ปรับงบฯ เปลี่ยนวิธีการทำงาน อุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ กทม.

ปรับงบฯ เปลี่ยนวิธีการทำงาน อุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ กทม.

สภากรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) , ไทยพีบีเอส และ The Reporters เปิดวงเสวนาในหัวข้อ “ยุติปัญหา กทม. เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” โดยมีตัวแทนจากสภา กทม. ได้แก่ ส.ก. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ,สำนักงานเขตการศึกษา กทม. และตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชน กทม. เข้าร่วมการเสวนา ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการปรับงบประมาณและการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพื่ออุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในพื้นที่ กทม. ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือเด็กยากจนและยากจนพิเศษได้อย่างทันท่วงที รวมถึงมุมมองต่อการหยุดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ หรือ Learning Loss หลังโควิด- 19 ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ

“เด็กตกหล่นในกรุงเทพมหานครมีอยู่จริง เรื่องนี้พวกเราไม่มีพรรค เรื่องการศึกษาเราให้ความสำคัญและจะทำงานร่วมกันอุดช่องโหว่ ในพื้นที่บางกอกใหญ่ เราพยายามหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใส่ ซึ่งความจริงมี แต่เทคโนโลยีมันไปไว เราจึงต้องส่งเสริมให้เด็กของเราก้าวให้ทันโลก”

วิรัช คงคาเขตร ส.ก. บางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์

“ความเหลื่อมล้ำเกิดมานานมากแล้ว ในพื้นที่ก็มีมาก แม้สำนักการศึกษา กทม. จะมีงบประมาณลงไปที่ศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน อนุบาล และประถมศึกษาเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่หายไปคือโรงเรียนในระดับมัธยม

เขตหนองจอกมีโรงเรียนในสังกัด กทม. 37 แห่ง แต่มีโรงเรียนในระดับมัธยมเพียง 6 – 7 แห่งเท่านั้น ปัญหาคือเด็กโรงเรียนในสังกัด กทม. ส่วนใหญ่ยากจนอยู่แล้ว พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ เขาจึงฝากลูกให้เรียนกับ กทม. เพราะใกล้บ้าน เดินไปเรียนได้ แต่พอเรียนจบโรงเรียน กทม. ในชั้นประถม จำนวนโรงเรียนไม่ได้ขยายโอกาสไปถึงภาคบังคับจนจบ ม. ต้น อย่างเพียงพอ แล้วถามว่าเขาจะไปเรียนต่อที่ไหน ก็ต้องออกไปเรียนนอกชุมชุน ซึ่งหมายถึงการเดินทางที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ดังนั้น หาก เด็ก ๆ สามารถเดินทางไปเรียนใกล้บ้านได้ ความเหลื่อมล้ำจะลดลง และยิ่งขยายการศึกษาภาคบังคับของโรงเรียน กทม. ไปจนถึง ม. 6 เขาจะมีวุฒิการศึกษาเพื่อทำงานได้เลย กทม.จึงควรสนับสนุนการศึกษาของเด็ก ๆ ให้ถึง 18 ปี ไม่ใช่ 15 ปี จะลดความเหลื่อมล้ำได้”

ณรงค์ รัสมี ส.ก. เขตหนองจอก พรรคพลังประชารัฐ

“เห็นด้วยกับการจัดให้ทุกเขตที่ขยายโอกาสทางการศึกษาโดยมีโรงเรียนมัธยมเพิ่มอย่างครอบคลุมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนเรื่องงบประมาณ เราเพิ่งพ้นจากโควิดมาจึงต้องใช้จ่ายอย่างรัดกุมและเกิดประโยชน์สูงสุด

งบรายจ่ายบางส่วนที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนในเวลานี้ เช่น งบอบรมดูงาน หรืองบกิจกรรมอย่างลูกเสือ เครื่องแบบ การสวนสนามอะไรแบบนี้ควรปรับลดลง เพื่อไปส่งเสริมในส่วนการเรียนการสอนมากขึ้น เช่น ทุนการศึกษา กทม. อย่าง กทม. ยังมีทุนเอราวัณ ที่ส่งให้เรียนต่อไปได้จนจบมหาวิทยาลัย ทุนแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ควรสนับสนุนเพิ่ม”

ณภัค เพ็งสุข ส.ก.เขตลาดพร้าว พรรคก้าวไกล

 “ด้วยความที่แม่และยายเป็นครูโรงเรียนวัดคู้บอน ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัด กทม. จึงเห็นถึงความเหลื่อมล้ำมาตั้งแต่เด็ก เอาแค่อายุตึกก็ 40 ปี เกือบทุกโรงเรียน ไม่เคยเปลี่ยน เหล็กมีสนิมโดนบาดไปบาดทะยักกินแน่ แม่เคยบอกว่า การศึกษาของ กทม. เราเลียนแบบอย่างมาจาก Home School ของต่างประเทศ แต่ทำไม่เหมือน ของเขาคือการเป็นโรงเรียนที่เด็กรอบ ๆ พื้นที่มาเรียน แต่ของเรามาอย่างหลากหลาย ส่วนหนึ่งเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติ อีกส่วนคือลูกหลานแรงงานย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ที่มารับจ้างทำงานในกรุงเทพ

