทำงานที่ทำให้โอกาสไปต่อที่น้อยนิดของเด็ก ๆ กลับมี ‘ทางเลือก’ และ ‘ทางรอด’ มากขึ้น

วันนี้ …ทุกคนได้รับรู้ร่วมกันว่า เด็ก 1.9 ล้านคนมีภาวะเสี่ยงหลุดจากระบบ

บนเส้นทางการศึกษาที่ตีบตัน เด็กบางคนต้องออกไปทำงานล้างไส้หมูทั้งคืนแล้วไปเรียนในตอนเช้า
บางคนไปขายนมขายดอกไม้ตามสี่แยก
บางคนไปเป็นแรงงานเกษตรกรรม เลี้ยงวัวเลี้ยงแพะอยู่ในทุ่ง
บางคนทำงานในโรงไม้และอาศัยอยู่ที่นั่น ต้องเรียนออนไลน์ท่ามกลางเสียงเลื่อยไฟฟ้าแผดดังตั้งแต่เช้ายันค่ำ
หรือบางคนเสียสละให้น้องเรียน ตัวเองออกไปทำงานถอนหญ้าในสวนในไร่
และบางคนยอมขอทาน เพราะต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวโดยไม่มีทางเลือก

มีเด็กที่ ‘รู้’ และ ‘ไม่รู้’ ว่าการตัดสินใจออกจากระบบการศึกษากลางทาง หมายถึงชีวิตกำลังถอยเท้าก้าวกลับไปสู่วงจรความยากจนในครอบครัว ที่ส่งจากปู่มาที่พ่อ ส่งจากพ่อถึงตัวเขา แล้ววันหนึ่งข้างหน้า ตัวเขาเองก็จะส่งผ่านไปยังทายาทรุ่นถัดไป โดยไม่มีใครรู้ได้เลยว่า …ความยากจนนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

ในการต่อสู้กับวิกฤตชีวิต และวิกฤตการศึกษา พวกเขาจึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากภาวะฉุกเฉิน และอยู่ในความดูแลของพวกเราทุกคน

เพื่อให้เขาไม่ต้องทำงานหนักเกินกว่าวัย ได้อยู่อาศัยในสถานที่ปลอดภัย มีอาหารการกินที่เหมาะสม เข้าถึงสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต และมีโอกาสเรียนหนังสือจนถึงปลายทาง

และนั่น คือหลักการของปวงชนเพื่อการศึกษา หรือ ‘All for Education’

…เพราะการศึกษาคือ ‘กิจ’ ของคนทุกคน