บ้าน (ใหม่) หลังเดิม ของ ‘ตอเละ’ ‘กับค่ำคืนสว่างไสวไม่ต้องพึ่งไฟฉายทำการบ้านอีกแล้ว’

บ้าน (ใหม่) หลังเดิม ของ ‘ตอเละ’ ‘กับค่ำคืนสว่างไสวไม่ต้องพึ่งไฟฉายทำการบ้านอีกแล้ว’

“ดีใจครับ เหมือนได้บ้านใหม่ ได้ไปโรงเรียนทุกวัน จะทำการบ้านอ่านหนังสือตอนไหนก็ได้ แค่เปิดไฟก็สว่าง ไม่ต้องใช้ไฟฉายดูหนังสือแล้วครับ”

เรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของ ด.ช.ตอเละ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนบ้านบาละ ในวันที่บ้านมีไฟฟ้าใช้ ได้ไปโรงเรียนทุกวันอย่างสบายใจ และช่วงเวลาครึ่งปีในความดูแลของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา จังหวัดยะลา ที่เหนี่ยวนำให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จนสามารถระดมความช่วยเหลือไปยังเด็ก ๆ ที่เสี่ยงหลุดหรือหลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว ให้กลับมาเรียนได้อีกครั้ง

เมื่อก่อน ตอเละจะทำการบ้านและทบทวนบทเรียน ด้วยไฟฉายคาดหัวที่แม่ใช้ส่องกรีดยาง บางค่ำแบตเตอรี่หมด มีเพียงแสงสลัวจากเปลวเทียนและตะเกียงเก่า

“มันไม่ได้ผลหรอก ถ้าเราปล่อยให้เด็กเรียนด้วยตัวเองในสภาพที่ไม่มีความพร้อมเลย”

ครูธีระพล พงษ์พิมาย โรงเรียนบ้านบาละ ผู้ดูแลตอเละ กล่าวถึงช่วงเวลายาวนานที่โรงเรียนปิดด้วยเหตุจากโควิด – 19 ที่แม้ครูของโรงเรียนจะผลัดเวียนเอาบทเรียนเสริมและการบ้านเข้ามาให้ทำ แต่ความมืดมิดก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญกั้นขวางเด็กชายไว้จากการศึกษา ดูน้อยลง

นอกจากเรียนหนังสือ ภารกิจหลักของตอเละคือดูแลน้อง ๆ สามคน ยามพ่อแม่ออกไปทำงานกรีดยาง และงานรับจ้างรายวัน

ป.4 เทอมแรก ตอเละไปโรงเรียนแค่ 2-3 วันต่อเดือน บางช่วงหายไปเป็นสัปดาห์ พอไปตามที่บ้าน เขาบอกว่า “ผมต้องดูแลน้อง”

จนผู้บริหารและครูโรงเรียนบ้านบาละ ต้องพูดคุยหาทางออกร่วมกับผู้ปกครอง ตอเละจึงกลับไปเรียนสม่ำเสมออีกครั้งในเทอม 2

แต่เมื่อโควิด-19 มาถึง ตอเละก็ขาดไปจากโรงเรียนอีกเกือบ 1 ปีเต็ม ระหว่างเรียนชั้น ป.5 และ ป.6 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนขึ้นมัธยม

“เราทำอะไรไม่ได้เลย บ้านตอเละไม่มีโทรศัพท์ ครูเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ แล้วเรารู้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ทำให้ครอบครัวเด็กไม่มีรายได้ก็ยิ่งเป็นห่วง ตอนนั้นถึงชื่อเขาจะยังอยู่ที่โรงเรียน แต่ทางทฤษฎีคือเด็กหลุดจากการศึกษาไปทั้งตัวแล้ว” ครูธีระพลเล่า

เมื่อคณะครูและผู้บริหารโรงเรียนบ้านบาละ เห็นถึงสัญญาณความเสี่ยง ว่าตอเละอาจหลุดไปจากระบบการศึกษาอย่างถาวร

จึงประสานกับ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา’ โดยความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ อบจ. ยะลา ซึ่งร้อยรวมคณะทำงานอันประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และปวงชนทุกภาคส่วนในจังหวัด เพื่อระดมความช่วยเหลือทุกทิศทางมายังตอเละ

หลังคณะทำงานลงพื้นที่ในช่วงต้นปี 2565 แผนการดูแลช่วยเหลือตอเละจึงเริ่มขึ้น และดำเนินไปอย่างเป็นระบบ ทั้งการแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านการศึกษา การดำรงชีวิต รวมถึงแผนการดูแลที่ยั่งยืนในระยะยาว

ในความดูแลโดยศูนย์ ฯ และเครือข่ายคณะทำงานจังหวัดยะลา ไม่นานบ้านที่เคยมืดมิดของตอเละก็สว่างไสวขึ้นด้วยแสงไฟ ผนังบ้านและห้องน้ำได้รับการซ่อมแซมให้แข็งแรงและสะดวกขึ้น

…และที่โรงเรียน ด้วยระบบดูแลใกล้ชิดจากครูโรงเรียนบ้านบาละ ร่วมกับคณะทำงานที่แบ่งหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะทาง ดูแลทั้งการเรียนและเรื่องราวในครอบครัว ตอเละจึงข้ามผ่านชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 สำเร็จ และได้กลับมาเรียนหนังสือเป็นประจำ

วันนี้ แม้สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ผ่านไป แต่จังหวัดยะลาที่ขยับการทำงานไปสู่การก่อตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ ได้กลายเป็นความหวังของตอเละกับน้อง ๆ รวมถึงเด็กเยาวชนในพื้นที่ที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคทางการศึกษา ให้มีความหวัง มีกำลังใจ ว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง …หลุดไปจากระบบการศึกษากลางทางอีกต่อไป