นอกจากความแตกต่างที่ชัดเจนในกลุ่มเด็ก ๆ จำนวนเด็กต่อห้องก็มาก หนึ่งห้องมี 50 คนขึ้นไป กว่าครูจะรู้ว่ามีเด็กหายไปจากระบบก็ผ่านไปแล้วครึ่งเดือน พอครูไปตามที่บ้านจะพบว่าส่วนใหญ่ที่หายไปคือลูกหลานแรงงานก่อสร้างย้ายไซต์ไปตามงาน อีกส่วนคือออกไปทำงานหาเงินช่วยครอบครัว หรือออกไปแต่งงานมีครอบครัวไปเลย เห็นมาหมด เพราะไปตามปัญหาเหล่านี้กับแม่ตั้งแต่เด็ก

ความเหลื่อมล้ำจึงไม่ใช่แค่ระบบ แต่หมายถึงสภาพสังคมและครอบครัวด้วย สิ่งที่เราเห็น การอุดหนุนเงินปีละ 1,000 – 3,000 บาท เพื่อเป็นเงินด้านการศึกษาของลูกก็จริง แต่ในความเป็นจริง เขาต้องเอาไปซื้อกับข้าวก่อน ในมุมของเขา เงินที่เข้ามาคือปากท้องทุกคนในครอบครัว ดังนั้น นอกจากการได้เรียนจึงคิดว่า เราควรมีเรื่องการเสริมอาชีพในวิชาเรียนหรือขยายโอกาสทางการศึกษาไปถึงสายอาชีพ อย่าง ปวช. และ ปวส. ด้วย

โรงเรียนสังกัด กทม. อาจต้องมีส่วนพัฒนาอาชีพและการทำงาน นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาจะต้องกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องให้น้อยลง และเพิ่มครูให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมา แม้ครูจะสอบได้โรงเรียนสังกัด กทม. แต่เมื่อ สพฐ. เปิดอัตราในบ้านเกิด ทุกคนกลับบ้านหมด ครู กทม.จึงไม่พอ กลายเป็นการอัดเด็กไปในหนึ่งห้อง ทำให้ครูไม่สามารถติดตามเด็กได้อย่างใกล้ชิด เหล่านี้คือโจทย์ที่ต้องแก้”

นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร

“จากการที่มีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมใน อนุ กมธ. การศึกษาของ กทม. จึงได้ลงพื้นที่ไปเห็นสภาพจริงของแต่ละโรงเรียน เราพบว่าโรงเรียนในเขตเดียวกันห่างกันแค่คนละซอย แต่ความเป็นอยู่ของผู้ปกครองและนักเรียนก็ต่างสิ้นเชิงและไม่เอื้อต่อการเรียนรู้เลย

ในเรื่องงบประมาณจึงอยากเสนอให้เน้นเรื่องทุนเพื่อโอบรับนักเรียนเข้าระบบของ กทม. ให้ได้ต้องยอมรับว่าเมื่อในเวลานี้ กทม. ยังไม่สามารถสร้างโรงเรียนขยายโอกาสไปถึงมัธยมได้ ในทุกเขตก็ต้องมีทุนให้เด็ก ๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐานปกติที่ไม่ใช่ของ กทม.ให้ได้

อย่างไรก็ตาม ทุนการศึกษา อาจไม่ใช่ทางเดียวในการป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา การปรับหลักคิดก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะระบบการศึกษาทุกวันนี้เหมือนต้องการผลักเด็กออกตลอดเวลา มีการคัดเลือก มีการสอบแข่งขันเยอะไปหมด คำถามคือระบบการศึกษาของเราเข้าใจนักเรียน เข้าใจผู้ปกครอง เข้าใจสภาพความเหลื่อมล้ำของประเทศหรือไม่ หรือความจริงเป็นเพียงระบบที่ต้องการผลักเด็กออกจากระบบการศึกษาเรื่อย ๆ ให้เหลือเฉพาะที่พร้อมด้วยตัวเองเท่านั้น

สัดส่วนงบประมาณของ กทม. จะมีงบส่วนหนึ่งที่เน้นพิธีการ งานอบรม หรือเอาไปพัฒนาโครงการที่ไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้หรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงคิดว่ายังสามารถตัดตรงนี้เพื่อไปเพิ่มในส่วนอื่นได้ เช่น ทุน หรือการเดินทางไปโรงเรียนของเด็ก ๆ เป็นต้น”

ชวัลวิทย์ บุญช่วย คณะทำงานนโยบายพรรคก้าวไกล